เลือกตั้งอบต. 5,300 แห่ง ธนาธร-คณะก้าวหน้า หวังผลอะไร?

กลับมาอีกครั้งสำหรับ การเมืองการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) หลังมีการเลือกตั้งระดับองค์การบริหารส่วนจังหวัดและเทศบาลทั่วประเทศไปแล้ว มารอบนี้ถึงคิว “องค์การบริหารส่วนตำบล”(อบต.) ที่จะเป็นการเลือกตั้งนายกอบต.และสมาชิกสภาอบต. ครั้งแรกในรอบเกือบ 7-8 ปี

โดยอบต.หลายแห่งจริงๆ ก็ว่างเว้นการเลือกตั้งมาร่วม 10 ปีแล้ว  เพราะอบต.บางแห่งเดิมที่กำลังจะหมดวาระช่วงปี 2557 แต่พอคสช.ทำรัฐประหารเมื่อพ.ค. 57 และแช่งแข็งการเลือกตั้งท้องถิ่นมาร่วมห้าปีผสมกับยุครัฐบาลปัจจุบันที่กว่าจะให้เลือกตั้งอบต.ได้ก็กินเวลามาร่วมสองปีกว่า ทำให้อบต.บางแห่ง ไม่มีการเลือกตั้งมาแล้วเป็นสิบปี!

และด้วยยุคสมัยตอนนี้ ที่การเมืองเปลี่ยนไปจากเดิมมาก โดยเฉพาะบทบาทของโซเชียลมีเดีย ที่วันนี้ลงไปถึงระดับรากหญ้า-หมู่บ้านทั่วประเทศ ทำให้มีการมองกันว่า การเลือกตั้งอบต.รอบนี้ ที่ถือเป็นท้องถิ่นที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุดเพราะใช้หมู่บ้านเป็นเขตเลือกตั้ง จึงทำให้ น่าจับตาว่าจากการที่ไม่ได้มีการเลือกตั้งอบต.มาร่วม 8-10 ปี กับบริบทสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป จะทำให้การเลือกตั้งอบต.ทั่วประเทศ 5,300 แห่ง เปลี่ยนโฉมหน้าไปจากเดิมหรือไม่

เพราะมีการคาดการณ์กันว่า เลือกตั้งอบต.รอบนี้ ผู้สมัครหน้าใหม่ๆ -กลุ่มคนที่ลงสมัครครั้งแรก อาจจะได้รับเลือกตั้งเข้าไปจำนวนมาก เผลอๆ พวกที่เคยอยู่เดิม อาจสอบตก จำนวนไม่น้อย เพราะประชาชนต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในอบต. ในลักษณะ “ถ่ายเลือดใหม่”หมด

สำหรับ การนับหนึ่งการเลือกตั้งอบต. จะเริ่มต้นตลอดช่วงสัปดาห์นี้ 11-15 ต.ค. เพราะเป็นช่วงของการเปิดรับสมัครคนที่จะลงเลือกตั้ง เป็น สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และนายก อบต. จากนั้น 22 ต.ค. ประกาศรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง โดยจะมีการเลือกตั้ง อบต.ทั่วประเทศ “28 พ.ย. 2564”

ทั้งนี้องค์การบริหารส่วนตำบล ประกอบด้วย สภาองค์การบริหารส่วนตำบล และนายกองค์การบริหารส่วนตำบล

โดย “สภาองค์การบริหารส่วนตำบล” ประกอบด้วยสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล จำนวนเขตเลือกตั้งละหนึ่งคนซึ่งเลือกตั้งขึ้นโดยราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งในแต่ละหมู่บ้านในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลนั้น และ องค์การบริหารส่วนตำบลมีนายกองค์การบริหารส่วนตำบล 1 คน และรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลได้ไม่เกิน 2 คน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน

