ยุบสภาฯ ! โอกาส-ความเป็นไปได้ หลังโควิดรอบ3 สาหัส

ในวิกฤตโควิดรอบสามเวลานี้ สิ่งที่แลเห็นอย่างหนึ่งก็คือ ความเห็น-มุมวิเคราะห์ของผู้คนในแวดวงคนการเมือง ที่เริ่มส่งเสียงดังออกมาเรื่อยๆ ในท่วงทำนอง เชื่อว่ารัฐบาลอยู่ไม่ครบเทอม อาจมีการยุบสภาฯ เกิดขึ้นในช่วงปลายปีนี้

แม้จริงอยู่ ความเห็นดังกล่าว อาจเกิดขึ้นจากคนการเมืองฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล เช่น เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็มีความเห็นของ ทั้ง “จตุพร พรหมพันธุ์ ประธานนปช.-แกนนำกลุ่มไทยไม่ทน สามัคคีประชาชน” และ “ไชยา พรหมมา ส.ส.หนองบัวลำภู และอดีตรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย” ที่ออกมาวิเคราะห์ แบบสอดประสานทำนองเดียวกันคือ เชื่อว่า จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เช่น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯอาจลาออก หรือไม่เช่นนั้น รัฐบาลอยู่ไม่ครบเทอม อาจมีการยุบสภาฯ หลังโควิดรอบสามคลี่คลายขึ้น  

เดิมที ก่อนหน้านี้ การคาดหมายเรื่อง อาจมีการยุบสภาฯ เกิดขึ้นมาได้ระยะหนึ่งแล้ว หลังมีการมองกันถึงการเคลื่อนไหวของ พรรคพลังประชารัฐ ที่ชิงออกตัวเร็ว ยื่นญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ไปตั้งแต่เมื่อ 7 เม.ย. ทั้งที่กว่ารัฐสภาจะเปิดสมัยประชุม ก็ตั้ง 22 พ.ค. 2564

ยิ่งเมื่อประเด็นที่ขอแก้ไขแม้มีหลายเรื่อง แต่เรื่องที่ พลังประชารัฐ ต้องการให้เกิดผลมากสุดคือ “การแก้ไขเปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้งส.ส.” ที่มีสาระสำคัญคือ ให้แก้จากบัตรเลือกตั้งใบเดียว -ระบบจัดสรรปันส่วนผสม โดยเสนอให้แก้มาเป็นบัตรเลือกตั้งบัตรสองใบ คิดคะแนนแยกระหว่างส.ส.เขตกับบัญชีรายชื่อ แบบตอนเลือกตั้งปี 2544 และ 2548 ที่จะเอื้อกับพรรคใหญ่อย่าง พลังประชารัฐ ให้สามารถมีส.ส.ได้แบบไม่โดนจำกัด จำนวนที่นั่ง 

เลยทำให้ แวดวงการเมืองมองแล้วว่า พลังประชารัฐ รีบขยับตัว เหมือนกับต้องการให้แก้ไขระบบเลือกตั้งโดยเร็ว เพื่อรองรับหากมีการยุบสภาฯ เพราะหากไม่แก้ประเด็นนี้ พลังประชารัฐ เสี่ยงจะไม่มีส.ส.บัญชีรายชื่อรอบหน้าแบบพรรคเพื่อไทยตอนเลือกตั้งปี 2562 จนได้ส.ส.น้อยกว่าที่ควรจะได้ ทำให้ต้องไปพึ่งพรรคการเมืองอื่นมาตั้งรัฐบาลร่วมกัน

ผสมกับ ปัจจัยอื่นๆ เช่น ที่ประชุมครม. เมื่อวันอังคารที่ 20 เม.ย. ที่ผ่านมา ก็เพิ่งให้ความเห็นชอบ ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท และมีคิวจะเอาเข้าสภาฯ เป็นเรื่องแรกๆ หลังเปิดประชุมทันทีคือวางไว้ที่พิจารณาให้ความเห็นชอบวาระแรกวันที่ 27-28 พฤษภาคมนี้ 

เป็นที่รู้กันทางการเมืองว่า สองเงื่อนไขสำคัญ ที่รัฐบาลไม่ว่ายุคไหน ต้องทำไว้ก่อน จะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองโดยเฉพาะหากต้องมีการยุบสภาฯ  ก็คือ 1.การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการประจำปี เพื่อหวังให้ ข้าราชการที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นเครื่องมือช่วยตอนเลือกตั้ง และ 2.การเห็นชอบร่างพ.ร.บ.งบฯ เพื่อเป็นเครื่องการันตีความอุ่นใจทางการเมืองได้ว่า กรอบและนโยบาย การใช้เงินตามร่างพ.ร.บ.งบฯ จะเป็นอาวุธสำคัญตอนหาเสียงเลือกตั้ง เช่น เอาไปโฆษณาหาเสียงได้ว่า นโยบายที่หาเสียงไว้ ทำงบรอไว้แล้ว หากได้เข้าไปเป็นรัฐบาลอีก จะได้เข้าไปสานต่อ แค่นี้ ก็ได้เปรียบพรรคคู่แข่งแล้ว 

รวมถึง แนววิเคราะห์เรื่องการยุบสภาฯ ที่เกิดก่อนโควิดรอบสามระบาด ในมุมที่ว่า เมื่อรัฐบาลอยู่ไปถึงปลายปีนี้ ขึ้นต้นปีหน้า ที่เป็นปีที่สามของรัฐบาลชุดนี้ ถึงตอนนั้น  กระแสนิยมในตัว พลเอกประยุทธ์ และรัฐบาล น่าจะเริ่มตกแล้ว หากจะลากยาวต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่รีบเลือกตั้ง อาจทำให้ ตอนเลือกตั้ง กระแสพลังประชารัฐ ไม่พีคเหมือนตอนเลือกตั้งปี 2562 แม้ต่อให้ คุมอำนาจรัฐตอนเลือกตั้งก็ตามที เลยยุบสภาฯ ดีกว่า 

