กพยช. มีมติผลักดัน ลดการกระทำผิดซ้ำของผู้พ้นโทษและงานไกล่เกลี่ยข้อพิพาท

สำนักงานกิจการยุติธรรม จัดประชุมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2564 เพื่อพัฒนางานอำนวยความยุติธรรมแก่ ปชช. มีมติผลักดันในการลดการกระทำผิดซ้ำของผู้พ้นโทษและงานไกล่เกลี่ยข้อพิพาท 

พันตำรวจโท พงษ์ธร ธัญญสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม เปิดเผยว่า นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาการอํานวยความยุติธรรมที่มีผลต่อการดำรงชีวิตของประชาชน โดยต้องมีการปรับตัวให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในยุคปัจจุบันและการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จึงให้สำนักงานกิจการยุติธรรมจัดการประชุมคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ (กพยช.) ครั้งที่ 1/2564 ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ที่ผ่านมา ซึ่งมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการประชุม มีประเด็นวาระสำคัญ  3 เรื่อง ได้แก่ แผนการขับเคลื่อนข้อเสนอแนะจากโครงการวิจัยด้านลดการกระทำผิดซ้ำสู่การปฏิบัติ ซึ่งที่ประชุมมีมติ เห็นชอบแผนการขับเคลื่อนข้อเสนอแนะจากโครงการวิจัยด้านลดการกระทำผิดซ้ำสู่การปฏิบัติ โดยให้อนุกรรมการภายใต้ กพยช.ที่มีภารกิจเกี่ยวข้องเป็นผู้กำกับดูแล และมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการรับข้อสังเกตของกรรมการไปดำเนินการ เช่น การผลักดันให้นำงานวิจัยไปทดลองใช้เป็น Policy test การทำ Sand Box หรือการผลักดันให้เกิดกองทุนผู้พ้นโทษ และรายงานความคืบหน้าให้ กพยช. ทราบ 

โดยวาระต่อมาเป็นเรื่องการพัฒนาการเรียนการสอนหลักสูตรอบรมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ตามพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562 ที่ กพยช. รับรอง โดยที่ประชุมเห็นชอบให้เพิ่มรูปแบบการเรียนการสอนแบบ Online เต็มรูปแบบ และการเรียนแบบผสมผสานทั้งแบบ Online และแบบในชั้นเรียน (On-Site) เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะการณ์ในปัจจุบัน จากเดิมที่ได้เห็นชอบในรูปแบบการเรียนในชั้นเรียน (On-Site) เพียงอย่างเดียว โดยให้มีผลในทันทีและมีผลย้อนหลังแก่หน่วยงานที่เคยได้รับการอนุญาตนำหลักสูตรไปใช้แล้ว ซึ่งมอบหมายให้คณะอนุกรรมการส่งเสริม พัฒนาและขับเคลื่อนการดำเนินงานการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ไปกำกับดูแลและพิจารณาดำเนินการ

พันตำรวจโท พงษ์ธร เปิดเผยอีกว่า ส่วนวาระสุดท้ายเป็นเรื่องการอำนวยความยุติธรรมด้วยมาตรการแทนการฟ้องคดีอาญา ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาร่างกฎหมายมาตรการแทนการฟ้องคดีอาญา กรณีมาตรการชะลอการฟ้อง และให้สำนักงานอัยการสูงสุด โดยสถาบันนิติวัชร์ กระทรวงยุติธรรม และสำนักงานกิจการยุติธรรมกำหนดแนวทางในการดำเนินงานร่วมกันมีกำหนดกรอบระยะเวลาให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน

แสดงความเห็น