ยธ. ถก แนวทางนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ เชื่อตอบโจทย์ ลดคนล้นคุก สร้างงานสร้างเงิน


กระทรวงยุติธรรม ถก หอการค้า-สภาอุตสาหกรรม สมุทรสาคร หารือแนวทางนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ “ธนวัชร” เชื่อตอบโจทย์ ลดคนล้นคุก สร้างงานสร้างเงินไม่ให้กลับไปทำผิดซ้ำ ลดใช้แรงงานต่างด้าวกันเงินไหลออกนอกประเทศ “โฆสิต”ชี้เปลี่ยนภาระให้เป็นพลัง คืนคนดีสู่สังคมอย่างยั่งยืน

ที่ห้องประชุม หอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร นายธนวัชร นิติกาญจนา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย นายวิทยา สุริยะวงศ์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม และนายโฆสิต สุวินิจจิต ประธานอนุกรรมการศึกษาแนวทางการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ เข้าหารือแนวทางในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์กับ นางอำไพ หาญไกรวิไลย์ ประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร นายอภิสิทธิ์ เตชะนิธิสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.สมุทรสาคร  นายอภิวัฒน์ วังวิวัฒน์ อดีตประธานสภาอุตสาหกรรม จ.สมุทรสาคร พร้อมทั้งกรรมการสภา และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง 

นายโฆสิต กล่าวว่า แนวทางการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ มาจากความคิดของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ที่ต้องการแก้ปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ และจากสถิติผู้ที่พ้นโทษไปแล้ว 35% จะกลับมาทำความผิดซ้ำอีก เพราะเมื่อออกไปเขาไม่มีงานทำ หางานทำได้ยาก เพราะส่วนใหญ่สังคมยังไม่ยอมรับผู้ที่เคยติดคุก รวมถึง พ.ร.บ.วิชาชีพ 25 ฉบับ มีข้อกำหนดห้ามรับคนที่เคยต้องโทษติดคุกเข้าทำงาน ซึ่งตรงนี้กระทรวงยุติธรรมจึงมีแนวความคิดในการสร้างนิคมอุตสาหกรรมขึ้นมา เพื่อรองรับผู้ต้องขังที่พ้นโทษ และนักโทษชั้นดีเข้าทำงาน โดยจะแบ่งเป็น 2 โซน คือ โซนเรือนจำสำหรับนักโทษชั้นดี และโซนธรรมดาสำหรับผู้พ้นโทษทั้งใหม่และเก่า โดยนอกจากจะลดความแออัดในเรือนจำแล้ว ยังสามารถช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน สร้างผู้ประกอบการรายใหม่ และเป็นการติดตามดูแล ป้องกันไม่ให้คนที่เคยทำผิดกลับเข้าสู่วงจรเดิม ซึ่งเป็นการเปลี่ยนภาระให้เป็นพลัง คืนคนดีสู่สังคมอย่างยั่งยืน

ด้านนายธนวัชร ให้สัมภาษณ์ ภายหลังการหารือว่า ในที่ประชุมส่วนใหญ่เห็นด้วยกับโครงการนี้ แต่ยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับข้อจำกัดทางกฎหมายในการสร้างนิคมอุตสาหกรรม โดยการที่เราเลือกพื้นที่ จ.สมุทรสาคร เป็นหนึ่งในตัวเลือกในการสร้างนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์นั้น เพราะที่นี่มีโรงงานอุตสาหกรรมมากมาย และยังมีการทำการประมงขนาดใหญ่ มีตลาดที่ต้องการแรงงานจำนวนมาก และส่วนใหญ่เป็นแรงงานชาวเมียนมา เมื่อเขาทำงานได้เงินมาก็ส่งกลับบ้าน ทำให้เงินไหลออกนอกประเทศ ประกอบกับช่วงนี้เป็นวิกฤตโควิด ทำให้แรงงานต่างชาติเข้ามาไม่ได้ เกิดการขาดแคลนแรงงาน ดังนั้นเมื่อกรมราชทัณฑ์ มีผู้ต้องขังจำนวนมากที่ได้รับการฝึกอาชีพ มีความชำนาญ จึงน่าจะใช้โอกาสนี้ในการสร้างงานให้กับพวกเขา มีงาน มีเงิน จะได้ไม่ต้องกลับไปทำความผิดซ้ำอีก

“โครงนี้หากทำสำเร็จ จะเป็นการสร้างงาน สร้างเงินให้กับผู้ต้องขังและผู้พ้นโทษ ทำให้พวกเขาไม่กลับไปทำความผิดซ้ำ ลดคนที่จะต้องโทษถูกจับกลับไปติดคุก ถือเป็นการตอบโจทย์ในนโยบาย ลดความแออัดในเรือนจำ และการคืนคนดีสู่สังคมได้ และยังช่วยให้ผู้ประกอบการต่างๆมีแรงงานที่คุณภาพ ที่ผ่านมาราชทัณฑ์เป็นแหล่งแรงงานฝีมือคุณภาพดี เพราะมีการฝึกวิชาชีพหลายอย่าง แต่เมื่อพวกเขาออกมามักไม่ได้รับโอกาส ดังนั้นนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์จึงเป็นที่ทำให้พวกเขาได้โชว์ฝีมือ แต่ทั้งนี้ข้อมูลในการหารือทั้งหมด และข้อเสนอแนะต่างๆเราจะนำกลับไปหารือกันที่กระทรวงเพื่อหาข้อสรุปอีกครั้งหนึ่ง” นายธนวัชร กล่าว

แสดงความเห็น