“บิ๊กป้อง” เผยแผนพัฒนา ทอ. ยังไม่ซื้ออาวุธ 1 ปี แต่จะปูทางให้ ผบ.ทอ. คนใหม่

“บิ๊กป้อง” สร้างสามัคคี ผลพวงยุค “มานัต-แอร์บูล” ชี้ ไม่ใช่เรื่องขัดแย้ง เป็นเพียงความเห็นต่าง เผยแผนพัฒนา ทอ. ยังไม่ซื้ออาวุธ 1 ปี ด้วยเหตุผลงบประมาณ แต่จะปูทางให้ ผบ.ทอ. คนใหม่ เพื่อยกระดับกำลังรบทางอากาศ 

ที่กองบัญชาการกองทัพอากาศ (บก.ทอ.) พล.อ.อ.นภาเดช ธูปะเตมีย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนภายหลังแถลงนโยบายกองทัพอากาศ ว่า “ผมรู้สึกอบอุ่น ได้รับความปรารถนาดีจากสื่อ ตั้งแต่ก่อนรับหน้าที่และในขณะนี้ ซึ่งที่ผ่านมามีการลงข่าวถึงผมในทางที่ดี เช่น ภาพจูงมือคุณพ่อ กอดคุณแม่ เป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์”

ทั้งนี้บุคคลสำคัญของผมคือคุณพ่อคุณแม่ ผมจึงที่เน้นเรื่องคุณภาพ จึงฝังใจผมมาตลอด สิ่งที่ผมวางนโยบายไว้จึงเน้นเรื่องคุณภาพ โดย 1 ปีจากนี้ จะพยายามทำหน้าที่ให้ดีในทุกด้าน ปกครองผู้ใต้บังคับบัญชาด้วยความเป็นธรรม ดูแลเอาใจใส่ ทำให้เขาภาคภูมิใจ แม้ยศจะต่างกัน แต่ความภาคภูมิใจนั้นเหมือนกัน

นอกจากนี้คือความรักใคร่ กลมเกลียว มีหัวจิตหัวใจเดินไปด้วยกัน นำพาไปสู่ความสำเร็จด้วยกัน ผมมีเวลาเพียง 1 ปี จึงไม่ได้คิดทำโครงการใหญ่โต ดังนั้นพื้นฐานของผมคือความสุขของ ทอ.

เมื่อถามว่าสมัย พล.อ.อ.ประพันธ์ ธูปะเตมีย์ อดีต ผบ.ทอ. ยุคคุณพ่อเคยซื้อเอฟ 16 เราจะพัฒนา ทอ.ช่วงที่เรามีงบจำกัดอย่างไร พล.อ.อ.นภาเดช กล่าวว่า 

4-5 ปีก่อน ขณะนั้นคุณพ่ออายุ 89-90 ปี เคยพูดกับผมว่า กองทัพอากาศน่าจะคิดมีเครื่องบินที่ดีขึ้น เช่น พวกเครื่องสเตลท์ เอฟ-35 

โดยเป็นการเตรียมกำลังเพื่อ ประชาชน เพื่อประเทศ ไม่ใช่เพียงเพื่อ กองทัพอากาศแม้โดยเครื่องบินที่มีอยู่ขณะนี้จะทันสมัยในยุคนี้ แต่หากผ่านไปไม่กี่ปีก็ล้าสมัย จึงตัองคิดจัดซื้อที่ทันสมัยตั้งแต่วันนี้ แต่เกรงว่าเราเสนออะไรขึ้นไป และเมื่อเจอกับคนที่ไม่เข้าใจก็จะเกิดการต่อต้าน ก็จะรวนไปหมด ซึ่งผมก็เชื่อมั่นว่า ในยุคผมก็คือคิด แต่ยังไม่ได้ดำเนินการ แต่คนที่ก้าวเข้ามาต่อจากผม ที่จะมาดำเนินการต่อ ในยุคที่ประชาชนสนับสนุนและงบประมาณเพียงพอ เพื่อมียุทโธปกรณ์ที่ก้าวข้ามยุคสมัย เฉกเช่นที่คุณพ่อทำมาในอดีต เช่น การจัดซื้อเครื่อง F-16 เป็นยุคที่ประเทศเผชิญภัยคุกคาม โดยมีเครื่องบินเสนอตัวมา 4 แบบ เครื่องบินมิราจ ฝรั่งเศส , เครื่องบินทอร์นาโด , เอฟ 16 , เอฟ 20 ที่เป็น ซุปเปอร์ F-5 ซึ่งในยุคนั้น สหรัฐฯ นักวิชาการ ก็เชียร์ F-20 แต่สุดท้าย ทอ. โดยคณะกรรมการยุคคุณพ่อก็เลือก F-16 จึงเป็นที่วิจารณ์ไปทั่ว จากนั้นก็มีการเชิญนักวิชาการกับคุณพ่อมาพบเจอกันผ่านทีวี ซึ่งนักวิชาการขอให้ซื้อ F-20 แต่คุณพ่อกล่าวว่า ยอมรับสิ่งที่นักวิชาการและประชาชนให้ความเห็น เพราะเป็นความจริง F-20 เป็นเครื่องบินที่มีความทันสมัย สร้างจากบริษัทเครื่อง F-5 อุปกรณ์ใช้กันได้ เป็นบริษัทที่สหรัฐฯสนับสนุน แต่ ทอ. เป็นกองทัพขนาดเล็ก มีงบจำกัด เราต้องใช้งบให้คุ้มค่า ถ้าท่านเป็นผม ท่านจะเลือกใช้งบอันจำกัดนี้ สิ่งที่บอกว่าดีในกระดาษ หรือจะซื้อเครื่องที่พิสูจน์ในศึกสงครามว่าดีจริง ซึ่งคำตอบกระจ่างแจ้ง ในการเลือก ที่ไม่เสี่ยงเลือกที่เขาบอกว่าดี เพราะ F-20 ผลิตมา 4 เครื่อง แต่ตกไป 2 ลำ ในการแสดงแอร์โชว์ หากตัดสินใจผิดในวันนั้น ทอ. คงไม่มีเครื่องบินที่มีประสิทธิภาพในวันนี้

