รมว.ยุติธรรม เปิดโอกาสรองอธิบดี โชว์ศักยภาพ วิสัยทัศน์ ประชุมแทนอธิบดี แนะต้องช่วยกันทำงานให้ประชาชนและสังคม เชื่อ ขยันมีโอกาสเติบโต
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วยนายวิศิษฎ์ วิศิษฎ์สรอรรถ ปลัดกระทรวง ร่วมเป็นประธานการประชุมผู้บริหารกระทรวง โดยในที่ประชุมวันนี้ เป็นครั้งแรกที่ให้รองอธิบดีของทุกกรมมาประชุมแทนอธิบดี จนถึง 30 กันยายน
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ขอให้รองอธิบดีทุกคนกล้าพูดกล้าแสดงวิสัยทัศน์วันนึงทุกท่านทุกคนมีโอกาสเป็นอธิบดีเช่นกัน ต้องเรียนรู้การบริหารงาน ดูภาพรวมของกรมให้ออกว่า ภารกิจใดเป็นเรื่องของสังคมและประชาชน ที่กระทรวงยุติธรรมจะช่วยแก้ไขและพัฒนา การวางแผนงานต้องละเอียดรอบคอบไม่ใช่ทำงานไปแล้วต้องมาสะดุดจนงานนั้นล่าช้า ขอให้ทุกคนตั้งใจทำหน้าที่ เพราะผมให้โอกาสกับทุกคนที่ขยันทำงาน
เมื่อเข้าสู่วาระการประชุมได้มีการรายงานความคืบหน้าจากกรมต่างๆ อาทิ เรื่องการจัดทำร่างกฎหมาย Value based confiscation ในการยึดทรัพย์ยาเสพติด ตามมูลค่า นอกจากนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษยังได้สรุปการดำเนินงาน เช่น การรับคดีอาหารเสริมอ้างสรรพคุณเกินจริงเป็นคดีพิเศษ รวมถึงการชี้แจงต่อสังคมกรณี “วันเฉลิม” และการตรวจค้นบริษัทลักลอบนำเข้าเนื้อวัวหรือซากวัวจากต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมปศุสัตว์ เป็นต้น
นอกจากนี้ นายสมศักดิ์ ยังเปิดเผยว่าตนได้ตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว หรือ Electronic Monitoring : EM เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารความจุผู้ต้องขังและการควบคุมผู้ต้องขังออกทำงานนอกเรือนจำ โดยมีนายวิทยา สุริยะวงค์ รองปลัดกระทรวง เป็นประธานอนุกรรมการ นายวิตถวัลย์ สุนทรขจิต อธิบดีกรมคุมประพฤติ เป็นรองอนุกรรมาธิการ โดยอำนาจหน้าที่ของกรรมการชุดนี้ คือ
1. ศึกษากระบวนการ รูปแบบ การบริหารจัดการ ตลอดจนความท้าทายที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว Electronic Monitoring : EM
2.นำข้อมูลที่ได้จากการศึกษาในข้อ 1. มาวิเคราะห์ ประมวลผล กำหนดรูปแบบดำเนินการและวางแนวทางการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวในสถานการณ์ต่างๆ โดยคำนึงถึงการลดความแออัดของผู้ต้องขังในเรือนจำการบริหารความจุผู้ต้องขัง ประเภทฐานความผิด พฤติกรรมขณะอยู่ในเรือนจำของกลุ่มเป้าหมาย ประสิทธิภาพและความคุ้มค่าของการใช้อุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์โดยความร่วมมือระหว่างกรมคุมประพฤติและกรมราชทัณฑ์
3. จัดทำแผนบริหารจัดการอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว ด้านความคุ้มค่า การคิดต้นทุนการใช้งาน การคาดการณ์และสนับสนุนงบประมาณต่อการดำเนินงานในอนาคต รวมถึงการกำหนดหลักเกณฑ์ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว การใส่และถอดอุปกรณ์ รวมถึงการกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ถูกคุมประพฤติรับผิดชอบค่าใช้จ่ายบางส่วนจากการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว เพื่อกำหนดแผนดำเนินงานและการจัดสรรงบประมาณต่อไป 4. นำเสนอหลักเกณฑ์กระบวนการที่สอดคล้องกับหลักกฎหมายในการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงกฎ ระเบียบ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ตามจากนี้คณะอนุกรรมการชุดนี้ต้องไปขอศาลอาญาเพื่อเข้าไปศึกษา ถึงข้อดี ข้อเสีย ระบบการติดตามตัว ว่าเป็นอย่างไร เพราะเมื่อเราเอามาใช้จริงจะได้ตัดปัญหาที่ขัดข้องออกไป
“ผมให้ความสำคัญในเรื่องนี้มาก เพราะถือเป็นนโยบายของผมที่ต้องการลดความแออัดในเรือนจำ ผมไม่ต้องการสร้างเรือนจำเพิ่มเพื่อลดความแออัด แต่ผมจะทำวิธีนี้ เพื่อให้คนกลับสู่สังคมและมีงานทำตามชีวิตปกติ และผมต้องการลดรายจ่ายในการดูแลผู้ต้องขังลง เพื่อจะได้นำเงินตรงส่วนนี้ไปทำประโยชน์ด้านอื่น” รมว.ยุติธรรม กล่าว