อัจฉริยะ ยื่น ยธ.พร้อมหลักฐานใหม่ ให้รับคดีแตงโมเป็นคดีพิเศษ ชี้ เป็นฆาตกรรมอำพราง 

อัจฉริยะ ยื่น กระทรวงยุติธรรม พร้อมหลักฐานใหม่ ให้รับคดีแตงโมเป็นคดีพิเศษ ชี้ เป็นการฆาตกรรมอำพราง ขณะที่เลขาฯรมว.ยุติธรรม สั่งให้ DSI ตรวจสอบหลักฐานใหม่ ก่อนพิจารณารับเป็นคดีพิเศษหรือไม่ พร้อมยัน ผลชันสูตรรอบ 2 พบแค่ 22 รอยบาดแผล ไม่เห็นผลรอบแรก และไม่ได้ระบุถึงการถูกใบพัดเรือหรือไม่ แต่ระบุว่าเกิดจากวัตถุกึ่งมีคม และเกิดก่อนเสียชีวิต 

นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม เดินทางมายื่นหนังสือและนำหลักฐานคดีการเสียชีวิตของแตงโม ภัทรธิดา มามอบให้กับกระทรวงยุติธรรม เพื่อให้กรมสิบสวนคดีพิเศษพิจารณารับเป็นคดีพิเศษ และดำเนินคดีกับบุคคลบนเรือ เนื่องจากมองว่าคดีเป็นไปทางฆาตกรรมอำพราง โดยมีว่าที่ร้อยตรี ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และรองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นผู้รับเรื่อง 

โดยนายอัจฉริยะ ได้นำภาพถ่ายที่ระบุว่าเป็นบาดแผลของบุคคลที่ถูกใบพัดเรือบาดเข้าที่ขา ซึ่งต่างจากหลักฐานที่ตำรวจภูธรภาค 1 นำมาแสดง พร้อมบอกว่า วันนี้มายื่นหนังสือ ร้องทุกข์กล่าวโทษ เพื่อดำเนินคดีอาญา กับ แซน วิศาพัช และพวก ในข้อหาร่วมกันฆาตกรรมอำพราง โดยขอให้ดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษโดยเร่งด่วน สืบเนื่องจากคดีนี้เป็นคดีอุจฉกรรจ์ มีผู้ทำให้ตาย ซึ่งสงสัยว่าเป็นฆาตกรรมอำพราง และตนเองมีพยานหลักฐานใหม่ รวมถึงมีผู้เชี่ยวชาญ 

ทั้งนี้กรณีที่ว่าแตงโมตกท้ายเรือเสียชีวิต แต่ไม่ปรากฏ พยานหลักฐานว่าอีก 4 คนบนเรือให้การยืนยันว่าแตงโมตกท้ายเรือตามที่พูดนอกจากคำให้การของแซน และไม่มีหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ที่ยืนยันว่าแตงโมมีการจับขาแซน และบาดแผลของการตกท้ายเรือไม่สามารถเข้าได้กับใบพัดเรือ และไม่ได้เป็นไปได้ตามที่ตำรวจภูธรภาค1 จำลองให้เห็นเมื่อวันที่26 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งตนเองมีพยานในทุกด้านที่จะมาเป็นพยานในคดีนี้ เช่น แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์  ที่ยืนยันไปแล้วว่า จากบาดแผลที่เกิดขึ้นไม่มีโอกาสที่แตงโมจะตกท้ายเรือได้เลย และหลักฐานสำคัญที่ยืนยันได้ว่า น่าจะเป็นการฆาตกรรมคือ ทรายที่อยู่ในมือ เพราะจะถือว่าเป็นหลักฐานใหม่ ซึ่งหลักฐานชิ้นนี้ ตำรวจภูธรภาค1 ไม่เคยให้ความใส่ใจ ทั้งทรายที่อยู่ในรองเท้า และทรายที่อยู่ในร่างกายของแตงโม รวมถึงหลักฐานที่บาดแผลขาข้างขวา เป็นหลักฐานที่ถูกของมีคมไม่ใช่ใบพัดเรือ วันนี้จึงมายื่นขอให้ดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษ

