ถนน 4 สาย ดันแก้รายมาตรา พปชร.ได้เปรียบทั้งขึ้นทั้งล่อง

แม้รัฐสภาจะกลับมาเปิดประชุมอย่างเป็นทางการอีกครั้งหลัง 22 พ.ค. แต่พรรคการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ต่างไม่รอช้า ตั้งท่าขยับยื่นขอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรากันแต่หัววัน 

จากเหตุด้วยเงื่อนไขบังคับ เหลืออีกไม่ถึงสองปี สภาฯชุดนี้ก็จะหมดวาระลงตามอายุขัย จนต้องมีการเลือกตั้งกันใหม่ ขณะที่กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญแม้ต่อให้เป็นการแก้รายมาตรา โดยเฉพาะหากมีการแก้ไขเรื่อง “ระบบเลือกตั้ง” เช่นเปลี่ยนจากระบบเลือกตั้งที่ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว แล้วนำคะแนนมาคำนวณหาจำนวนส.ส.ที่แต่ละพรรคพึงมี ที่จะเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้กลับไปใช้ระบบเลือกตั้งสองใบ ประชาชนเลือกได้ทั้งส.ส.เขตและปาร์ตี้ลิสต์  ถึงต่อให้แก้ไขสำเร็จ แต่ก็ต้องใช้เวลาพอสมควร เพราะพอแก้ไขเสร็จก็ต้องไปแก้พ.ร.บ.การเลือกตั้งส.ส.ฯ ที่ต้องผ่านสภาฯ 3 วาระ และวุฒิสภาอีก 3 วาระ กินเวลาเร็วสุดก็ร่วมๆ 4-6 เดือน รวมเวลาแล้วกว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ-แก้พ.ร.บ.เลือกตั้งส.ส.ฯ-กระบวนการนำร่างฯ ขึ้นทูลเกล้าฯ ก็ใช้เวลาร่วมๆ 8-9 เดือน 

ขณะที่สถานการณ์การเมือง ก็ไม่มีอะไรแน่นอน อาจมีปัจจัยแทรกซ้อนเข้ามา ทำให้สภาฯอาจอยู่ไม่ครบเทอมก็ยังเป็นไปได้อยู่ ด้วยเหตุนี้ พรรครัฐบาลและฝ่ายค้าน จึงรอช้าไม่ได้ ต้องรีบขยับแก้ไขรธน.กันแล้ว 

ถึงตอนนี้ เห็นชัดว่า ถนนไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา มาจาก 4 เส้นทางหลัก ที่จะมีทั้งจากพรรคการเมืองและภาคประชาชน คือ 

1.พรรคพลังประชารัฐ ที่มีส.ส.ในมือเกินหนึ่งร้อยคน จึงทำให้สามารถยื่นญัตติขอแก้ไขรธน.ได้เองโดยไม่ต้องพึ่งเสียงส.ส.พรรคอื่น เลยยื่นญัตติขอแก้ไขรธน.เปิดหัวไปแล้วตั้งแต่ 7 เมษายนที่ผ่านมา 

2.พรรคร่วมรัฐบาลสามพรรคจับมือกันคือ ประชาธิปัตย์ -ภูมิใจไทย-ชาติไทยพัฒนา ที่ โดยเบื้องต้นจะเสนอแก้ไขประเด็นหลักๆ เช่น แก้ไขมาตรา 256 โดยตัดเรื่องเสียงโหวตเห็นชอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ต้องมี ส.ว.เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า  1 ใน 3 หรือ 84 เสียงออกไป เพื่อทำให้การแก้ไขรธน.ง่ายขึ้น  

3.พรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่นำโดยเพื่อไทยและก้าวไกล ซึ่งเบื้องต้น ผลการหารือแกนนำฝ่ายค้านสัปดาห์ที่ผ่านมา บอกแค่เพียงว่า จะเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบคู่ขนานคือแก้ทั้งรายมาตราและเสนอแก้ทั้งฉบับ แต่รายละเอียดยังไม่มีออกมา แต่หลักๆ ก็คาดเดาได้ไม่ยาก เช่น จะเสนอแก้ไขให้ตัดอำนาจส.ว.โหวตนายกฯ ออกไป เป็นต้น  

4.การยื่นขอแก้ไขรัฐธรรมนูญของภาคประชาชน ในนามกลุ่ม “Re-Solution” โดยมีหัวหอกหลักคือ ปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า-อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ที่ชูการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นหลักๆ เช่น โละทิ้งวุฒิสภา ให้เหลือแต่สภาฯ หรือระบบสภาเดี่ยว เป็นต้น โดยจะมีการล่ารายชื่อประชาชนให้ได้หนึ่งล้านรายชื่อเพื่อเสนอแก้ไขรธน.

