“วีริศ” ย้ำมาตรฐานควบคุมการจัดการสารอินทรีย์ระเหย พื้นที่กลุ่มนิคมมาบตาพุดคอมเพล็กซ์ เป็นไปตามกฎหมายการควบคุมการระบายสารระเหย แจงเป็นความร่วมมือทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และชุมชน เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน พร้อมแสดงความเป็นห่วงหลัง PM 2.5 ลุกลามแล้วกว่า 53 จังหวัด กำชับหมั่นอัพเดตสถานการณ์ ประเมินสภาพแวดล้อม และหาแนวทางป้องกัน เพื่อความปลอดภัยของทั้งพนักงาน และชุมชนรอบนิคมฯ
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า กนอ.ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการลดและขจัดมลพิษมาตั้งแต่ปี 2549 พร้อมทั้งจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังและควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (EMCC) ในพื้นที่มาบตาพุด เพื่อการบริหารจัดการ เฝ้าระวัง ติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม และประชาสัมพันธ์ด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับชุมชน ซึ่งเป็นไปตามโครงการธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย ที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการตรวจสอบ กำกับดูแลโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม เป็นความร่วมมือระหว่าง กนอ. ผู้ประกอบการโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม และชุมชนรอบนิคมอุตสาหกรรม โดยจะมีการเปิดเผยข้อมูล รวมทั้งติดตามประเมินผลการดำเนินงานด้วย
ขณะที่การจัดการสารอินทรีย์ระเหย (Volatile Organic Compounds : VOCs) กนอ.ได้บูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และชุมชน โดยนำมาตรการหลักปฏิบัติที่ดี (Code of Practice) มาใช้กำกับดูแลการประกอบกิจการเกี่ยวกับการจัดการสารอินทรีย์ระเหย ซึ่งเป็นการใช้ร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ กรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และผู้เชี่ยวชาญการศึกษา ทั้งนี้ ในปี 2565 กระทรวงอุตสาหกรรม ได้นำหลักปฏิบัติการที่ดีประกาศใช้เป็นกฎหมาย จำนวน 3 ฉบับ โดย กนอ.ได้นำประกาศดังกล่าวมาใช้ในการบริหารจัดการโรงงานในพื้นที่กลุ่มนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดคอมเพล็กซ์ ซึ่งประกอบด้วย 6 นิคมอุตสาหกรรม และ 1 ท่าเรืออุตสาหกรรม คือ นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์ค (Smart Park) นิคมอุตสาหกรรมเอเซีย นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอตะวันออก (มาบตาพุด) นิคมอุตสาหกรรมผาแดง นิคมอุตสาหกรรมอาร์ไอแอล (RIL) นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด มาอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ กนอ.กำหนดให้ผู้ประกอบการต้องส่งแผนการซ่อมบำรุง รวมถึงการจัดการกากของเสีย น้ำเสีย มาตรการควบคุมการปล่อย หรือระบายสารเคมีสู่บรรยากาศ และมาตรการในการควบคุมหอเผาก๊าซด้วย เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยต่อโรงงานหรือชุมชน โดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2566
“กนอ.เข้มงวดในการควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อมในนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรืออุตสาหกรรมในกำกับดูแล แต่เราก็ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการบริหารจัดการพื้นที่ สร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม และภาคประชาชน เพื่อป้องกันการเกิดซ้ำ ซึ่งไม่เฉพาะเรื่องของ VOCs เท่านั้น แต่ครอบคลุมถึงเรื่องของการปรับปรุงกฎหมายหรือกฎระเบียบเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ รวมถึงการส่งเสริม ยกระดับ และสร้างแรงจูงใจให้กับโรงงาน เช่น การให้รางวัลธงขาวดาวเขียว และรางวัล Eco Factory เป็นต้น” นภายวีริศ กล่าว
ส่วนกรณีที่มีการรายงานว่า ในพื้นที่มาบตาพุดพบสารก่อมะเร็งในพื้นที่สูงเกินค่ามาตรฐาน-อันตรายต่อสุขภาพจากการปล่อยสารอินทรีย์ระเหยง่ายนั้น จากการตรวจสอบพบว่า รายงานดังกล่าวเป็นข้อมูลงานวิจัยอุบัติการณ์โรคมะเร็งในประเทศไทยในช่วงปี 2557-2560 ที่จังหวัดระยองมีอัตราการเกิดโรคมะเร็งสูง ซึ่งข้อมูลยังไม่เป็นปัจจุบัน รวมถึงการรายงานผลตรวจของกรมควบคุมมลพิษว่า พบค่าสารเบนซีนเฉลี่ย 1 ปี ตั้งแต่ปี 2548-2558 ก็ยังเป็นข้อมูลที่ไม่ใช่ปัจจุบันเช่นกัน
สำหรับพื้นที่จังหวัดระยอง มีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ 2 พื้นที่ คือ 1) ในเขตควบคุมมลพิษ บริเวณพื้นที่กลุ่มนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ตะวันออก (มาบตาพุด) นิคมอุตสาหกรรมเอเซีย นิคมผาแดง และนิคมอุตสาหกรรมอาร์ไอแอล และ 2) นอกเขตควบคุมมลพิษ บริเวณเขตประกอบการไออาร์พีซี นอกจากนี้ ยังมีสถานีเก็บตัวอย่างของ กนอ. ในพื้นที่ชุมชน จำนวน 8 สถานี (วัดมาบชะลูด, วัดหนองแฟบ,บ้านมาบตาพุด, วัดโสภณวนาราม, ชุมชนบ้านพลง, มาบตาพุดเมืองใหม่, สาธารณสุขบ้านตากวน และสถานีอนามัยมาบตาพุด) และในพื้นที่นิคมฯ 7 สถานี (สำนักงานนิคมฯ , มุมถนน I-3 ตัด I-4 , พื้นที่ถนน I-2 , ปตท.เคมิคอล I-1 ,พื้นที่ถนน I-4 , ทิศตะวันออก และพื้นที่ถนน I-7)
ผู้ว่าการ กนอ.ยังแสดงความเป็นห่วงต่อสถานการณ์ค่าฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ที่ล่าสุดพบในพื้นที่ 53 จังหวัด ในทุกภูมิภาคของประเทศด้วย โดยขอให้หมั่นอัพเดตสถานการณ์ รวมทั้งประเมินสภาพแวดล้อมรอบตัว และหาแนวทางป้องกันฝุ่นละออง PM2.5 เพื่อความปลอดภัยของทั้งพนักงานในโรงงาน และชุมชนรอบนิคมอุตสาหกรรมด้วย