เดินหน้าแก้รธน.-ใช้บัตร 2 ใบ เกมชิงเหลี่ยมพรรครบ.-ฝ่ายค้าน

การขบเหลี่ยมการเมือง ภายในขั้ว “พรรคร่วมรัฐบาล-พรรคร่วมฝ่ายค้าน” ด้วยกันเอง ซึ่งเดิมมีอยู่แล้วตลอดช่วงสองปีกว่าของสภาฯชุดปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นคู่ระหว่าง “พลังประชารัฐ-ประชาธิปัตย์” หรือ “พลังประชารัฐ-ภูมิใจไทย” และคู่ระหว่าง “เพื่อไทย-ก้าวไกล” ที่แต่ละคู่ ช่วงที่ผ่านมา มีการขบเหลี่ยมแย่งซีนการเมือง กันทั้งในและนอกรัฐสภา มาตลอด หนัก-เบา กันไปตามสถานการณ์ 

มาตอนนี้ ก็กลับมาปรากฏให้เห็นอีกครั้ง ผ่านการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ที่มีการยื่นกันรวมทั้งสิ้น 3 กลุ่มคือ หนึ่ง จากพรรคพลังประชารัฐ สอง จากพรรคร่วมรัฐบาลสามพรรค ได้แก่ ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย-ชาติไทยพัฒนา และสาม จากพรรคร่วมฝ่ายค้านนำโดยพรรคเพื่อไทย รวมทั้งสิ้น 13 ร่าง ซึ่งรัฐสภาจะพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งหมดในช่วง 23-24 มิ.ย.นี้ ที่เป็นการพิจารณาวาระแรก ขั้นรับหลักการ 

โดยประเด็นที่ทำให้เห็นร่องรอยการขบเหลี่ยมกันดังกล่าวผ่านการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญรอบนี้ก็คือ เรื่องการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อ “เปลี่ยนระบบการเลือกตั้งส.ส.”  จากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ให้ใช้ระบบ “บัตรเลือกตั้งใบเดียว” แล้วนำคะแนนที่ผู้สมัครแต่ละพรรคการเมืองได้มารวมกันเพื่อหาจำนวนส.ส.ที่แต่ละพรรคการเมืองพึงมี ในลักษณะจัดสรรปันส่วนผสม โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญรอบนี้ ทั้งพลังประชารัฐ-เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์ ต่างเห็นพ้อง ผลักดันเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อแก้ไขระบบการเลือกตั้งให้กลับไปใช้ “บัตรเลือกตั้งสองใบ” แบบตอนรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ใช้กับการเลือกตั้งปี 2544 และ 2548 ที่แยกคะแนนไปเลยระหว่างคะแนนส.ส.เขต กับคะแนนส.ส.บัญชีรายชื่อ  

ภาพสะท้อนการขบเหลี่ยมการเมืองที่บอกไว้ข้างต้น เป็นเพราะภายในพรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้านด้วยกันเอง เกิดเห็นไม่ตรงกัน ในเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ เปลี่ยนระบบการเลือกตั้งครั้งนี้ ที่ขับเคลื่อนโดยสามพรรคใหญ่-ขนาดกลาง “เพื่อไทย-พลังประชารัฐ-ประชาธิปัตย์” 

จนทำให้การเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นดังกล่าว พรรคร่วมรัฐบาล-ฝ่ายค้าน เลยแตกคอกันเอง 

ที่หนักสุด ก็คือ พรรคร่วมฝ่ายค้าน เพราะปรากฏว่า “พรรคก้าวไกล” ไม่ให้ส.ส.ของพรรคไปร่วมลงชื่อในญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องเปลี่ยนระบบเลือกตั้งกับพรรคเพื่อไทย เพราะพรรคก้าวไกล อ้างว่า การแก้บัตรเลือกตั้ง  เพื่อไทย ไปเล่นตามเกมของพลังประชารัฐ ที่จะเปิดช่องให้ พลังประชารัฐได้เปรียบในการเลือกตั้ง จนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกฯรอบที่สามหลังเลือกตั้ง 