ทั้งนี้แม้การเลือกตั้งอบต.ที่จะมีขึ้นทั่วประเทศ ที่มีมากมายถึง 5300 แห่ง และเป็นการเลือกตั้งที่ลงไปถึงระดับรากหญ้า-หมู่บ้าน ที่ถือว่าใกล้ชิดกับประชาชนที่สุดแล้ว แต่เพราะความที่ “สเกลการเลือกตั้งอบต.” ซึ่งเยอะหลายพันแห่งทั่วประเทศ และระดับการควบคุมฐานเสียง-ฐานคะแนนทางการเมืองในพื้นที่กว่าจะไปถึงการเมืองระดับชาติ พวกการเลือกตั้งส.ส. ก็พบว่า อบต. ก็ยังต่อแถว การเมืองท้องถิ่นอย่าง อบจ.และเทศบาล

จึงทำให้จะพบว่า นักการเมืองพวกส.ส.และพรรคการเมือง จะไม่ค่อยเข้ามาในสนามเลือกตั้งอบต.เท่าใดนัก เพราะมองว่า หากจะสร้างฐานเสียง ทำคะแนนในพื้นที่ ก็จะทำผ่าน อบจ.เช่น ส่งคนของตัวเอง -เครือญาติ ลงระดับนายกฯอบจ.หรือสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด(ส.อบจ.) ไปเลยจะดีกว่า เพราะคุมพื้นที่ได้กว้างกว่า อีกทั้ง อบจ. ก็มีงบประมาณเยอะ เป็นกอบเป็นกำบางแห่งก็เป็นระดับพันล้าน

เช่นเดียวกับ ระดับเทศบาล ที่มีทั้งเทศบาลนคร -เทศบาลเมือง-เทศบาลตำบล ถ้านักการเมือง-ส.ส. หรือคนที่จะทำการเมืองในพื้นที่ระดับจังหวัด ก็จะไปเน้นส่งคนในเครือข่ายของตัวเองลงในระดับเทศบาล หรืออบจ.ไปเลย จะให้ความสำคัญกับสองส่วนนี้มากกว่า ไม่ค่อยเน้นระดับอบต. มากนัก ถึงต่อให้อบต.จะเป็นการเมืองท้องถิ่นที่ลงไประดับหมู่บ้านก็ตามที

ด้วยเหตุนี้ จึงไม่ค่อยเห็นการที่ นักการเมือง-ส.ส.-พรรคการเมือง เปิดตัวหรือประกาศให้การสนับสนุน คนลงเลือกตั้งอบต.อย่างเป็นทางการเท่าใดนัก โดยหากจะมี ก็จะเป็นลักษณะการแค่มีคนในเครือข่าย เช่น หัวคะแนน-ทีมงาน ไปช่วยหาเสียงให้เท่านั้น แต่ระดับส.ส.-พรรคการเมือง-อดีต ส.ส. จะลงไปช่วยหาเสียงให้เอง หรือให้ผู้สมัครอบต.ใช้โลโก้พรรคการเมืองในการหาเสียง จะพบว่า ไม่ค่อยมีความเคลื่อนไหวดังกล่าว 

ยกเว้นเสียก็แต่ “คณะก้าวหน้า” ที่นำโดย อดีตแกนนำและอดีตกรรมการบริพรรคอนาคตใหม่ที่โดนยุบพรรคและตัดสิทธิการเมือง ที่นำโดยสามหัวหอก ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ-ปิยบุตร แสงกนกกุล-พรรณิการ์ วานิช ที่พบว่า คณะก้าวหน้า เปิดตัว-เปิดหน้า เข้าสู่สนามเลือกตั้ง อบต. เช่นเดียวกับ ก่อนหน้านี้ ที่ คณะก้าวหน้า เคยส่งคนในนาม คณะก้าวหน้า ลงชิง นายกฯอบจ.-ส.อบจ.ซึ่งไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนักเรียกได้ว่า แพ้หมดรูป และการเลือกตั้งในระดับเทศบาล ที่ได้เก้าอี้มาจำนวนหนึ่งแต่ในระดับนายกเทศบาลฯ ก็ไม่ถึงกับประสบความสำเร็จเท่าใดนัก 

