“สมศักดิ์” ร่วมยินดีปลดล็อกกระท่อม ครบ 2 ปี คาใจ ดันเป็นผลิตภัณฑ์พืชกระท่อมไม่ได้ 

“สมศักดิ์” ร่วมยินดีปลดล็อกกระท่อม ครบ 2 ปี แต่คาใจ ผลักดันเป็นผลิตภัณฑ์พืชกระท่อมไม่ได้ เหตุ อย.กำหนดสารไมทราไจนีนไว้ต่ำ ผู้ประกอบการทำขายไม่ได้ เผย ข่าวดี ป.ป.ส.ทุ่มงบ 2 ล้าน ทดลองในหนู ธ.ค.นี้สำเร็จ เพิ่มมาตรฐานกลางใหม่ได้ ชี้ ตลาดกระท่อมโลกสูงถึง 1.4 ล้านล้านบาท เตรียมดัน “ฝิ่น-เห็ดขี้ควาย”ต่อ หวังช่วยเกษตรกรช่วงหน้าแล้ง “พิเชษฐ์”มั่นใจ ถ้าเพื่อไทย มีก.เกษตร พร้อมเปลี่ยน รมว.สธ. พืชกระท่อม อนาคตไกลแน่นอน 

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้เป็นประธานเปิดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อสร้างการรับรู้ความคืบหน้า การส่งเสริมพืชกระท่อม ในเชิงเศรษฐกิจพื้นที่จังหวัดเชียงราย ที่จัดขึ้นโดยสำนักงาน ป.ป.ส. โดยมี นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการ ป.ป.ส. นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ  ส.ส.บัญชีรายชื่อ และประธานยุทธศาสตร์การเกษตร พรรคเพื่อไทย พร้อมด้วย  ส.ส.พรรคเพื่อไทย จำนวน 12 คน และประชาชนกว่า 500 คน เข้าร่วม ที่มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย 

โดยนายวิชัย กล่าวรายงานว่า วันที่ 24 สิงหาคม 2564 เป็นวันปลดล็อกพืชกระท่อม ออกจากบัญชียาเสพติด ซึ่งกำลังจะครบรอบ 2 ปี ที่ได้ปลดล็อกพืชกระท่อม ให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์และสร้างอาชีพอย่างเต็มที่ โดยนโยบายการปลดล็อกพืชกระท่อม ก็มาจากนายสมศักดิ์ เทพสุทิน ขณะดำรงตำแหน่ง รมว.ยุติธรรม จึงทำให้ประชาชนได้เกิดอาชีพใหม่ๆ รวมถึงเป็นผู้ริเริ่มให้ ป.ป.ส.ทดลองปลูกฝิ่น และเห็ดขี้ควาย เพราะจากการศึกษาพบว่า ประเทศไทยยังต้องนำเข้า เพื่อผลิตมอร์ฟีน โดยหากปลูกในประเทศได้ ก็จะลดการนำเข้าจากต่างประเทศได้ ซึ่งขณะนี้ การทดลองปลูกก็มีความคืบหน้าเป็นลำดับแล้ว

ขณะที่ นายสมศักดิ์ ในฐานะอดีตประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติพืชกระท่อม ปาฐกถาพิเศษ “พืชกระท่อมไทย วิถีไทย เพื่อเศรษฐกิจไทย” ว่า พืชกระท่อม ได้ถูกปลกล็อก เมื่อวันที่ 24 ส.ค.64 ซึ่งผ่านมาแล้ว 2 ปี แต่ตนก็ยังเห็นพี่น้องประชาชน เริ่มอึดอัดกับพืชกระท่อมว่า ทำไมราคาตก และขายไม่ได้ โดยตนก็คาดการณ์ไว้ก่อนแล้วว่า จะไม่มีปัญหาเลย ถ้าทำทุกอย่างเรียบร้อย ในการกำหนดสารไมทราไจนีน ในผลิตภัณฑ์พืชกระท่อมให้มีมาตรฐานกลาง แต่ที่ผ่านมา อย.ก็กำหนดให้ใช้สารไมทราไจนีนในผลิตภัณฑ์พืชกระท่อมที่ต่ำมาก เพียง 0.2 มิลลิกรัมต่อหน่วยเท่านั้น ทั้งที่ในใบพืชกระท่อม มีสารไมทราไจนีนถึง 1.2-1.8 มิลลิกรัม ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามาถทำผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดได้ 

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า เมื่อเจอปัญหา ป.ป.ส.จึงต้องรีบแก้ปัญหา ถึงแม้จะไม่ใช่อำนาจโดยตรงของ ป.ป.ส. แต่เราก็มีความจริงใจกับพี่น้องประชาชน ที่ต้องการให้มีรายได้จากการเพาะปลูกพืชกระท่อม จึงดำเนินการทดลองในหนูแรท เพื่อหาค่ามาตรฐานกลาง จะได้ทำเป็นผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดได้ ซึ่ง ป.ป.ส.เป็นผู้ออกทุนให้แล้วกว่า 2 ล้านบาท โดยผลทดลองเบื้องต้น ถือว่า ออกมาดีมาก ทำให้ภายในเดือนธันวาคมนี้ จะสามารถทำรายงานฉบับสมบูรณ์ เพื่อเสนอต่อศูนย์ประเมินความเสี่ยงแห่งประเทศไทย และ สำนักงาน อย. เพื่อกำหนดค่ามาตรฐานกลางใหม่ได้ ดังนั้น ขอผู้ประกอบการไม่ต้องรีบ รอผลทดลอง ก็จะทำให้สารไมทราไจนีนในผลิตภัณฑ์สูงขึ้นแล้ว ถึงแม้ขณะนี้ จะมีแล้ว 3 บริษัท ที่ได้ อย.ส่งออกต่างประเทศแล้ว 

