‘รมว.ยธ.’ควง ‘รมช.เกษตร’ ลุยสุโขทัยช่วยน้ำท่วม เร่งสำรวจความเสียหาย-เยียวยาด่วน


“รมว.ยธ.”ควง “รมช.เกษตร” ลุยสุโขทัยช่วยน้ำท่วม “สมศักดิ์” ยันนายกฯสั่งกำชับเร่งด่วน เผยมีแผน 3 ระยะแก้ปัญหาน้ำท่วม-แล้งซ้ำซาก เชื่อต้องพูดคุยสร้างเขื่อนภาคเหนืออย่างเป็นรูปธรรม “ประภัตร” สั่งเยียวยาเกษตรกร 

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม นายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ ส.ส.สุโขทัย พรรคพลังประชารัฐ และนายมนู พุกประเสริฐ อดีตนายกอบจ.สุโขทัย ร่วมลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมจุดน้ำท่วมและให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ จ.สุโขทัย 3 จุด โดยมีข้าราชการในพื้นที่ร่วมตรวจเยี่ยมด้วย โดยช่วงเช้าเดินทางไปยัง ศาลาอเนกประสงค์ หมู่ 1 ต.ปากพระ อ.เมืองสุโขทัย จากนั้น เดินทางไปยัง วัดคลองโป่ง ต.สามเรือน อ.ศรีสำโรง และองค์การบริหารส่วนตำบลคลองกระจง ต.คลองกระจง อ.สวรรคโลก เพื่อรับฟังรายงานสถานการณ์และความเสียหายในพื้นที่ต่างๆ พร้อมกันนี้ ได้มอบข้าวสาร หญ้าอาหารสัตว์พระราชทาน ตลอดจนชุดเวชภัณฑ์สำหรับดูแลสุขภาพสัตว์ให้กับเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และให้กำลังใจเกษตรกร ตลอดจนพบปะและรับฟังปัญหาของเกษตรกร 

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า จากการเกิดพายุฮีโกสทำให้มีฝนตกหนักภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลให้เกิดวาตภัย น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำเอ่อล้นตลิ่งในช่วงวันที่ 21 ส.ค.63 จนถึงปัจจุบัน รวม 15 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน น่าน พะเยา แพร่ สุโขทัย อุตรดิตถ์ ตาก บึงกาฬ ร้อยเอ็ด อุดรธานี และยโสธร ปัจจุบันเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว 13 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ 2 จังหวัด ได้แก่ จ.สุโขทัย และ จ.น่าน สำหรับ จ.สุโขทัย มีพื้นที่ประสบภัย 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองสุโขทัย ศรีสำโรง และสวรรคโลก โดยช่วงที่ผ่านมาเกิดคันตลิ่งแม่น้ำยมขาดทำให้น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ ปัจจุบันบริเวณคันขาดระดับลดลง ส่วนน้ำที่ล้นคันตลิ่งแม่น้ำยมใน อ.สวรรคโลก และ อ.ศรีสำโรง กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมจ.สุโขทัยนั้น นายกรัฐมนตรี ได้กำชับอย่างเร่งด่วน โดยการช่วยเหลืออาจแบ่งเป็น 3 ระยะ แต่ในภาพรวมระยะเร่งด่วน รมว.มหาดไทย รมว.อุตสาหกรรม รมช.เกษตรฯ ได้ลงพื้นที่ ช่วยเหลือประชาชนแล้วอย่างเต็มที่ ตนในฐานะคนพื้นที่ ต้องขอขอบคุณนายกฯ และคณะรัฐมนตรี ที่ได้ทำหน้าที่อย่างดียิ่ง ส่วนในระยะกลาง นายกฯได้อนุมัติงบประมาณโครงการที่จะแบ่งน้ำจากแม่น้ำยม ออกไปทาง อ.พิชัย จากเดิมคลองนั้นใช้การส่งน้ำไม่ถึง 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยถ้าทำโครงการใหม่ที่นายกฯ อนุมัติงบประมาณกว่า 3 พันล้านบาท จะสามารถส่งน้ำไปได้ 350 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที รวมถึงจะเป็นการแก้ปัญหาน้ำล้นตลิ่ง ล้นแม่น้ำยม และเกิดปัญหาน้ำท่วมเกือบทุกปีแบบนี้ได้พอสมควร

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ระยะที่ 3 ตนมองดูว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ คือการปรับคณะรัฐมนตรี ที่มีรองนายกรัฐมนตรี เข้ามาใหม่เป็นวิศวกร ตนจึงเชื่อว่าจะมีการพูดคุยการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม เพราะการสร้างเขื่อนภาคเหนือ ใช้งบประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท เชื่อว่าหากมีการพูดคุยกัน นายกฯจะแบ่งเงินมาช่วยตรงนี้ได้ หากประชาชนเข้าใจและไม่มีขัดแย้งในพื้นที่ต่างๆ นอกจากนี้ จากรองนายกฯที่เป็นวิศวกร ตนเชื่อมั่นว่า เรื่องเหล่านี้จะมีการหยิบยกขึ้นมา เพราะนายกฯอยากช่วยอยู่แล้วแต่คงหาคนมาทำ

