เร่งแก้กม.คุ้มครองสิทธิฯ หลังพบช่องโหว่ ทะเบียนประวัติอาชญากร ส่งผลกระทบ ปชช. แม้ล้างมลทิน

สำนักงานกิจการยุติธรรม รับนโยบาย รมว.ยธ. เร่งหาแนวทางแก้กฎหมายส่งเสริม-คุ้มครองสิทธิมนุษยชนเพื่อเสนอ ครม. หลังยังพบช่องโหว่ในการจัดระเบียบทะเบียนประวัติอาชญากร จนส่งผลกระทบต่อ ปชช. ในการดำเนินชีวิตแม้เจ้าตัวจะล้างมลทินไปหมดแล้ว 

พันตำรวจโท พงษ์ธร ธัญญสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม เปิดเผยว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงยุติธรรม เป็นหน่วยงานหลักในการพิจารณาแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เล็งเห็นถึงปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน จึงสั่งการให้สำนักงานกิจการยุติธรรม เป็นหน่วยงานกลางในการประสานงานระหว่างหน่วยงานกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้อง และจัดประชุมร่วมกับ สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อพิจารณาข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในกระบวนการบริหารจัดการทะเบียนประวัติอาชญากร ซึ่งในที่ประชุมได้พิจารณาให้แก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งที่เกี่ยวข้อง ให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนตามหน้าที่และอำนาจ และเพื่อเป็นการบริหารจัดการทะเบียนประวัติอาชญากรของไทยให้มีความสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนมากยิ่งขึ้น หลังจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ศึกษารวบรวมข้อเท็จจริงและวิเคราะห์ปัญหาจนพบว่า กระบวนการจัดเก็บทะเบียนประวัติอาชญากร ส่งผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนและเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ผู้พ้นโทษไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้ตามปกติ รวมถึงการคุ้มครองสิทธิเจ้าของข้อมูลในเชิงบูรณาการยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เช่น ไปกระทบต่อเสรีภาพในการประกอบอาชีพ เพราะโดนปฏิเสธไม่รับเข้าทำงาน หรือกรณีนายจ้างนำประวัติอาชญากรของผู้ร้องที่เคยถูกดำเนินคดีอาญาขณะเป็นเยาวชนมาประกอบการพิจารณาจนถูกปฏิเสธในที่สุด นอกจากนี้ อีกหนึ่งปัญหาที่พบคือฐานข้อมูลทะเบียนประวัติอาชญากรยังคงมีชื่ออยู่ในทะเบียนประวัติฯ แม้เจ้าตัวจะล้างมลทินจนหมดแล้วก็ตาม

“นอกจากนี้ ควรเร่งรัดปรับปรุงประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 32 การพิมพ์ลายนิ้วมือ โดยให้มีการแยกบัญชีประวัติผู้ต้องหาหรือจำเลยซึ่งคดีอยู่ระหว่างพิจารณา และบัญชีบุคคลที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิด รวมถึงบันทึกข้อมูลการล้างมลทินไว้ในทะเบียนประวัติอาชญากร และให้สำนักงานกิจการยุติธรรมในฐานะเจ้าของร่างพระราชบัญญัติประวัติอาชญากรรม พ.ศ. …. พิจารณาทบทวนกรณีฐานความผิดที่จำเป็นต้องมีการเปิดเผย หรือกรณีไม่เปิดเผยให้ชัดเจน ซึ่งต้องชั่งน้ำหนักระหว่างการคุ้มครองสิทธิของเจ้าของประวัติอาชญากรรมและการคุ้มครองสังคมให้ชัดเจน เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป” พันตำรวจโท พงษ์ธร ระบุ

แสดงความเห็น