“สมศักดิ์”  ควง ดร.อนงค์วรรณ ลุยกำแพงเพชร ดูโมเดล “ธนาคารน้ำใต้ดิน” 

“สมศักดิ์”  ควง ดร.อนงค์วรรณ ลุยกำแพงเพชร ดูโมเดล “ธนาคารน้ำใต้ดิน” หวังเพิ่มแหล่งน้ำช่วยเกษตรกร แนะ ภาครัฐ เร่งศึกษาน้ำซึมลงดิน หวังพัฒนาเก็บน้ำใต้ดินต่อ

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย ดร.อนงค์วรรณ เทพสุทิน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ลงพื้นที่ อบต.วังหามแห  ต.วังหามแห อ.ขาณุวรลักษบุรี จ.กำแพงเพชร เพื่อเยี่ยมชมโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน โดยมี นายฉัตรพงศ์  มนต์กันภัย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลวังหามแห  ดร.ประภัทร์ อ่อนฤทธิ์ รองนายก อบต.โค้งไผ่ และรอง ผอ.สถาบันน้ำทอเทศศาสนคุณ นายธวัตร วาสิกานนท์ รองปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลวังหามแห นายชิติสรรค์ รักธรรม รองนายก อบต.วังหามแห และ นางสาวอัญชนา โสระฐี ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลวังหามแห ให้การต้อนรับและบรรยายสรุปรายละเอียดโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน

โดยนายสมศักดิ์ กล่าวว่า ตนได้มีโอกาสมาติดตามโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน ในจังหวัดกำแพงเพชร เนื่องจากเมื่อเข้าหน้าร้อนประเทศไทยจะมีปัญหาน้ำแล้ง เกษตรกรขาดน้ำในการทำไร่ ทำสวน จนทำให้เกิดความเสียหาย เมื่อฟังบรรยายและได้ลงพื้นที่ จึงเห็นว่าโครงการนี้ มีประโยชน์เป็นอย่างมาก เพราะจะช่วยเพิ่มแหล่งน้ำให้เกษตรกรได้ ซึ่งพี่น้องประชาชน สามารถที่จะทำธนาคารน้ำใต้ดิน ในพื้นที่ของตัวเองได้เลย โดยจากการลงพื้นที่ ทำให้ตนเข้าใจว่า ชั้นดินในบ้านเรา มีอยู่ 4 ชั้นหลักๆ คือ ตั้งแต่ผิวดินเป็นชั้นดินอ่อน ชั้นที่ 2 ดินเหนียวแข็ง ชั้นที่ 3 หินอุ้มน้ำ และชั้นที่ 4 เป็นกรวด ทราย โดยชั้นดินที่จะสามารถเก็บน้ำไว้ได้ คือ ชั้นหินอุ้มน้ำ ดังนั้น ถ้าเราต้องการจะเก็บน้ำ ก็ต้องทำให้น้ำลงไปถึงชั้นหินอุ้มน้ำให้ได้

“ธนาคารน้ำใต้ดิน คือการขุดดินให้ลึกถึงชั้นหินอุ้มน้ำ ประมาณ 6-8 เมตร จากนั้น ก็จะทำการเติมน้ำจากผิวดิน ให้ลงไปถึงชั้นหินอุ้มน้ำ ก็จะทำให้มีแหล่งน้ำไว้ใช้แล้ว แต่การทำธนาคารน้ำใต้ดิน อาจจะต้องใช้เวลา เพราะไม่ใช่ทำแล้วสามารถใช้ได้ทันที ซึ่งอาจจะใช้ได้อีก 1-5 ปีข้างหน้า แต่เราก็ต้องทำ เพื่อให้มีแหล่งน้ำเพียงพอต่อการทำการเกษตร โดยหากในแต่ละตำบลทำกันจำนวนมาก ก็จะยิ่งมีแหล่งน้ำใช้เพียงพอ หรือ ถ้าพื้นที่ใดมีสระอยู่แล้ว ก็สามารถขุดต่อให้ถึงชั้นหินอุ้มน้ำได้ เพราะเวลาน้ำในสระแห้ง ก็จะมีน้ำจากชั้นหินอุ้มน้ำ ซึมขึ้นมาบนสระให้มีน้ำใช้ได้ โดยการทำธนาคารน้ำลักษณะนี้ จะเรียกว่า ทำแบบเปิด ซึ่งเป็นไปได้อย่างแน่นอน” นายสมศักดิ์ กล่าว

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของการทำธนาคารน้ำใต้ดินแบบปิด ตนก็ยังมีความสงสัยอยู่ เพราะขุดลึกลงไปแค่ 50-100 เซนติเมตรเท่านั้น ซึ่งยังอยู่ในชั้นดินอ่อน แต่ในชั้นดินอ่อนบางพื้นที่ก็สามารถซึมได้ แต่บางพื้นที่ก็อาจจะซึมยาก โดยขณะนี้ เรายังไม่สามารถวัดค่าของการซึมว่าได้เท่าไหร่ ซึ่งหน่วยงานรัฐด้านธรณีวิทยา ต้องเข้ามาช่วยในการหาค่าของการซึมที่ชัดเจน เพื่อที่จะสามารถพัฒนาโครงการได้ถูกต้อง รวมถึงจะได้เผยแพร่กับพี่น้องประชาชน เพราะน้ำ เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับพี่น้องเกษตรกรเป็นอย่างมาก

แสดงความเห็น