“ชวน” เผย พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ยังไม่ถึงสภา ย้ำ คุมเข้มมาตรการโควิด

นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า วาระการประชุมสภาฯวันนี้ พิจารณาพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามที่คณะรัฐมนตรี ได้ให้ความเห็นชอบบังคับใช้ตามกฎหมาย และเสนอมายังสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาก่อน

ส่วนพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม วงเงินไม่เกิน 500,000 ล้านบาทนั้น สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ยังส่งพระราชกำหนดดังกล่าวไม่ถึงสภาผู้แทนราษฎร ขณะนี้จึงต้องพิจารณาทั้ง 2 วาระที่กำหนดมาแล้วก่อน ตามที่วิป 3 ฝ่ายตกลงคือ พิจารณาวันที่ 27-28 พฤษภาคม แบ่งเวลาฝ่ายละ 3 ชั่วโมง แต่ทั้งหมดอยู่ที่ว่าจะใช้เวลาครบหรือไม่ จบเมื่อไหร่ก็จบเมื่อนั้น โดยวันนี้ เริ่มตั้งแต่เวลา 09.30 น. จนถึงเกิน 24.00 น. และพรุ่งนี้เริ่มในเวลา 09.00 น.

ส่วนการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 จะพิจารณาวันที่ 31 พฤษภาคม – 2 มิถุนายน แบ่งฝ่ายอภิปรายฝ่ายละ 22 ชั่วโมง ทั้งนี้ หากพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม วงเงินไม่เกิน 500,000 ล้านบาทส่งมาถึงเมื่อไหร่ ก็บรรจุทันที แต่ต้องพิจารณาหลังจากพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณแล้วเสร็จก่อน

นายชวน ยังกล่าวถึงมาตรการดูแลป้องกันโควิดสำหรับการประชุมระยะยาว เน้นย้ำให้ทุกคนสวมหน้ากากอนามัย แต่หากสมาชิกใดต้องใช้เวลาอภิปรายนานแล้วทำให้อึดอัดในการสวมหน้ากาก ก็ได้จัดเตรียมพื้นที่เฉพาะสำหรับการอภิปราย เพื่อความสะดวกและปลอดภัย นอกจากนี้ สมาชิกที่ไม่ได้อภิปรายสามารถรับฟังการถ่ายทอดการอภิปรายอยู่ที่ห้องพักได้ และห้องพัก ส.ส.วันนี้ถือว่า มีความพร้อม ยกเว้นเวลาลงมติที่จะต้องเข้ามาภายในห้องประชุม แต่ก็ได้ให้เวลาในการลงมติเพิ่มมากขึ้น ส่วนที่หลายฝ่ายกังวลว่า การอภิปรายจะเกิดละอองฝอยนั้น กรมควบคุมโรคได้ตรวจสอบแล้วพอใจเนื่องจากมีโดมสูงและมีการระบายอากาศที่ดี แต่ก็ขอให้สวมหน้ากากอนามัยตลอด

ทั้งนี้ ไม่ได้ห้ามการประชุมกรรมาธิการ แต่ต้องจำกัดจำนวนคน และสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เพราะไม่รู้ว่าวิกฤตจะหมดไปเมื่อไหร่ อย่าให้วิกฤตเป็นปัญหาตัวถ่วงการทำงาน จะรอให้โรคนี้หายไปแล้วค่อยทำงานไม่ได้ เราก็ต้องปรับตัวเองในการทำงานช่วงสถานการณ์เช่นนี้ ด้วยพยายามป้องกันตัวเองอย่าง 100%

แสดงความเห็น