เครือข่ายแรงงานฯ ร้องปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 492 บาท ตัดพ้อราคาน้ำมันปรับขึ้น สวนทางค่าจ้าง ซ้ำเติมแรงงาน

เครือข่ายแรงงานฯ ยื่นหนังสือ เรียกร้อง ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 492บาท ตัดพ้อ ราคาน้ำมันปรับขึ้น สวนทางค่าจ้าง ซ้ำเติมแรงงาน วอนภาครัฐคุมราคาสินค้าโดยเฉพาะราคาน้ำมัน

กลุ่มคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์( สรส.)  จัดกิจกรรม “เนื่องในวันกรรมกรสากล” และยื่นข้อเรียกร้องวันกรรมกรสากลปี 2565 ต่อนายกรัฐมนตรี โดยตั้งขบวนที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และเคลื่อนขบวนไปยังฝั่งตรงข้ามประตู 5 ทำเนียบรัฐบาล เพื่อประกาศข้อเรียกร้อง 14 ข้อ

โดยนายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และนายมานพ เกื้อรัตน์ เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ บอกว่า การจัดกิจกรรมในวันนี้เพื่อรำลึกถึงการต่อสู้ในการยกระดับคุณภาพชีวิต ทำให้คนงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และรำลึกถึงการต่อสู้ถึงกรรมกรในอดีต และเพื่อยื่นข้อเสนอของคนงาน ซึ่งข้อเรียกร้องสำคัญ คือ การเรียกร้องให้ปรับราคาค่าจ้างขั้นต่ำ 492 บาท เท่ากันทั่วประเทศ และควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะราคาน้ำมัน และยังเรียกร้องให้รัฐบาลสนับสนุนส่งเสริมผลักดันทำโครงสร้างค่าจ้างที่จะทำให้คนงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น/เรียกร้องให้หยุดแปรรูปรัฐวิสาหกิจ /ปฏิรูประบบประกันสังคมให้เป็นองค์กรอิสระ จัดตั้งธนาคารแรงงาน /จัดตั้งโรงพยาบาลประกันสังคม ให้ลูกจ้างของรัฐได้รับการบรรจุ เพื่อทำให้คนงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และยกเลิกการจ้างงานในระยะสั้นที่ทำให้เกิดความไม่มั่นคงด้วย

นายสาวิทย์ บอกเพิ่มเติมว่า ค่าจ้างขั้นต่ำ 492 บาท เป็นตัวเลขที่เหมาะสม ที่สังคมรับได้ แต่วันนี้ รัฐบาลขึ้นราคาน้ำมันดีเซล 2 บาท เป็นการตอกย้ำความเจ็บปวด แทนที่จะให้ของขวัญแรงงานด้วยการขึ้นค่าแรง และแม้ว่า ข้อเรียกร้องการปรับค่าจ้าง 492 บาท จะไม่ได้ทำให้แรงมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และไม่เพียงพอต่อค่าครองชีพเพราะค่าแรงสวนทางกับค่าครองชีพ แต่ก็ทำให้เกิดการผ่อนคลายและมีเป้าหมายที่จะทำให้แรงงานมีชีวิตที่ดีขึ้นได้

ทั้งนี้หากยังไม่ปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 492 บาท ทางเครือข่ายแรงงานฯ ก็จะต้องมาหารือกันว่าจะขับเคลื่อนอย่างไรและกำหนดท่าที่การเคลื่อนไหวต่อไป

ส่วนกรณีที่คณะกรรมการจ้างงาน ของกระทรวงแรงงาน จะมีความชัดเจนเรื่องการปรับค่าแรงในเดือนกันยายนนั้น มองว่า การยืดระยะเวลาการปรับค่าแรงไปเป็นการซ้ำเติม

จากนั้นได้อ่านแถลงการณ์ข้อเรียกร้อง และได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี โดยมีนายวรรณรัตน์ ศรีสุขใส รองปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นตัวแทนมารับหนังสือ พร้อมบอกว่า ขณะนี้คณะกรรมการไตรภาคีอยู่ระหว่างการพิจารณาการปรับค่าแรง และคาดว่าภายในเดือนกันยายนจะมีความชัดเจนขึ้น

แสดงความเห็น