เมื่อประเมินจากข้อเท็จจริงทางการเมือง โดยเฉพาะ “เสียงโหวตในรัฐสภา” ทั้งจำนวนเสียงส.ส.และส.ว.ในรัฐสภาชุดปัจจุบัน ที่จะเป็นตัวชี้ขาดว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของกลุ่มไหน จาก 4 กลุ่มหลักดังกล่าว จะฝ่าไปถึงเส้นชัย     ประมวลดูแล้ว ทุกฝ่ายต่างเห็นตรงกัน ร่างแก้ไขรธน.รายมาตราของ “พลังประชารัฐ” มีโอกาสมากที่สุด เพราะด้วยจำนวนเสียงส.ส.ประมาณร่วมๆ หนึ่งร้อยยี่สิบคน ผสมกับเสียงส.ว.250 เสียง ที่ประสานได้-กดปุ่มสั่งได้ ผ่านเครือข่ายสภาสูง ที่แนบชิดกับแกนนำพลังประชารัฐ โดยเฉพาะเมื่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราของพลังประชารัฐ ไม่ได้เสนอแก้ไขอะไรที่จะไปกระทบกับสถานภาพและอำนาจของส.ว.แต่อย่างใด “ไม่มีการเสนอโละทิ้งส.ว. ชุดปัจจุบัน หรือตัดอำนาจส.ว.ในการโหวตนายกฯ”  

ด้วยเหตุนี้ หากพรรคพลังประชารัฐ ส่งสัญญาณไปยัง สภาสูง  ก็คาดว่าจะมี ส.ว.อย่างน้อยก็ไม่ต่ำกว่า 220-230 เสียง จะเอาด้วยกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชารัฐ 

ซึ่งแค่เสียงส.ส.พลังประชารัฐกับส.ว.รวมกัน แค่นี้ ก็เฉียดๆ 350 เสียงแล้ว แล้วไหนยังจะมีพวกส.ส.พรรครัฐบาล ขนาดกลาง-ขนาดเล็ก ก็พร้อมกดปุ่มเอาด้วยกับพลังประชารัฐ-ส.ว.อีกหลายสิบเสียง ทำให้ พลังประชารัฐ แทบไม่ต้องง้อเสียง ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ อย่าง ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย-ชาติไทยพัฒนา แต่อย่างใด 

โดยแม้ร่างแก้ไขรธน.ของพลังประชารัฐ ที่เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ 5 ประเด็น 13 มาตรา จะดูเหมือนเยอะ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เป้าหมายที่พลังประชารัฐ ต้องการให้เกิดผลมากที่สุดคือ “การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราเพื่อเปลี่ยนระบบการเลือกตั้ง ที่ใช้บัตรใบเดียวในปัจจุบัน  เพื่อแก้ไขให้กลับไปใช้ระบบเลือกตั้งแบบบัตรเลือกตั้งสองใบ” คือเลือกส.ส.เขตและบัญชีรายชื่อ โดยให้คะแนนเสียงของสองบัตรแยกออกจากกันโดยสิ้นเชิง  โดยพรรคการเมืองที่จะได้ส.ส.บัญชีรายชื่อ ต้องส่งผู้สมัครส.ส.เขตไม่น้อยกว่า 100 เขต  

เหตุที่พลังประชารัฐ เทน้ำหนักเรื่องนี้มากเป็นพิเศษ ไม่มีอะไรซับซ้อน เพราะเกิดจากแกนนำพรรคประเมินแล้วว่า เลือกตั้งรอบหน้า พลังประชารัฐ จะได้ส.ส.เขตมากขึ้น จากที่เคยได้ 97 เสียงตอนเลือกตั้งปี 2562 รอบหน้า มีสิทธิ์มากที่จะแตะถึงระดับ 130 เสียงขึ้นไป บนเงื่อนไขคือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังไม่วางมือทางการเมือง  และกระแสรัฐบาลกับกระแสนิยมในตัวบิ๊กตู่ ยังขายได้ ดังนั้น หากยังคงใช้ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ที่เคยใช้ตอนเลือกตั้งปี 2562 ที่ใช้บัตรใบเดียวแล้ว นำคะแนนเลือกตั้งทั้งหมดมาคำนวณหาจำนวนส.ส.ที่แต่ละพรรคการเมืองพึงมี     หากใช้สูตรนี้ต่อไป จะทำให้พลังประชารัฐ จะได้แต่ส.ส.เขต แต่จะไม่ได้ส.ส.บัญชีรายชื่อเลยแม้แต่คนเดียวก็ได้ เหมือนกับที่พรรคเพื่อไทยเจอมาแล้วตอนเลือกตั้งปี 2562 ที่ได้ส.ส.เขต 136 คน จนเกินจำนวนส.ส.ที่พึงมี ทำให้เพื่อไทยไม่ได้ส.ส.บัญชีรายชื่อแม้แต่คนเดียว 