ด้านนายประภัตร กล่าวว่าสำหรับการให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้น 1. ด้านพืช รัฐบาลจ่ายเป็นเงินค่าชดเชยกรณีเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตร โดยข้าวชดเชย 1,114 /ไร่ พืชไร่ชดเชย 1,148 บาท/ไร่ และพืชสวน ไม้ผลอื่นๆ ชดเชย 1,690 บาท/ไร่ และชดเชยไม่เกินครัวเรือนละ 30 ไร่ สำหรับการเยียวยาและฟื้นฟู กรมการข้าวจะเยียวยาค่าเมล็ดพันธุ์ข้าว 15 กิโลกรัม/ไร่ ครัวเรือนละไม่เกิน 10 ไร่ คิดเป็นเงิน 4,050 บาท เพื่อให้เกษตรกรได้เป็นค่าเมล็ดพันธุ์ข้าวในฤดูปลูกถัดไป 2. ด้านปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์เตรียมเสบียงอาหารสัตว์ 5,615.56 ตัน หญ้าแห้ง 335 ตัน ยานพาหนะ 201 คัน ถุงยังชีพ 3,000 ชุด ทีมแพทย์ 119 ทีม หน่วยอพยพสัตว์/เคลื่อนที่เร็ว 119 หน่วย 357 คน และเวชภัณฑ์ดูแลสุขภาพสัตว์ โดยได้แจกจ่ายเสบียงสัตว์ไปแล้ว 20.40 ตัน อาหารสัตว์อื่น 944 กิโลกรัม อพยพสัตว์ 18,908 ตัว รักษาสัตว์และเสริมสร้างสุขภาพสัตว์ 2,206 ตัว และ 3. ด้านประมง ชดเชย 4,225 บาท/ไร่ ไม่เกินรายละ 5 ไร่ และสรับสนุนพันธุ์ปลา

“นายกฯได้มอบหมายให้ตนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือเยียวยาและฟื้นฟูอาชีพให้กับเกษตกรอย่างเร่งด่วน เบื้องต้นได้มอบหญ้าอาหารสัตว์พระราชทาน ชุดเวชภัณฑ์สำหรับดูแลสุขภาพสัตว์โดยกรมปศุสัตว์ ข้าวสาร 3 ตันโดยศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสุโขทัย กรมการข้าว นอกจากนี้ ได้ชี้แจงแนวทางการช่วยเหลือด้านพืช ปศุสัตว์ และประมง รวมทั้งให้เกษตรกรเร่งไปขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรระหว่างดำเนินการสำรวจความเสียหาย เพื่อรับเงินชดเชยตามระเบียบกระทรวงการคลังต่อไป ความเสียหายยังอยู่ระหว่างการสำรวจ จึงได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสำรวจให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน เพื่อเยียวยาเกษตรกรโดยเร็วที่สุด” นายประภัตร กล่าว

นายประภัตร กล่าวอีกว่า ตนได้รับรายงานความเสียหายเบื้องต้น จ.สุโขทัย ประสบภัย 6 อำเภอ 30 ตำบล 174 หมู่บ้าน ได้แก่ อ.เมือง อ.ศรีสำโรง อ.สวรรคโลก อ.กงไกรลาศ อ.ศรีสัชนาลัย และ อ.ศรีนคร มีครัวเรือนที่ประสบประภัย 11,491 ครัวเรือน เบื้องต้นด้านการเกษตรมีพื้นที่ได้รับผลกระทบ แยกเป็น ด้านพืช เสียหาย 110,598 ไร่ 6 อำเภอ ด้านประมง 627 ไร่ ด้านปศุสัตว์ ได้รับผลกระทบแต่ยังไม่ได้รับความเสียหาย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าให้การช่วยเหลือในเบื้องต้น จนสถานการณ์คลี่คลายแล้ว จากนั้นจะเข้าไปเร่งสำรวจความเสียหายเพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังต่อไป

ขณะที่ นางพรรณสิริ กล่าวว่า ขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่มาช่วยเหลือชาวสุโขทัยที่เจอวิกฤตน้ำยมซ้ำซาก รวมถึงภัยแล้งที่จะตามมาด้วย โดยตอนนี้มีแผนการช่วยเหลือ ด้วยการวางผังบูรณาการน้ำทั้งระบบให้กับกลุ่มลุ่มน้ำยม ส่วนในระยะเร่งด่วนในการช่วยเหลือ ได้มีการยกสะพานให้สูงขึ้น ขณะที่การซ่อมแซมบ้านเรือนให้ประชาชน ทางทุกภาคส่วน ทั้ง สภาฯ กมธ.การกระจายอำนาจฯที่ตนเป็นรองประธาน ได้มอบกำลังการช่วยเหลือและจะได้สำรวจความเสียหายต่อไป เพื่อดูแลประชาชนให้ครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุด

แสดงความเห็น