ทั้งหมดข้างต้น คือแนววิเคราะห์ของแวดวงการเมืองถึงเรื่องความเป็นไปได้ในการยุบสภาฯ-รัฐบาลอยู่ไม่ครบเทอม  ก่อนจะเกิดกรณี โควิดรอบสาม

ที่ถึงตอนนี้ กับภาวะโควิดรอบสาม ต้องถือว่า กระแสไม่พอใจรัฐบาล ต่อกรณีคลัสเตอร์ทองหล่อ และระบบการบริหารจัดการ เรื่องการฉีดวัคซีนที่ล่าช้า ทำให้ คะแนนนิยมรัฐบาลมีปัญหาอย่างมาก 

มันเลยยิ่งเป็น “ปัจจัยซุปเปอร์บวกทางการเมือง” เข้าไปอีกหลายเท่า ที่ทำให้มีการมองกันว่า จบโควิดฯรอบสามเมื่อไหร่ กระแสเรียกร้องให้มีการ “เช็คบิล” รัฐบาล น่าจะเกิดขึ้นแน่นอน

แวดวงการเมือง เลยเริ่มมองไปในทางเดียวกันไม่ใช่น้อยว่า หาก “ม็อบ” ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มไทยไม่ทน ของ จตุพร รวมถึง “กลุ่มม็อบสามนิ้ว” หากจับแค่เรื่อง โควิด รอบสาม เรื่องเดียว มาขย่มรัฐบาล ไม่ต้องไปแตะเรื่อง 112 และสถาบันฯ มันก็อาจ build อารมณ์ประชาชนให้ออกมาร่วมม็อบด้วย  จนกระแสไม่พอใจรัฐบาล ขยายวงกว้าง ส่งผลให้ นายกฯ อาจต้องตัดสินใจทางการเมืองโดยการยุบสภาฯ ก็เป็นไปได้ 

กระนั้น ก็ไม่แน่เช่นกัน ที่โควิดรอบสาม หลังจากนี้ อาจจะมี “บทหักมุม” คือ นับแต่นี้ สถิติผู้ติดเชื้อโควิดฯในประเทศไทย เริ่มลดลงเรื่อยๆ เพราะรัฐบาลเริ่มเอาอยู่ คุมการแพร่เชื้อได้ และสามารถเร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนทุกกลุ่มได้ทั่วถึง อีกทั้งรัฐบาลมีการเร่งออกมาตรการทางเศรษฐกิจเพื่อช่วยเหลือเยียวยาประชาชนทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิดรอบสามโดยรวดเร็ว ผสมกับการให้ความเชื่อมั่นกับประชาชนได้ว่า โควิดรอบสี่ จะไม่เกิดขึ้นแล้วหรือถึงเกิดอีก รัฐบาลก็จะควบคุมได้มีประสิทธิภาพกว่าตอนโควิดรอบสาม 

ถ้ารัฐบาล-บิ๊กตู่ ทำให้ บทหักมุม ดังกล่าวเกิดขึ้นได้ในเวลาอันรวดเร็ว  บอกได้เลย แม้จะมีการทำม็อบออกมาไล่พลเอกประยุทธ์  แต่ก็ไม่ทำให้เกิดแรงกดดันถึงขั้น รัฐบาลอยู่ยาก จนนายกฯต้องยุบสภาฯ ถ้ารัฐบาล พลิกสถานการณ์ได้ทันท่วงที 

ยิ่งด้วยปัจจัยโควิดระบาดหนัก ยังไง ม็อบก็ออกมานัดรวมตัวกันไม่ได้อยู่แล้ว ทำได้อย่างมากก็อย่างที่ กลุ่มไทยไม่ทนของ จตุพร  ทำอยู่ตอนนี้คือ อภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯและรัฐบาล นอกสภาฯ ผ่านโซเชียลมีเดีย ทุกเสาร์-อาทิตย์  ที่เริ่มทำมาแล้วสองนัดเมื่อ 24-25 เม.ย. และแกนนำประกาศ จะทำต่อเนื่องไปเรื่อยๆ จนโควิดเบาบาง จากนั้น จะออกมานัดรวมตัวบนท้องถนนอีก 

จุดนี้ ก็ทำให้ รัฐบาลสามารถใช้เงื่อนไขนี้ ที่ไม่มีม็อบมารวมตัวให้กวนใจ โดยเร่งแก้ปัญหา ซึ่งหากจบวิกฤตโควิดรอบสาม ได้เร็ว และกันการระบาดรอบสี่ไว้ได้แบบแนบสนิท มันก็จะช่วยลดกระแสไม่พอใจรัฐบาลได้มากโข จนน่าจะทำให้ การปลุกม็อบไล่นายกฯ กลางถนน อาจปลุกไม่ขึ้น จนมุขแป๊กไปเอง 

อย่าประมาทไป บทหักมุม ดังกล่าวข้างต้น ในทางการเมือง หากรัฐบาล สู้กับโควิดรอบสามชนะอีกครั้งในเวลาอันรวดเร็ว นอกจากช่วยทำให้ รัฐบาล-นายกฯบิ๊กตู่ รอดไปได้อีกครั้งหนึ่งแล้ว เผลอๆ ที่เคยประเมินกันว่า รัฐบาลอยู่ได้เต็มที่ ไม่เกินปลายปีนี้ ไม่แน่ อาจเข็นกันไปได้ จนอยู่ครบสี่ปี ถ้า ลุงตู่ ยังสู้อยู่  

แสดงความเห็น