“กนอ.- พีอีเอ เอ็นคอม” เซ็น MOU ลุยพัฒนาโครงสร้างพลังงาน รองรับนิคมฯ อัจฉริยะ

การนิคมอุตสาหกรรมฯ ลงนามสัญญาความร่วมมือกับ “PEA ENCOM” ศึกษาความเป็นไปได้การพัฒนาระบบบริหารจัดการพลังงาน “Smart Energy- Smart Grid” เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ-ลดต้นทุนการผลิต รองรับนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ ลุยเฟสแรกใน 15 นิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ.ดำเนินการเอง และท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ. เปิดเผยถึงการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้าน Smart Energy เพื่อรองรับนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ (Smart Industrial Estate) กับ บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (PEA ENCOM) (บริษัทในเครือของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค : กฟภ.) ว่า เป็นโครงการเพื่อร่วมกันพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ (Smart Industrial Estate) ด้าน Smart Energy ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ.ดำเนินการเอง จำนวน 15 แห่ง และท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด มีเป้าหมายดำเนินการในระยะเวลา 2 ซึ่งจะนำไปสู่ความยั่งยืนในการส่งเสริมระบบบริหารจัดการพลังงานและโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ โดยสามารถนำเทคโนโลยีมาทำงานร่วมกับระบบไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันศึกษาความเป็นไปได้ ทั้งทางด้านเทคนิค ด้านเศรษฐศาสตร์และการเงิน รวมถึงรูปแบบการลงทุนในด้าน Smart Energy และ Smart Grid เพื่อยกระดับการพัฒนาธุรกิจและการให้บริการที่สอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศ ตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี ค.ศ. 2050 หากผลการศึกษามีความเป็นไปได้และเป็นที่น่าพอใจในเชิงการแข่งขันทางธุรกิจและเงื่อนไขของแต่ละฝ่าย ทั้ง 2 หน่วยงานจึงจะหารือถึงแนวทางการดำเนินงานในอนาคตต่อไป

ด้านนายเขมรัตน์ ศาสตร์ปรีชา รักษาการ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้รับมอบอำนาจลงนามผูกพันบริษัทฯ กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้เป็นอีกก้าวสำคัญของทั้ง 2 องค์กรที่จะดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมและธุรกิจพลังงานสะอาด ซึ่งพีอีเอ เอ็นคอมฯ ให้การสนับสนุนธุรกิจพลังงานสะอาดในรูปแบบของพลังงานหมุนเวียน และยังสอดรับกับวิสัยทัศน์ของบริษัท คือ องค์กรที่มีการบริหารจัดการด้านพลังงานและนวัตกรรมที่เป็นที่ยอมรับในระดับภูมิภาค ทั้งนี้ การพัฒนาโครงการนี้เพื่อสร้างต้นแบบธุรกิจใหม่ในกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เข้าสู่ความเป็น Smart Energy มากขึ้น และยกระดับพัฒนาสู่การเป็นนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ (Smart Industrial Estate) ที่สมบูรณ์แบบทุกด้าน มีการผสมผสานระบบพลังงานและระบบบริหารจัดการพลังงาน หรือ Energy Management System : EMS ที่สามารถเชื่อมโยงทุกระบบเข้าไว้ด้วยกัน ทั้ง Smart Energy, Smart Grid, Smart Meter เพื่อรองรับการขยายตัวของนิคมอุตสาหกรรมอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ

แสดงความเห็น