เมื่อถามว่าจะมีการการตั้งคณะกรรมการจัดหายุทโธปกรณ์ขึ้นมาหรือไม่ พล.อ.อ.นภาเดช กล่าวว่า จะรับไว้พิจารณา แต่จะให้ เสธ.ทอ. และ ผบ.คปอ. เข้าไปดู เพื่อก้าวข้ามเครื่องบินธรรมดาไปยังเครื่องที่แอดวานซ์ขึ้น ต้องสร้างความเข้าใจ ซึ่ง ทอ. แพ้ไม่ได้ ในด้านกำลังทางอากาศ เพราะหากเครื่องบินข้าศึกเสียงคำรามดังกว่า ทหารไม่ว่าหน่วยใด ก็จะแหลกลาญ ดังนั้นเครื่องบินที่มีประโยชน์ก็คือ เครื่องบินคุณภาพ แต่จะต้องมีความเข้าใจร่วมกัน เหมือนอย่างเช่นวัคซีนที่ตอนแรกเราก็ควบคุมไม่ได้ เพราะเรา ไม่ได้เตรียมไว้เพียงพอ เมื่อจัดหามาก็ฉีดไม่ทันกับสถานการณ์ เปรียบเหมือนกับคำกล่าวที่ว่า “สงครามไม่มีวันไม่เกิดขึ้น” เมื่อจบสงครามโลกครั้งที่ 1 ก็มีครั้งที่ 2 มีสงครามเกาหลี สงครามเวียดนาม จึงอย่านิ่งนอนใจ เพราะสงครามเกิดขึ้นได้ ตอนนี้ก็ฮึ่มๆกันอยู่ หากประชาชนเข้าใจ รักและเชื่อมั่น ทอ. ทุกอย่างก็จะปลอดโปร่งและจะเกิดขึ้นได้ เราซื้อของแต่ละทีใช้ได้นาน ดูแลได้เหมือนลูก เช่น C-130

เมื่อถามว่าจะสานต่อเปเปอร์ของอดีต ผบ.ทอ. หรือไม่ พล.อ.อ.นภาเดช กล่าวว่า ผมไม่รู้ถึงความขัดแย้งอะไรต่างๆ ผมรู้สึกว่า ทอ. รักใคร่สามัคคีกัน แต่แนวทาง การสร้างความเจริญกับ ทอ. แตกต่างไปบ้าง ไม่ว่าแนวทางใด ก็มีชีวิตจิตใจทำให้ ทอ. เจริญเกิดขึ้นได้ และเป็นเรื่องชิลๆ

เมื่อถามถึงแนวทางการจัดหายุทโธปกรณ์ เพื่อการพัฒนา หรือโครงการพีแอนด์ดี นั้น พล.อ.อ.นภาเดช กล่าวว่า เป็นแนวคิดที่ดี แต่ต้องดูว่าจะทำอะไรได้บ้าง เทคโนโลยีบางอย่างบริษัทในประเทศอาจจะไม่มี  จึงยากที่ยกตัวอย่าง ต้องดูสิ่งที่เราเห็นจริงแล้ว เช่น F-16 กับ F-20 ถ้าเรามีเงินน้อย ก็จะไปเสี่ยงไม่ได้ ดังนั้นเราจึงต้องเลือกของที่ดีที่สุด

เมื่อถามถึงการตั้งคณะทำงานสร้างความกลมเกลียวระหว่าง 8 รุ่น อาสุโส ตท.21-28 ด้วยการกีฬา เช่น การตีกอล์ฟ พล.อ.อ.นภาเดช กล่าวว่า พวกหนุ่มๆเก่งกว่าเรา จึงคัดเลือกพวกเรานายพล 8 รุ่น เกิดในยุคสมัยเดียวกัน พูดจากันรู้เรื่อง เวลาแซว เช่น แต่งตัวมะ หรือมะกัน แปลว่าเท่ห์ หากเด็กๆมา เราปล่อยมุขไป ก็ไม่เข้าใจ จึงอาศัยคนแวดวงเดียวกัน หากกิจกรรมนี้ติด ก็เป็นหน้าที่ ผบ.ทอ. คนต่อไปสานต่อ หากไม่ติดก็จบไป เป็นความทรงจำที่ดีของผม

เมื่อถามถึงการแสดงออกการเมือง พล.อ.อ.นภาเดช มองว่า เรื่องการเมืองคือการดำเนินการใดๆมาเพื่อการบริหาร ซึ่งเราไม่มีเรื่องเหล่านั้นในจิตใจ  เพราะความคิดเราอยู่ใน ทอ. เท่านั้น ไม่ได้คิดไปไกล ตนไม่เคยเข้าสภาไปเลย และส่วนการเป็นสมาชิก ส.ว. โดยตำแหน่ง ถ้า ผบ.เหล่าทัพ ไม่รับเงินเดือน ตนก็ไม่รับเช่นกัน

แสดงความเห็น