โดย “พรรคก้าวไกล” อ้างว่า แม้เห็นด้วยกับบัตรสองใบ แต่ขอให้เป็นบัตรสองใบแล้วใช้ระบบการคิดคะแนนเสียงและจำนวนส.ส.ของแต่ละพรรคการเมืองแบบ “ระบบจัดสรรปันส่วนผสมแบบ MMP ของเยอรมัน” 

ที่ก็มีการมองกันว่า แท้จริงแล้ว สูตรบัตรสองใบแบบที่เยอรมัน  ที่พรรคก้าวไกล เสนอ เป็นสูตรเลือกตั้งที่จะทำให้พรรคก้าวไกลได้ประโยชน์ทางการเมืองมากที่สุด โดยเฉพาะการกลับมาได้ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์แบบเป็นกอบเป็นกำเหมือนตอนเลือกตั้งปี 2562 ที่ พรรคอนาคตใหม่หรือก้าวไกลในปัจจุบันได้ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ร่วม 50 คน 

เพราะหากมีการใช้บัตรเลือกตั้งสองใบ โดยใช้สูตรแบบรัฐธรรมนูญปี 2540 คือมี ส.ส.เขต 400 คน มีส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 100 คน ที่ก็อยู่ในร่างแก้ไขรธน.ของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งถ้าพลังประชารัฐ ผลักดันจนแก้ไขรธน.ได้สำเร็จ พรรคก้าวไกล จะเสียหายทางการเมืองมากที่สุด มีโอกาสที่พรรคจะได้ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์น้อยลงไปกว่าเดิมมาก 

เรื่องนี้ คนในพรรคก้าวไกล ก็รู้ดี จึงไม่แปลกที่ พรรคก้าวไกล จะขัดขวางระบบบัตรสองใบเต็มสูบ โดยนอกจากไม่ให้ ส.ส.ของพรรคไปร่วมลงชื่อในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นนี้ของพรรคเพื่อไทยแล้ว ยังไฟเขียวให้ คนในพรรคก้าวไกล อย่าง “รังสิมันต์ โรม” ออกมาสวด พรรคเพื่อไทย แบบสาดเสียเทเสีย 

ขณะเดียวกัน พบว่า การไม่เอาด้วยกับบัตรสองใบ ภายในพรรคร่วมรัฐบาล ก็มีเช่นกัน เพียงแต่ไม่ออกอาการมากเท่ากับ พรรคก้าวไกล ซึ่งพรรคที่ไม่เอาด้วย ก็คือ “พรรคภูมิใจไทย” พรรคร่วมรัฐบาลอันดับสอง  

เพราะภูมิใจไทย ก็เป็นอีกหนึ่งพรรคที่ได้ประโยชน์จากบัตรเลือกตั้งใบเดียวในการเลือกตั้งปี 2562 จนได้ส.ส.เขตและบัญชีรายชื่อ รวม 51 คน  ซึ่งก็มีการมองกันว่าหากมีการใช้บัตรสองใบ จะทำให้ ภูมิใจไทย อาจได้ส.ส.น้อยลงกว่าเดิม อาจหายไปร่วม 10-12 ที่นั่ง  หรือหากอยากจะได้ส.ส.เท่าเดิมหรือมากขึ้น แกนนำภูมิใจไทย ก็จะต้องทุ่มหนักกว่าการเลือกตั้งปี 2562 เลยทำให้ แกนนำพรรคอย่าง อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย บอกแต่แรกแล้วว่า ภูมิใจไทยไม่หนุนบัตรสองใบ 

เพียงแต่กรณีของภูมิใจไทย ยังไม่หนักเท่ากับพรรคก้าวไกล เพราะพรรคก็ยังให้ส.ส.ภูมิใจไทยไปร่วมลงชื่อด้วยกับร่างแก้ไขรธน.ที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นตัวตั้งตัวตีในการเสนอให้แก้ไขระบบเลือกตั้ง ซึ่งเหตุที่ภูมิใจไทยต้องร่วมลงชื่อ เพราะประชาธิปัตย์มีเสียงส.ส.ไม่ถึงตามจำนวนที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ทำให้ ภูมิใจไทยก็ต้องให้ส.ส.ของพรรคไปร่วมลงชื่อด้วย เพียงแต่ต้องรอดูว่า ท่าทีของภูมิใจไทยตอนโหวตร่างแก้ไขรธน.เรื่องเปลี่ยนระบบการเลือกตั้ง ฯ ตามร่างของ พลังประชารัฐ-เพื่อไทยและประชาธิปัตย์ สุดท้ายแล้ว ส.ส.ภูมิใจไทยจะโหวตเห็นชอบด้วยหรือไม่ ในการโหวตวาระแรก 24 มิ.ย.นี้ 

