นายชาญวิทย์ มุนิกานนท์ นายกสมาคมกีฬาคนพิการทางปัญญาแห่งประเทศไทย หลังจากที่มีข่าวเกี่ยวกับการควบรวมกิจการ True – DTAC คนในสังคมจากหลากหลายวงการต่างออกมาแสดงความเห็นถึงผลดี ผลเสียที่จะตามมา มีทั้งในมุมของผู้บริโภค ผู้ประกอบการ ผลกระทบที่ต่อการแข่งขันในธุรกิจการสื่อสาร แต่มีน้อยคนนักที่จะพูดถึงผลที่มีผู้พิการ ซึ่งคนพิการก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคม สามารถทำได้ทุกอย่างเกือบจะเหมือนคนปกติ เพียงแต่เขาต้องเข้าถึงอุปกรณ์ให้ความช่วยเหลือ โดยปัจจุบันมีคนพิการที่ขึ้นทะเบียนประมาณ 2 ล้านคน และมีคนพิการทางสติปัญญากว่า 4 แสนคน ที่ต้องเอ่ยถึงคนพิการทางสติปัญญา เนื่องจากเราเองในฐานะ สมาคมกีฬาคนพิการทางปัญญาแห่งประเทศไทย ต้องการโฟกัสให้เห็นถึงผลของการควบรวม True – DTAC หากเกิดขึ้นจะมีกับคนพิการอย่างไร
เมื่อพูดถึงการควบรวมกิจการ True – DTAC หลายคนมีข้อสงสัยว่าจะเป็นการควบรวมเพื่อการแข่งขันหรือจะเกิดการผูกขาด ต้องบอกว่าข้อดีของการควบรวมคือ จะทำให้ทั้งสองบริษัทแข็งแกร่งมากขึ้น มีเงินในการลงทุนมากขึ้น การลงทุนต่อเนื่องไม่สะดุด ปรับองค์กรสู่เทคโนโลยีใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงเร็วมากขึ้น โดยลูกค้าผู้ใช้บริการ จะมีสิทธิพิเศษต่างๆมากขึ้นด้วย สัญญาณเร็วแรง คลื่นครบคุณภาพเครือข่ายดีขึ้น สะดวกมากขึ้น และเกิดการบริการใหม่ๆ
เมื่อมีบริการที่ดี เครือข่ายเสถียรมีคุณภาพ ผลประโยชน์ที่ตามมาสำหรับคนพิการ ที่เห็นได้ชัดคือเรื่องการรักษา โดยเฉพาะการรักษาทางไกลหรือ Telemedicine เพิ่มโอกาสผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาได้ ครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น อีกทั้งช่วยให้นักกายภาพบำบัดทำงานได้ดียิ่งขึ้น ช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนนักกายภาพบำบัด เพิ่มโอกาสผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกลทั่วประเทศไทยได้ พร้อมกับลดการนำเข้าอุปกรณ์ราคาแพงอีกด้วย ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ป่วยทางสมอง เช่น ออทิสติก สมองพิการ และดาวน์ซินโดรม ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยต่างๆ ได้มีการพัฒนานวัตกรรมฟื้นฟูสมองในรูปแบบต่างๆ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถรับการบำบัดและฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายฝึกใช้สมองอย่างต่อเนื่อง จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการช่วยเหลือผู้พิการให้มีโอกาสในการดำเนินชีวิตที่สะดวกมากขึ้น สามารถทำสิ่งต่างๆ ได้อย่างคล่องแคล่วกว่าเดิม และมีความสุขมากขึ้น
ซึ่งหากพูดถึงการควบรวม แล้วสถานการณ์การแข่งขันจะรุนแรงมากขึ้น แต่ผู้บริโภครวมถึงคนพิการน่าจะได้ประโยชน์ในการแข่งขันครั้งนี้ เพราะต่างฝ่ายต่างแย่งผู้บริโภค ดังนั้นเราจะได้เห็นการพัฒนาเพื่อต่อสู้ ซึ่งหากไม่เกิดการควบรวม ตลาดอาจจะเกิดการผู้ขาดโดยเจ้าตลาดได้ เชื่อว่าสถานการณ์หลังจากนี้ กสทช.ต้องหาวิธีคิดและการดำเนินการในส่วนนี้ ถือเป็นบทพิสูจน์ที่สำคัญของ กสทช.
การควบรวมกิจการนั้น มีในหลายประเทศที่เกิดการควบรวมในลักษณะนี้ และประเทศไทยเองล่าสุดก็มีการควบรวมของ TOT และ CAT กลายเป็น NT เพื่อการลดการลงทุนที่ซับซ้อน เพื่อต่อสู่กับบริษัทเอกชนและเพื่อความอยู่รอดของทั้งสององค์กร แต่การที่ทั้ง True และ DTAC ควบรวมกันแล้วจะตามเจ้าตลาดอย่าง AIS ทันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยปัจจุบัน AIS มีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 41.4% ซึ่งหาก True และ DTAC ควบรวมกัน จะมีส่วนแบ่งอยู่ที่ 45.8% แม้ว่าจะมากกว่า แต่การที่จะต้องปรับองค์กร บูรณาการ 2 หน่วยงานร่วมกัน กว่าจะแข็งแกร่งก็ต้องใช้เวลา 1-2 ปี ซึ่งระยะเวลา 1-2 ปีนั้น AIS ก็สามารถที่จะพัฒนาบริษัทให้แข็งแกร่งขึ้นอีกได้ เพราะต้นทุนในการลงทุนต่ำกว่า ดังนั้นการควบรวมครั้งนี้ ถือเป็นปฐมบทในการเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจดิจิทัล เป็นบทพิสูจน์ของ กสทช. ในการเป็นพี่เลี้ยง ส่งเสริมเศรษฐกิจไทยสู่ สังคมยุค 4.0 และการเปลี่ยนจากบริษัทโทรคมนาคม เป็นบริษัทผู้ให้บริการทางเทคโนโลยี