ร่างแก้รธน. ผ่านฉุลย 472 เสียง ส.ว. ไม่แตกแถว

การประชุมร่วมรัฐสภา ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เพื่อลงมติร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พ.ศ…. (แก้ไขมาตรา 83 และ มาตรา 91 ว่าด้วยระบบเเลือกตั้ง) วาระสาม หลังจากครบกำหนดเวลา 

โดยก่อนการลงคะแนน นายชวน แจ้งต่อที่ประชุมว่า คะแนนเห็นชอบตามเงื่อนไข ที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 256 กำหนด มีเงื่อนไข คือ 1. มีคะแนนเสียงเห็นด้วยมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา ที่มี 730 คน แบ่งเป็นส.ส. 480  คน และ ส.ว. มี 250 คน ดังนั้นต้องได้เสียงเกิน 365 เสียงขึ้นไป, 2. ต้องได้เสียง พรรคการเมืองที่ไม่มีรัฐมนตรี ประธานสภาฯ และรองประธาน ร่วมออกเสียงเห็นชอบด้วย 20% ของทุกพรรคการเมือง โดยปัจจุบันมีสมาชิก จำนวน 242 คน ดังนั้นต้องได้ 49 คน และ 3. ต้องมีส.ว.เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1ใ น3 คือ 84 เสียง

“หากไม่ถึงจำนวนไม่ว่ากรณีใด เท่ากับว่าร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้รับความเห็นชอบ สำหรับการออกเสียงลงคะแนนวาระสาม จะใช้การเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย สำหรับสมาชิกรัฐสภาที่มาออกเสียงไม่ทันตอนเรียกชื่อ หรือลงคะแนนผิดไป ตนจะอนุญาติให้ลงคะแนนให้ครบถ้วน สำหรับการประมวลผลการลงคะแนนจะใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ช่วยการนับคะแนนเพื่อให้การรวบรวมคะแนนเป็นไปโดยรวดเร็ว” นายชวน ชี้แจง 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าก่อนการลงคะแนนนายชูวิทย์ พิทักษ์พรพัลลภ ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทยเสนอให้เปลี่ยนการลงคะแนนโดยเริ่มจาก ส.ว. 250 คน หากได้เกิน 85 เสียงจึงให้ส.ส.ลงคะแนนต่อไปเพื่อไม่ให้เสียเวลาและเสี่ยงในสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้นายชวน กล่าวตอบว่า ที่เสนอไม่เป็นไปตามข้อบังคับและรัฐธรรมนูญ

จากนั้นในเวลา  09.40 น. ได้เริ่มนับคะแนน และนับเสร็จเมื่อเวลา  11.35 น.โดยผลการลงคะแนนพบว่า รัฐสภาลงมติเห็นชอบ 472 เสียง เป็น ส.ส. 323 เสียง และ ส.ว. 149 เสียง , ไม่เห็นชอบ 33 เสียง แบ่งเป็น ส.ส. 23 เสียง และ ส.ว. 10 เสียง และงดออกเสียง 187 เสียง แบ่งเป็น ส.ส.121 เสียง และส.ว. 66 เสียง

แสดงความเห็น