ส่วนสาเหตุที่ “ประชาธิปัตย์” หนุนสุดตัว เรื่องบัตรเลือกตั้งสองใบ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะหากกลับมาใช้บัตรสองใบ อย่างน้อย ก็ทำให้ พรรคจะได้คะแนน-ได้ส.ส.มากขึ้นกว่าตอนเลือกตั้งปี 2562 ค่อนข้างแน่ 

คิดง่ายๆ ก็คือ ในพื้นที่ฐานเสียงหลักของประชาธิปัตย์ อย่าง “กรุงเทพมหานคร” ซึ่งเลือกตั้งรอบที่แล้ว ประชาธิปัตย์ สูญพันธ์ในกทม. จากเดิม ที่ประชาธิปัตย์เป็นแชมป์กทม.มาหลายสมัย แต่การเลือกตั้งรอบที่แล้ว คนกรุงเทพฯ เลือกที่จะสนับสนุน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้กลับมาเป็นนายกฯ แต่เมื่อมีบัตรใบเดียว แฟนคลับประชาธิปัตย์ จำนวนมากในกทม. ต้องยอมไม่เลือกประชาธิปัตย์ ทำให้ส.ส.กทม.ของประชาธิปัตย์ บางคนที่เป็นส.ส.มา 4-5 สมัย ยังสอบตกแบบล็อกถล่ม เพราะคนกทม. เลือกได้แค่บัตรใบเดียว เลยต้องเลือกพลังประชารัฐ  

จุดนี้ ทำให้ ประชาธิปัตย์คิดว่า หากมีการใช้บัตรสองใบ อย่างน้อย อาจทำให้คนกทม. เลือกส.ส.เขตประชาธิปัตย์ ส่วนบัตรพรรคก็เลือก พลังประชารัฐไป หรือไม่ หากผู้สมัคร ส.ส.เขต ประชาธิปัตย์ ไม่แข็ง คนกทม.ก็อาจเลือกส.ส.เขตพลังประชารัฐ แล้วก็มาเลือกบัตรประชาธิปัตย์ก็ได้ เพราะประชาธิปัตย์ มองว่า คนที่จะเลือกประชาธิปัตย์ -พลังประชารัฐ ในกทม. เป็นกลุ่มฐานเสียงเดียวกัน นั่นเอง การมีบัตรสองใบ ทำให้ คนกทม. มีโอกาสจะเลือกได้ทั้งประชาธิปัตย์และพลังประชารัฐ จึงไม่แปลกที่ประชาธิปัตย์จะหนุนบัตรสองใบ 

ส่วนที่ “พรรคเพื่อไทย” หนุนสุดตัว กับบัตรสองใบ ก็เป็นเรื่องไม่แปลกอีกเช่นกัน เพราะระบบบัตรใบเดียว พรรคที่เจ็บปวดมากสุดก็คือ พรรคเพื่อไทย

เห็นได้จากที่เพื่อไทย ไม่ได้ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ แม้แต่คนเดียวในการเลือกตั้งมีนาคม 2562 เพราะเพื่อไทยไปได้ส.ส.เขต จนเต็มสัดส่วนที่พรรคเพื่อไทยจะพึงมีส.ส.ในสภาฯได้ ทำให้ เพื่อไทยไม่ได้ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์แม้แต่คนเดียวนั่นเอง 

เพื่อไทย เลยหนุนสุดตัวให้มีการแก้ไขรธน.เพื่อเปลี่ยนระบบการเลือกตั้งกลับไปเป็นแบบรัฐธรรมนูญปี 2540 ไม่อย่างนั้น เลือกตั้งรอบหน้า คนที่ไปลงปาร์ตี้ลิสต์ เพื่อไทย ก็อดเข้าสภาฯอีกรอบแน่ 

