“สมศักดิ์” เร่งประชุมแก้ปัญหาพืชกระท่อม แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ไม่ได้ หลังติดระเบียบ อย. 

“สมศักดิ์” เร่งประชุมแก้ปัญหาพืชกระท่อม แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ไม่ได้ หลังติดระเบียบ อย. ชาวใต้-ผู้ประกอบการ ร้องให้ช่วยขับเคลื่อน ขออนุกรรมการแก้ปัญหา สรุปผลใน 7 วัน หลัง อย. ยังห่วงความปลอดภัย-ไม่มีข้อมูลการกินใบกระท่อม แนะ ทำข้อเปรียบเทียบ “กัญชา-กระท่อม” เพื่อเป็นแนวทางแก้ปัญหา

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการเร่งรัดแก้ไขปัญหาการไม่สามารถใช้ประโยชน์จากพืชกระท่อมเป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์สมุนไพร ยา อาหาร และเครื่องสำอาง โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ นายมานะ ศิริพิทยาวัฒน์ รองเลขาธิการ ป.ป.ส. เภสัชกร วราวุธ เสริมสินสิริ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ผศ.นพ.วรวิทย์ วาณิชย์สุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สถาบันอาหาร เข้าร่วม ที่กระทรวงยุติธรรม 

โดยนายสมศักดิ์ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ ตนได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ประกอบการจำนวนมากว่า ไม่สามารถนำพืชกระท่อม มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้ เนื่องจากติดระเบียบของ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ทำให้เกิดข้อเปรียบเทียบ ระหว่าง กัญชา กับกระท่อม ที่ขณะนี้กัญชา ซึ่งมาทีหลัง แต่สามารถทำผลิตภัณฑ์ได้จำนวนมากแล้ว อย่างเครื่องดื่ม ทำให้ผู้ประกอบการ เกิดความสับสน ที่ไม่สามารถต่อยอดพืชกระท่อมได้ ตนจึงอยากให้ที่ประชุม ช่วยกันทำข้อเปรียบเทียบระหว่างกระท่อม กับ กัญชา ว่า ทำไมถึงทำเป็นผลิตภัณฑ์ ได้ไม่เหมือนกัน และอันไหน ทำยากง่ายกว่ากัน

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า จากที่ตนดูปัญหาการขอขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สมุนไพร ยา อาหาร และเครื่องสำอาง ที่ผลิตจากพืชกระท่อม ซึ่งต้องขออนุญาตจาก อย. ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขนั้น ทำให้มีขั้นตอนการขอจำนวนมาก เพราะมีเอกสารกว่า 55 รายการ ซึ่งต้องใช้เวลานานในการทำข้อมูล ทำให้เป็นภาระกับผู้ประกอบการ และไม่ได้มุ่งเน้นช่วยเกษตรกร รวมถึงทำให้เกิดข้อสงสัยว่า ทำไมกระท่อม จึงถูกจัดอยู่ในหมวดอาหารใหม่ ที่ต้องมีเรื่องเอกสารจำนวนมาก แต่กัญชา กลับไม่ได้อยู่ในหมวดอาหารใหม่

“เราต้องช่วยกันทำให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพราะไม่อย่างนั้น สังคมจะเกิดคำถามตามมาว่า ทำไมกัญชา ไม่ต้องเป็นอาหารใหม่ ที่ต้องใช้เอกสารจำนวนมากในการขออนุญาต และมาทีหลังกระท่อม แต่มีข้อมูลอยู่แล้ว เราต้องทำความชัดเจนให้สังคมรับรู้ จะได้ไม่เกิดข้อสงสัย เพราะประชาชน คงจะตั้งคำถามมากว่า ชาวใต้กินกระท่อมมาหลายสิบปี ไม่มีใครเจ็บป่วยล้มตาย ทำไมถึงบอกไม่มีข้อมูล และห่วงเรื่องความปลอดภัย ดังนั้น ผมขอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งหาข้อสรุปภายใน 7 วัน เพื่อสร้างความชัดเจนให้กับประชาชน รวมถึงหากทำได้เร็ว เราก็จะได้แย่งชิงตลาดแปรรูปกระท่อมได้ทัน จึงขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันสนับสนุนข้อมูลกันอย่างเต็มที่” รมว.ยุติธรรม กล่าว 

ขณะที่ เภสัชกร วราวุธ กล่าวว่า อย. ชั่งน้ำหนักระหว่างความปลอดภัย กับ สนับสนุนผู้ประกอบการ ซึ่งต้องเอากลางๆ โดยหลักเกณฑ์ที่นำมาใช้ ขอยืนยันว่า ไม่ได้คิดเอง ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์อาเซียน ที่ใช้กับทุกสมุนไพร โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ ส่วนกระท่อม ที่เกิดข้อสงสัยในขั้นตอนการขออนุญาตนั้น เป็นเพราะกระท่อม เราไม่เคยกินใบ ซึ่งมีแค่การเคี้ยวเท่านั้น แต่การจะทำเป็นผลิตภัณฑ์ ต้องมีการบดแปรรูป แล้วกินเข้าไป ทำให้ อย. ต้องประเมินถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญ เนื่องจาก เรายังไม่มีข้อมูลทั้งหมด จึงมองว่า อาหาร และเครื่องสำอาง ที่ผลิตจากกระท่อม เป็นของใหม่ ดังนั้น ต้องใช้หลักฐานจำนวนมากในการขออนุญาต

เภสัชกร วราวุธ กล่าวอีกว่า ปัญหาหนักตอนนี้ คือเรื่องข้อมูล ดังนั้น ต้องช่วยกันรวบรวมข้อมูล โดยตั้งทีมขึ้นมาสืบค้น ของทั้งไทย และต่างประเทศ เพื่อที่จะได้มีข้อมูลที่มากพอ ส่วนข้อเสนอให้ผ่อนปรนหลักเกณฑ์ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถขับเคลื่อนพืชกระท่อมได้นั้น ขอยืนยันว่า เราไม่อยากพาประชาชนไปเสี่ยง โดยเราต้องช่วยกันพาผู้ประกอบการให้ไปถึงเกณฑ์ ซึ่งถ้าผ่านเรื่องความปลอดภัยไปได้ ก็จะสามารถมีผลิตภัณฑ์ออกมาได้จำนวนมากแบบปลอดภัย

แสดงความเห็น