“ราคาพืชกระท่อม ถือว่า ยังไม่ได้เสียหายอะไร เพราะพี่น้องคนใต้ มองว่า อีก 5 ปี พืชกระท่อม จะไปทั่วโลก เพราะสามารถทำเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย โดยมีนักวิชาการ ประเมินมูลค่ากระท่อมทั้งหมดสูงถึง 1.459 ล้านล้านบาท หากเจาะไปที่สหรัฐอเมริกา ที่บริโภคกระท่อมมากที่สุด ก็มีมูลค่าสูงถึงปีละ 4 หมื่นล้านบาท ดังนั้น จากนี้ ผมก็ขอให้ทุกคนช่วยกันปกป้องพืชกระท่อม อย่าปล่อยให้มีการนำไปผสมกินกับอย่างอื่น จะทำให้พืชกระท่อมเสียหาย ซึ่งที่ผ่านมา ป.ป.ส.ทำงานด้วยใจ และขณะนี้ ก็กำลังทดลองปลูกเห็ดขี้ควาย เพื่อจะได้เป็นทางเลือกให้กับพี่น้องเกษตรกร เนื่องจากในช่วงหน้าแล้ง เราจะปลูกข้าวอย่างเดียวไม่ได้อีกแล้ว โดยเมื่อวันที่ 8 ส.ค.66 ครม.ก็ได้อนุมัติร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดพื้นที่ทดลองปลูกและสกัดสารสำคัญจากฝิ่น และพืชเห็ดขี้ควายแล้ว เพื่อผลิตยามอร์ฟีน-ต้านซึมเศร้า และลดการนำเข้าจากต่างประเทศ หากในอนาคตสามารถทำได้ ก็จะทำให้เกษตรกร มีทางเลือกเพิ่มมากขึ้น” นายสมศักดิ์ กล่าว 

ด้าน นายพิเชษฐ์ บรรยายพิเศษ “แนวทางการพัฒนา การปลูกพืชกระท่อม การแปรรูป และการตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ”ว่า เรื่องนี้ ประชาชนให้ความสนใจเรื่องพืชกระท่อมเป็นอย่างมาก เพราะเป็นอาชีพใหม่ที่มีอนาคตอยู่ ซึ่งถ้าไม่มีนายสมศักดิ์ ก็ไม่มีวันนี้ จึงถือว่า นายสมศักดิ์ เป็นบิดาพืชกระท่อม โดยที่ผ่านมา พอเรื่องนี้เข้าสภาฯ ยอมรับว่า ตอนแรกไม่ได้สนใจ แต่พอพิจารณารายมาตรา จึงเห็นว่า เป็นประโยชน์ และมีอนาคตไกลอย่างแน่นอน ต่างกับลำไย ที่มีปัญหามากกว่า ทำให้บางปีได้ผลผลิตน้อย จึงขอให้เกษตรกร ที่ปลูกพืชกระท่อม ไปขอมาตรฐาน จีเอพี ที่เกษตรอำเภอ เพื่อจะได้ส่งออกต่างประเทศได้ ซึ่งถ้าเราส่งออกได้เหมือนยางพารา พืชกระท่อม ก็จะมีอนาคต เพราะทั่วโลกใช้เป็นยาแก้ปวด ที่พบว่า ดีกว่ามอร์ฟีนถึง 17 เท่า ดังนั้น อย่าเพิ่งตัดทิ้ง ถึงแม้ที่ผ่านมา จะยังไม่สามารถขายต่างประเทศได้ แต่ถ้าส่งออกได้ ก็จะเป็นอาชีพที่มั่นคง เพราะเป็นพืชยืนต้น โดยตนคิดว่า ถ้าเรามีรมว.เกษตร และเปลี่ยน รมว.สาธารณสุข ก็จะทำให้พืชกระท่อม มีอนาคตอย่างแน่นอน 

ส่วน นางสาวสกุณา สาระนันท์  ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การผ่านกฎหมายพืชกระท่อมในเวลานั้น พรรคเพื่อไทย เป็นฝ่ายค้าน แต่ได้ร่วมออกเสียงให้กฎหมายฉบับนี้ผ่าน เพราะเป็นประโยชน์แก่สังคม  ซึ่งต้องขอบคุณ นายสมศักดิ์ และ ป.ป.ส.ที่ได้ริเริ่ม โดยเวลานี้กฎหมายใช้มากว่า 2 ปี แต่ยังไม่สามารถทำประโยชน์ให้กับประชาชนในด้านการต่อยอดทางเศรษฐกิจ เพราะการทำงานของ อย.ในเรื่องระบบการควบคุมสารเคมี ต้องใช้งบประมาณรวมถึงระยะเวลา กฎระเบียบต่างๆเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการใช้ประโยชน์จากพืชเหล่านี้ ซึ่งกระท่อมมีมูลค่าทั่วโลกที่นำไปทำเป็นอาหาร เครื่องดื่มชูกำลัง รวมถึงนำไปทำยา มีมูลค่าในตลาดทั่วโลกประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท ดังนั้น จะปล่อยโอกาสนี้หลุดลอยไม่ได้ เมื่อมีรัฐบาลต้องเร่งดำเนินการผลักดันในเรื่องการกำหนดค่าสาร รวมถึงสนับสนุนให้เอกชนขึ้นทะเบียนทำธุรกิจ เมื่อเป็นเช่นนั้นได้ พืชกระท่อมจะเป็นต้นแบบ เพื่อพัฒนาพืชสมุนไพรอื่นๆต่อไป ที่จะสร้างรายได้ให้กับพี่น้องประชาชนได้

แสดงความเห็น