เท่ากับว่า เพื่อไทย ลงมาเล่นเกมนี้ เอาด้วยกับ พลังประชารัฐ ในการเสนอแก้ไขรธน.เปลี่ยนระบบเลือกตั้งกลับไปเป็นแบบรธน.ปี 2540 ให้มีบัตรสองใบ มันก็เพื่อผลประโยชน์ล้วนๆของ เพื่อไทย นั่นเอง 

เพราะ เพื่อไทย ก็เชื่อว่า ถึงต่อให้แก้ระบบเลือกตั้ง แม้ พลังประชารัฐ จะได้ประโยชน์เช่นกัน เพราะเลือกตั้งรอบหน้า พลังประชารัฐ ที่เป็นพรรครัฐบาล กุมอำนาจรัฐ -ทุนพร้อม ทำให้มีโอกาสที่พลังประชารัฐ  จะได้ส.ส.เขตมากขึ้น จนแกนนำพลังประชารัฐ เกรงว่า พรรคจะซ้ำรอยกับเพื่อไทย หากใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว คือ พลังประชารัฐ อาจไม่ได้ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ แม้แต่คนเดียวเลยก็ได้ พลังประชารัฐ เลยต้องรีบชิงแก้ไขรัฐธรรมนูญ 

แต่ฝ่าย เพื่อไทย ก็มั่นใจว่า ถึงตอนเลือกตั้ง เพื่อไทย ยังสู้ พลังประชารัฐได้ เพราะเพื่อไทย จะได้ส.ส.เขตและปาร์ตี้ลิสต์กลับมาเป็นกอบเป็นกำ จนทำให้ชนะการเลือกตั้งได้ เพียงแต่ก็ต้องยอมเสี่ยงเช่นกัน กับการที่ พลังประชารัฐ ก็จะได้ส.ส.มากขึ้นอีกหลายสิบคน จนขึ้นมาเบียดสู้กับเพื่อไทย 

กระนั้น เพื่อไทย คิดบวก-ลบ ไปกลับแล้ว ยังไง บัตรสองใบ ก็ดีกว่าบัตรใบเดียวแน่นอน พูดง่ายๆ “ได้มากกว่าเสีย” พรรคเพื่อไทย เลยหนุนเต็มสูบกับบัตรสองใบ แบบยอมหักกับพรรคก้าวไกล ซึ่ง เพื่อไทย ก็ไม่แคร์อยู่แล้ว เพราะลึกๆ แล้ว เพื่อไทยกับก้าวไกล ขบเหลี่ยมกันอยู่ เพราะสองพรรคนี้ มีฐานเสียงเป็นคนกลุ่มเดียวกัน มีการแย่งคะแนนกันเองอยู่แล้ว ดังนั้น อะไรที่ เพื่อไทย เห็นว่าทำแล้วได้ประโยชน์ เรื่องอะไรจะต้องไปแคร์ พรรคก้าวไกล 

ยิ่งเรื่องเปลี่ยนระบบเลือกตั้ง ให้ใช้บัตรสองใบ พรรคพลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ เอาด้วย ผสมกับเสียงส.ว. ที่พลังประชารัฐ ก็ไปล็อบบี้มาได้ ทำให้มีโอกาสสูงมากที่ร่างแก้ไขรธน.เปลี่ยนระบบเลือกตั้งจะสำเร็จ ผ่านออกมาได้ อันเป็นสิ่งที่ เพื่อไทย ต้องการอยู่แล้ว งานนี้ เพื่อไทย เลยหักกับ ก้าวไกล เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของตัวเองล้วนๆ เช่นกัน 

สรุปแล้ว การแก้ไขรธน.รอบนี้ ที่จะพิจารณากัน 23-24 มิถุนายน นอกจาก จะทำให้เห็นร่องรอยความขัดแย้งภายในพรรคร่วมรัฐบาล-พรรคฝ่ายค้านแล้ว มันก็สะท้อนให้เห็นว่า เบื้องหลังการแก้ไขรธน.ครั้งนี้ สุดท้ายแล้ว พรรคการเมืองต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล-ฝ่ายค้าน ก็มี วาระการเมืองที่ทำให้ฝ่ายตัวเองได้ประโยชน์ แฝงอยู่ทั้งสิ้น เพียงแต่พรรคไหน จะเดินหมากได้ล้ำลึก แนบเนียนกว่ากัน เท่านั้นเอง 

แสดงความเห็น