สัณหพจน์ จี้ เกษตร-พณ. แก้ปัญหา “หมู-ปุ๋ยแพง” แรงทุบสถิติ จ่อ เสนอกมธ.เศรษฐกิจ หาทางแก้ไข

ส.ส.พปชร.นครศรีฯ จี้ ก.พาณิชย์-ก.เกษตรฯ แก้ปัญหา “หมู-ปุ๋ยแพง” หวังช่วยลดภาระค่าครองชีพประชาชน หลังราคาหมูสูงกว่า 200 บาทต่อกก. ด้านปุ๋ยราคาพุ่งทะลุเกิน 100 % พร้อมเสนอ กมธ.เศรษฐกิจ หารือแนวทางแก้ไขปัญหาราคาหมู-ปุ๋ย ทั้งระบบ

นายสัณหพจน์ สุขศรีเมือง ส.ส.เขต 2 จ.นครศรีธรรมราช พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ (กมธ.เศรษฐกิจ) สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า จากปัญหาราคาเนื้อหมูในตลาดราคาแพง โดยราคาตามตลาดทั่วไปพบว่ามีราคาสูงถึงกว่า 200 บาทต่อกก. ส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนคนไทยเป็นจำนวนมาก ทำให้ค่าครองชีพพุ่งสูงขึ้น สร้างความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชน

ทั้งนี้จากข้อมูลสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ พบว่าสาเหตุที่ทำให้ราคาหมูแพงเนื่องจากผู้เลี้ยงสุกรต้องประสบปัญหากับการเกิดโรคระบาดไข้หวัดแอฟริกันในสุกร-ASF เป็นระยะเวลากว่า 2 ปีแล้ว ขณะเดียวกันยังต้องแบกภาระต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ซึ่งพบว่าสูงกว่าเดิมถึงประมาณ 30% ทำให้ผู้เลี้ยงรายย่อยต้องหยุดการเลี้ยงไปกว่า 80-90 % ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนของผู้เลี้ยงทั้งประเทศประมาณ 20% สาเหตุดังกล่าวได้ส่งผลให้มีปริมาณเนื้อหมูออกสู่ท้องตลาดลดลงกว่า 50% จากปริมาณการบริโภคเฉลี่ยประมาณ 40,000 ตัวต่อวัน 

ขณะที่ข้อมูลจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) พบว่า ปัจจุบันไทยมีเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรราว 190,000 ราย โดยเป็นผู้เลี้ยงรายย่อยกว่า 90% ผลิตเนื้อหมูออกสู่ตลาดประมาณ 30% และมีผู้เลี้ยงรายกลางและรายใหญ่ประมาณ 3% ซึ่งผลิตเนื้อหมูออกสู่ตลาดประมาณ 70% 

โดยเนื้อหมูที่ออกสู่ตลาดนั้นเฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 22 ล้านตัว กว่า 90% ใช้บริโภคภายในประเทศ แต่จากสาเหตุเรื่องของโรคระบาดข้างต้นทำให้ ผลผลิตเนื้อหมูอยู่ที่ประมาณ 18 ล้านตัวในปี 2564 และคาดว่าผลกระทบดังกล่าวจะส่งผลให้การผลิตเนื้อหมูในปี 2565 เหลือเพียง 13-15 ล้านตัว  

ขณะเดียวกันตนยังได้รับการร้องเรียนจากพี่น้องเกษตรกร ถึงราคาปุ๋ยที่แพงขึ้นจากเดิมเกิน 100% ส่งผลให้ต้นทุนการทำเกษตรกรรมเพิ่มสูงขึ้นเป็นเท่าตัว  

“เรื่องดังกล่าวกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงควรจัดเตรียมมาตรการการป้องกันและแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว แม้ว่าปัจจุบันจะมีมาตรการห้ามส่งออกเนื้อหมูไปยังต่างประเทศตั้งแต่เดือน ม.ค.-เม.ย.65 แต่ก็ช่วยเพิ่มปริมาณหมูในประเทศแค่ประมาณ 1 ล้านตัวเท่านั้น เช่นเดียวกับโครงการลดราคาปุ๋ยช่วยเกษตรกร ที่พบว่าโครงการดังกล่าวเกษตรกรส่วนใหญ่ซึ่งเป็นรายย่อยไม่สามารถเข้าถึงได้ ทำให้กลายเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ” นายสัณหพจน์ กล่าว 

สำหรับการจัดเตรียมมาตรการแก้ไขปัญหาควรเริ่มตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เรื่องของวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่มีราคาสูงขึ้น โดยเฉพาะ ข้าวโพด ถั่วเหลือง และมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของราคาหมูที่แพงขึ้นตามต้นทุนการผลิต 

ด้านราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่มีราคาสูงขึ้น มีสาเหตุมาจากการที่ราคาปุ๋ยปรับตัวสูง ปัจจัยเหล่านี้ล้วนสอดคล้องกัน ทำให้เกิดผลกระทบเป็นห่วงโซ่ ที่ทำให้พี่น้องประชาชนต้องเป็นผู้แบกภาระความเดือดร้อน 

อย่างไรก็ตาม ในสัปดาห์หน้า ตนเตรียมยื่นเสนอเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุม กมธ.เศรษฐกิจ เพื่อกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน และจะเสนอให้กับหน่วยงานที่รับผิดชอบต่อไป   

แสดงความเห็น