รมว.ยธ. แจงกมธ.กม. ปลดล็อกกระท่อมออกบัญชียาเสพติด ชี้มีประโยชน์ทางการแพทย์

รมว.ยุติธรรม ชี้ พืชกระท่อมเป็นทางเลือกใหม่เกษตรกรปลูกขายส่งออก แต่ต้องมีกลไกควบคุม เชื่อเดือนหน้าส่งร่างกม.เข้าสภาพิจารณา

ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ที่มีนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานกมธ.ฯ เป็นประธานในการประชุม โดยที่ประชุมกมธ.ได้เชิญ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม เข้าชี้แจง การปรับสถานะพืชกระท่อมออกจากยาเสพติด ตามร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. …

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า เราพยายามทำงานเพื่อเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน การปรับพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดนั้น เรื่องนี้ตนได้มีโอกาสสัมผัสกับประชาชนโดยเฉพาะคนภาคใต้ที่หวังจะใช้เป็นประโยชน์ได้ พืชกระท่อมมีสารไมตราเจนีน ที่เป็นสารทดแทนมอร์ฟีน และสารเซเว่นไฮดรอกซี ที่สามารถเพิ่มกำลังให้ผู้บริโภค ซึ่งจะสามารถเป็นทางเลือกของเกษตรกรและสามารถส่งออกได้ ถ้าหากศึกษาและทำอย่างถูกต้องผ่านการควบคุมอย่างมีคุณภาพ ประเทศและประชาชนจะได้ประโยชน์อย่างมาก แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมา มีการสนับสนุนให้มีการปลูกยางพาราทั่วประเทศ โดยเฉพาะภาคอีสาน จนทำให้มีการปลูกมากเกินไปและไม่ได้มีการศึกษาจนเกิดปัญหา ดังนั้นในพืชกระท่อมนี้ตนจึงพยายามทำให้เกิดความชัดเจนในการเพาะปลูก ต้องมีการศึกษาความต้องการของตลาดด้วย เพื่อให้กลไกต่างๆไม่เสียหายจนราคาตกต่ำ

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า บางประเทศมีการนำเข้าพืชกระท่อม แต่ก็ยังมีกฎหมายควบคุม ดังนั้นหากเราจะทำการส่งออกก็ต้องมีการศึกษากฎหมายของประเทศต่างๆควบคู่ไปด้วยอย่างละเอียด ในอดีตตามตำราแพทย์แผนไทยมีการนำพืชกระท่อมไปใช้เป็นยารักษาโรคได้หลายอย่าง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งการแพทย์และเกษตรกรผู้ปลูก ทั้งนี้จากกระบวนการนำพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดนั้น ทางกระทรวงยุติธรรมได้เริ่มการยกร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ตั้งแต่เดือน ม.ค. 2563 และเร่งดำเนินการเรื่อยมาจนผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุม คณะรัฐมนตรี(ครม.) และส่งต่อให้ทางคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาตั้งแต่วันที่ 11 มี.ค. แต่ด้วยสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ทำให้การพิจารณาเป็นไปได้ช้า ซึ่งขณะนี้ร่างดังกล่าวใกล้เสร็จสมบูรณ์แล้ว คาดว่าภายในเดือนหน้าจะสามารถนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาได้ โดยขณะนี้เราได้มีการเตรียมนำร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนควบคู่ไปด้วยด้วย

“กระท่อมถูกระบุเป็นยาเสพติดตั้งแต่ พ.ศ.2486 เพราะรัฐบาลขณะนั้นต้องการเก็บภาษีฝิ่น เลยระงับไม่ให้คนเสพกระท่อม เป็นเหตุผลทางการค้าและการเมือง ซึ่งจากผลการศึกษาโทษของกระท่อมมีน้อยมาก แต่กลับมีประโยชน์ทางการแพทย์หลายอย่าง และเราสามารถนำไปปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจได้ นี่จึงเป็นเหตุผลให้ต้องปรับกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติด” นายสมศักดิ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากรับฟังการชี้แจงของนายสมศักดิ์ กมธ.ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับแนวทางการปลดล็อกกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติด แต่ยังมีข้อสงสัยว่า สามารถที่จะนำกฎหมายกระท่อมไปรวมกับกฎหมายปลดล็อกกัญชาได้หรือไม่ และจะมีแนวทางอย่างไรให้ประชาชนได้ประโยชน์จริงๆ เพราะเกรงว่าประชาชนธรรมดาจะเข้าไม่ถึง กลายเป็นธุรกิจเฉพาะกลุ่ม 

โดยนายสมศักดิ์ ชี้แจงว่า กระท่อมถือเป็นพืชที่มีผลเสียน้อยมาก น้อยกว่ากัญชาหลายเท่าตัว เราควรจึงจะต้องเริ่มจากพืชที่มีผลน้อยที่สุดก่อน ซึ่งแม้จะมีผลเสียน้อยก็ยังปลดล็อกได้ยาก ทั้งๆที่ตนพยายามติดตามอย่างใกล้ชิด ซึ่งหากนำไปรวมกับกัญชาคงจะทำได้ยากกว่านี้อีก ดังนั้นเราควรเริ่มที่กระท่อมอย่างเดียวก่อน ส่วนเรื่องมาตรการที่จะทำให้ประชาชนได้ประโยชน์ เราได้มีการศึกษากลไกตลาดอย่างรอบครอบ ซึ่งจะมาตรการต่างๆที่ออกมาให้ประชาชนได้ประโยชน์อย่างแท้จริงแน่นอน

แสดงความเห็น