นายสุทิน คลังแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดมหาสารคาม ให้สัมภาษณ์ถึง กรณีที่ประชาชนต้องการให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และ สมาชิกวุฒิสภา สละเงินเดือนเพื่อนำมาจัดซื้อวัคซีนที่ในการป้องกันโรคโควิด-19 ว่าเป็นประเด็นที่เมื่อถึงคราวที่จะต้องทำก็ไม่มีปัญหา ขณะเดียวกันแม้ว่า ส.ส.และ ส.ว.ได้ร่วมกันสละเงินเดือนก็จะเป็นเงินในส่วนน้อยซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนจากทั่วประเทศ แต่การให้สมาชิกรัฐสภาสละเงินเดือนก็จะได้ข้อคิดและประโยชน์กลับมาคือ การสร้างสำนึกให้ทุกคนมีความเสียสละ โดยส่วนตัวในประเด็นเรื่องสละเงินเดือนเพื่อให้พี่น้องประชาชนตนไม่ติดขัด แต่ก็อยากจะให้มองกลับไปอีกจุดหนึ่งว่างบประมาณที่จะนำมาจัดซื้อวัคซีนให้เพียงพอนั้นอยู่ที่การบริหารของรัฐบาล โดยรัฐบาลจะต้องไปประหยัดงบส่วนอื่นที่ไม่จำเป็น นำมาปรับใช้ในการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการจัดซื้อวัคซีน หรือการซื้อเตียงนอน / ยารักษาโรค รวมถึงอุปกรณ์ในระบบสาธารณสุขด้วย
ดังนั้นรัฐบาลจึงควรพิจารณาประหยัดงบประมาณในส่วนอื่น เช่น งบประมาณของกองทัพในการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ ซึ่งเมื่อประหยัดงบประมาณในส่วนดังกล่าวได้แล้ว และขอให้ทาง ส.ส. และ ส.ว.มาร่วมบริจาคเงินเดือนเพื่อสมทบแนวคิดดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารท่ามกลางสถานการณ์โควิดและเป็นวิธีที่จะสามารถแก้ปัญหาได้
นายสุทิน ยังกล่าวถึง ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ไม่ผ่านมติจากที่ประชุมร่วมรัฐสภาว่า รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ได้บัญญัติประเด็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญค่อนข้างยาก โดยที่ผ่านมาประเทศไทยไม่เคยมีรัฐธรรมนูญฉบับใดที่มีบทบัญญัติในการนำสู่แก้รัฐธรรมนูญได้ยากเท่ากับ ฉบับปัจจุบัน เช่น จะต้องใช้เสียงโหวตของสมาชิกวุฒิสภาในการขอแก้รัฐธรรมนูญไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 หรือไม่น้อยกว่า 84 เสียง จึงเป็นช่องทางที่เปิดให้วุฒิสภาสามารถคว่ำร่างขอแก้ไขรัฐธรรมนูญได้
ทั้งนี้ เมื่อมองคะแนนเสียงในการขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้ง 13 ร่าง จะเห็นได้ว่า ส.ส.ได้ร่วมกันลงมติในทุกร่างเกินกึ่งหนึ่ง แต่สุดท้ายร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไม่ผ่านนั้น ก็มาจากคะแนนเสียงสนับสนุนของวุฒิสภาไม่เพียงพอคือน้อยกว่า 84 เสียงตามที่กฎหมายกำหนด ดังนั้นหากจะกล่าวได้ว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญถูกตีตกไปเพราะวุฒิสภาก็เป็นเรื่องที่ไม่ผิด ต้องยอมรับว่าถูกตีตกเพราะ ส.ว.จริงๆ