นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายโดยตั้งคำถามต่อเนื้อหาว่า ตนเชื่อว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องไม่สุดโต่ง ต้องหาพื้นที่ตรงกลาง เพื่อให้ทุกฝ่ายหาทางออกในระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง กรณีที่เสนอให้ยกเลิกส.ว. และไม่ให้ส.ว. ลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะให้ส.ว.ปัจจุบันลงมติรับหลักการได้อย่างไร ทั้งนี้ตนมองว่าคนที่ออกแบบระบอบประชาธิปไตยต้องการสังคมที่ส่งทอดอำนาจด้วยสันติวิธีและระบอบเลือกตั้งที่สุจริต นอกจากนั้นกรณีการตั้งผู้ตรวจการตามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอ จะไม่ทำให้เป็นองค์กรซ้อมอำนาจอธิปไตยได้อย่างไร อีกทั้งองค์ประกอบที่เสนอนั้นยุติธรรมเพียงพอ และไม่สร้างความแตกแยกอย่างไร
นายชินวรณ์ กล่าวด้วยว่า การรัฐประหารที่เสนอให้มีกลไกป้องกัน ตนเห็นด้วย แต่การป้องกันด้วยกฎหมายทำได้ระดับหนึ่ง แต่สิ่งที่ไม่ให้เกิดรัฐประหาร คือ พฤติกรรมของนักการเมือง ที่ไม่แบ่งแยกคนในสังคม เคารพระบบนิติธรรมอย่างเข้มข้นเป็นพิเศษ รวมถึงไม่ทุจริตคอร์รัปชัน ที่ผ่านมาสมัยรัฐบาลของนายชวน หลีกภัย และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่เคยมีรัฐประหาร ทั้งนี้ตนมองว่าสิ่งที่ป้องกันได้ คือ ประชาชนลุกมาต่อสู้ แม้ตนอายุเยอะแล้ว หากประชาชนลุกมาต่อสู้อีกสักครั้ง ตนพร้อมเอาด้วย
ทั้งนี้นายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำกลุ่มก้าวหน้า ฐานะผู้ร่วมเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ชี้แจงรายละเอียดต่อเหตุผลการมีสภาเดียว ว่ามีเหตุผลเชิงประจักษ์ที่ไม่จำเป็นต้องมีวุฒิสภา คือ ผลงานของส.ว.ชุดปัจจุบันที่พบว่า ส.ว. มักเห็นด้วยกับร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) และพระราชกำหนด แม้สภาฯ จะไม่เห็นด้วย และมีเพียงฉบับเดียวที่ไม่เห็นด้วย คือ ร่างพ.ร.บ. จราจรทางบก (ฉบับที่…) พ.ศ… ซึ่งตรงไหนที่ส.ว.ทำหน้าที่ถ่วงดุล กลั่นกรองกฎหมายไม่มีเลย
ทั้งนี้นายกิตติศักดิ์ รัตวราหะ ส.ว. ลุกประท้วง ว่า ชี้แจงเท็จ ส.ว.ทำหน้าที่ อย่างน้อย ส.ว. มาตามรัฐธรรมนูญ แต่คนที่กำลังอภิปรายนั้นไม่สมควรที่จะมาชี้แจงหรือ เสนอรัฐธรรมนูญเพราะเป็นคนเนรคุณแผ่นดิน
ทำให้มีส.ส.พรรคก้าวไกล ลุกประท้วงและขอให้ถอนคำพูด ซึ่งนายพรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานที่ประชุมพยายามควบคุมการประชุม และขอให้ถอน นายกิตติศักดิ์ ได้ถอนคำว่า ผู้นำเสนอร่างรัฐธรรมนูญ จากเนรคุณแผ่นดิน แต่เปลี่ยนเป็นคนล้มสถาบัน ทำให้นายพรเพชร กล่าวว่าเป็นคำที่ไม่เหมาะสมขอให้ถอน ซึ่งนายกิตติศักดิ์ ยอมถอนคำพูดดังกล่าว
ทั้งนี้ นายปิยบุตร กล่าวว่า ตนเพิ่งเคยเห็นประวัติศาสตร์ประชุมสภาฯ ว่ามีสมาชิกลุกกล่าวหาผู้อภิปราย ไม่เป็นไร เพราะตนถือคติไม่เคยฟ้องดูหมิ่นใคร เชิญวิจารณ์ไป เพราะประชาชนจะวินิจฉัยเองว่ามี ส.ว. แบบนี้สมควรมีสภาเดี่ยวหรือสภาคู่ต่อไป จากนั้นได้ชี้แจงต่อว่า ผู้ตรวจของสภาที่จะตั้ง ไม่มีอำนาจกลับคำพิพากษา แค่ศึกษาในคำวินิจฉัยเท่านั้น ดังนั้นหลักการแบ่งแยกอำนาจยังมี เพราะไม่ได้แทรกแซงคำตัดสินของศาล
“การแก้ไขรัฐธรรมนูญยกเลิกส.ว.เพราะให้มีสภาเดียว แต่การแก้รัฐธรรมนูญต้องขอความเห็นชอบจากส.ว. 84 เสียง สะท้อนให้เห็นถึงความผิดปกติของการออกแบบรัฐธรรมนูญตั้งแต่ต้นหากไม่มีส.ว.ช่วยเหลือ ไม่มีทางผ่าน ส.ว.คือ ผู้ออกใบอนุญาตทุกครั้งว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใดจะแก้ได้หรือไม่แต่ผมเชื่อว่าจะมีสมาชิกวุฒิสภาที่เห็นความสำคัญ ทั้งนี้มีตัวแบบอีกหลายรูปแบบ หากมีสภาเดียวแล้ว อาจมีสภาที่ปรึกษา แต่ขอบอำนาจไม่อยู่ในกระบวนการนิติบัญญัติ เป็นต้น” นายปิยบุตร กล่าว