การเลือกตั้งอบต.รอบนี้ ที่ คณะก้าวหน้า ตั้งความหวังไว้คือ เก้าอี้นายกฯอบต. โดย ผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนตำบล  ที่จะใช้แบนด์-โลโก้ของคณะก้าวหน้าในการหาเสียง จะมีด้วยกัน ประมาณ 195-200  แห่ง จาก 51 จังหวัดทั่วประเทศ โดยผู้สมัครทุกคน จะต้องออกเงินค่าสมัครหรือค่าใช้จ่ายในการหาเสียงเอง ทาง คณะก้าวหน้า ทำให้แค่ให้นำโลโก้ของคณะก้าวหน้า-นโยบายของคณะก้าวหน้าในเรื่องการบริหารงานอบต. นำไปใช้หาเสียง

ขณะเดียวกัน มีความชัดเจนแล้วว่า ในบางพื้นที่ จะมีแกนนำของคณะก้าวหน้า ทั้ง “ธนาธร -ปิยบุตร-พรรณิการ์” และแกนนำคนอื่นๆ เช่น ชำนาญ จันทรเรือง อดีตรองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ไปช่วยหาเสียงในพื้นที่ให้ด้วยตัวเอง ซึ่งขณะนี้บางแห่งก็เริ่มทำแล้วเช่น ที่ ช่อ พรรณิการ์ ไปช่วยหาเสียงให้ ว่าที่ผู้สมัครนายกอบต.และว่าที่ผู้สมัครสมาชิกสภา อบต. ในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ เมื่อ 6 ต.ค.ที่ผ่านมา

เบื้องต้น การส่งคนลงหวังชิงพื้นที่อบต.นั้น พบว่าในภาคอีสาน จะมีคนของ คณะก้าวหน้า ลงสมัครมากที่สุดคือ 124 แห่ง รองลงมาคือภาคเหนือ  28 แห่ง ภาคกลาง 40 แห่ง และภาคใต้ 3 แห่งโดย จังหวัดที่ส่งผู้สมัครนายก อบต.มากที่สุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ จ.อุดรธานี 21 แห่ง, จ.ร้อยเอ็ด 15 แห่ง, จ.หนองบัวลำภู 10 แห่ง, จ.มหาสารคาม 10 แห่ง และ จ.นครราชสีมา 9 แห่ง

ซึ่งแน่นอนว่า เป้าหมาย ของธนาธร ปิยบุตร และคณะก้าวหน้า ที่คือ อีกหนึ่งขาการเมืองของ “พรรคก้าวไกล” ที่เคลื่อนไหวการเมืองนอกสภาฯ ที่ตอนนี้จะเห็นได้ว่า คณะก้าวหน้า ทำสองอย่างคือเรื่อง 1.การเมืองท้องถิ่น 2.การเคลื่อนไหวในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผ่านรูปแบบต่างๆ รวมถึงสนับสนุนการเคลื่อนไหวของม็อบนอกรัฐสภาฯ

อ่านเป้าหมายของ คณะก้าวหน้า ธนาธร ปิยบุตร ในเรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่นได้ว่า เป็นเพราะต้องการทำพื้นที่-สร้างฐานเสียง ในระดับท้องถิ่น ที่หวังให้หยั่งรากลงไปถึงระดับหมู่บ้าน เพื่อสร้างฐานการเมืองของกลุ่มตัวเอง และพรรคก้าวไกล ที่เชื่อได้ว่า กลุ่มนี้ มองการเมืองการเลือกตั้งท้องถิ่นแบบระยะยาว โดยเฉพาะการให้การเมืองท้องถิ่น เป็นอีกหนึ่งโครงสร้างการเมืองที่จะเกื้อหนุนให้มีการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างสังคมการเมืองตามมาในอนาคต

ส่วนเป้าหมายที่วางไว้ไกลขนาดนั้น โดยหวังใช้การเมืองท้องถิ่น มาเป็นหนึ่งในบันไดไปสู่เป้าหมาย  เป็นเรื่องอะไร ไม่ต้องบอก หลายคน ก็คงคาดเดาได้ว่า ธนาธร-ปิยบุตร-คณะก้าวหน้า-พรรคก้าวไกล คิดการใดอยู่?

แสดงความเห็น