พลังประชารัฐ จึงต้องเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นนี้ เพราะไม่เช่นนั้น พลังประชารัฐ มีโอกาสไม่ได้ส.ส.บัญชีรายชื่อแม้แต่คนเดียว แต่หากใช้ระบบเลือกตั้งสองใบ โดยที่ ในยามนี้ ต้องถือว่า พลังประชารัฐ มีความพร้อมมากที่สุดหากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น อาจทำให้ พรรคได้ส.ส.ทั้งส.ส.เขตและปาร์ตี้ลิสต์ ในระดับขั้นต่ำไม่ต่ำกว่า 170-180 เสียง  มันก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ ส่วนประเด็นอื่นๆ ที่พลังประชารัฐ เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญพ่วงไปด้วย ดูแล้ว เป็นแค่น้ำจิ้ม เท่านั้น ไม่ได้หวังผลจริงจัง 

โดยเรื่องแก้ไขระบบเลือกตั้ง ว่ากันตามสภาพ ก็เป็นไปได้ที่พรรคอื่นๆ ก็จะเอาด้วย เพราะอย่าง “ประชาธิปัตย์” เอง หากใช้บัตรเลือกตั้งสองใบ ก็ทำให้พรรคอาจได้ส.ส.มากขึ้น 

ยกตัวอย่างง่ายๆ ในพื้นที่ “กรุงเทพมหานคร” หากสุดท้าย ถ้ามีการเลือกตั้งเกิดขึ้น แล้วกระแสพรรคประชาธิปัตย์ในกรุงเทพฯ ยังไม่กระเตื้อง ก็มีสิทธิ์ที่ประชาธิปัตย์ อาจไม่ได้ส.ส.เขต อีกเหมือนตอนเลือกตั้งปี 2562 ที่ประชาธิปัตย์สูญพันธ์ หรือหากกระแสพรรคดีขึ้นมาบ้าง ก็อาจได้ส.ส.เขตกลับมาระดับหนึ่ง เช่น 4-5 ที่นั่ง แต่หากใช้ระบบบัตรสองใบ ผลคือทำให้คนกทม. ที่ก็มีจำนวนมากที่เป็นแฟนคลับประชาธิปัตย์ แต่รอบที่แล้ว หันไปเลือกพลังประชารัฐ ก็มีทางเลือกมากขึ้น คือส.ส.เขตอาจเลือก พลังประชารัฐ แต่บัตรปาร์ตี้ลิสต์ ก็กาเลือกประชาธิปัตย์ เป็นต้น 

ด้วยเหตุนี้ ประชาธิปัตย์หรือแม้แต่เพื่อไทย ก็น่าจะสนับสนุนการแก้ระบบเลือกตั้งตามที่พลังประชารัฐเสนอ เพียงแต่อาจจะรักษาท่าที ไว้บ้าง แต่ลึกๆ ก็เชียร์อยู่ และอาจร่วมเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นนี้ไปด้วยก็ได้     แม้หลายพรรค จะรู้ดีว่า หากแก้ระบบเลือกตั้งออกมาตามที่ พลังประชารัฐ ต้องการผลก็คือ พลังประชารัฐ จะเป็นพรรคที่ได้เปรียบมากที่สุดในการเลือกตั้ง แต่หลายพรรค ก็ต้องยอม แล้วไปรอวัดกันในตอนเลือกตั้ง

มองไปข้างหน้า แลเห็นชัด เป็นไปได้สูงที่เลือกตั้งรอบหน้า จะกลับมาใช้ “บัตรเลือกตั้งสองใบ” อีกครั้ง ส่วนหากเกิดขึ้นแล้ว พรรคพลังประชารัฐ จะชนะเลือกตั้งแลนด์สไลด์แบบที่ ไทยรักไทย-ทักษิณ ชินวัตร เคยทำได้แบบตอนเลือกตั้ง 2548 หรือไม่ บอกได้คำเดียว ก็อยู่ที่ กระแสบิ๊กตู่ ถึงตอนนั้น จะขายได้อีกหรือไม่ เพราะหากขายไม่ได้ หรือบิ๊กตู่วางมือการเมือง ผลอาจสวิงออกมาอีกแบบ ก็เป็นได้ 

แสดงความเห็น