นายอัจฉริยะ ยังยืนยันด้วยว่า หลักฐานที่นำมามอบให้กับกระทรวงยุติธรรมนั้นเป็นหลักฐานใหม่ และพร้อมที่จะยอมรับผลที่ตามมาหากไม่เป็นความจริง สามารถฟ้องร้องกลับได้ ซึ่งที่ออกมาเคลื่อนไหวในคดีนี้เพื่ออยากให้ความยุติธรรมกับแตงโม ซึ่งเป็นคดีอาญาแผ่นดินที่สามารถดำเนินการได้ และอยากให้เป็นคดีตัวอย่างในอนาคตหากมีเกิดขึ้นอีก พร้อมเชื่อว่าดีเอสไอจะสามารถคลี่คลายคดีนี้ได้ 

นายอัจฉริยะ ยังบอกอีกว่า นอกจากนี้ตนเองยังได้ยื่นหนังสือให้แพทยสภาตรวจสอบการทำงานของแพทย์นิติเวช ผู้ชันสูตรศพของแตงโมถึงการให้ความเห็นบาดแผล ว่าตรงตามความเป็นจริงหรือไม่ หากพบว่าไม่ถูกต้องก็จะมีความผิดต่อวิชาชีพเวชกรรม เนื่องจากการวินิจฉัยไม่ถูกต้อง

ขณะที่ เลขาฯธนกฤต บอกด้วยว่า ในวันนี้นายอัจฉริยะ ตั้งข้อสังเกตว่า มีประเด็นหลักฐานที่น่าจะเป็นคดีฆาตกรรม โดยหลังจากรับหนังสือแล้ว จะให้ดีเอสไอ ไปดำเนินการตรวจสอบ โดยมี พ.ต.ท.พะเยาว์ ทองเสนรองอธิบดีดีเอสไอ ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะทำงานคดีแตงโมไปดำเนินการ เพราะก่อนหน้านี้ก็ได้เดินทางไปตำรวจภูธรภาค1 เพื่อรับฟังเรื่องราวของคดีความมาแล้ว และขณะนี้อยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวน ซึ่งตำรวจได้นำคดีนี้ยื่นต่ออัยการแล้ว และอำนาจอยู่ที่อัยการว่าจะมีความเห็นอย่างไร 

ส่วนทางดีเอสไอได้ตั้งเลขาสืบสวนในการทำงานคู่ขนานกับตำรวจภูธรภาค1อยู่ และหากเป็นประเด็นใหม่ที่เป็นลักษณะของการฆาตกรรมนั้น ก็ยังมีอายุความที่จะดำเนินการได้ 20 ปี ซึ่งดีเอสไอก็สามารถรวบรวมพยานหลักฐานขึ้นมาได้อีก และหากไปตามผู้ร้องที่เป็นคดีฆาตกรรมและมีพยานหลักฐานใหม่แล้วไม่สัมพันธ์กับการกระทำการโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ดีเอสไอก็จะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการเพื่อขอความเห็นให้รับเป็นคดีพิเศษต่อไป ซึ่งในคดีนี้หากพบว่ามีคนทำให้แตงโมเสียชีวิตจากการฆาตกรรมจริง ก็จะต้องมีผู้ถูกดำเนินคดีตามข้อหาดังกล่าวได้

ส่วนร่องรอยบาดแผลของแตงโม ตามที่ตำรวจภูธรภาค 1 สรุปก่อนส่งอัยการที่ระบุว่ามี 26 บาดแผลนั้น เลขาฯธนกฤต ระบุว่า ในวันที่ผ่าพิสูจน์รอบ2 ตนเองได้ให้นับรอยบาดแผลมีทั้งหมด 22 บาดแผล แต่ไม่แน่ใจว่า 26 บาดแผลนับรอยแผลเป็นด้วยหรือไม่ และตนเองไม่ได้เห็นรายงานการชันสูตรของสถาบันนิติเวช โรงพยาบาบตำรวจตั้งแต่ตอนต้นว่าสรุปไว้กี่บาดแผล จึงยืนยันว่า ที่ตนเองพบบาดแผลร่วมกับหมอนิติเวช สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ มีทั้งหมด 22 บาดแผล  

ส่วนบาดแผลที่ใหญ่ที่ต้นขา การตรวจของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ไม่ได้ระบุถึงการถูกใบพัดเรือหรือไม่ แต่ระบุว่าเกิดจากวัตถุกึ่งมีคม และเกิดก่อนเสียชีวิต เพราะทางสถาบันฯ มีอำนาจการตรวจเฉพาะคำร้องขอจากญาติ และเป็นเพียงจิ๊กซอว์หนึ่งของการตรวจพิสูจน์เท่านั้น ส่วนพนักงานสอบสวนจะนำไปประกอบสำนวนหรือไม่ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจ 

ขณะที่พันตำรวจโทพเยาว์ เปิดเผยด้วยว่า ก่อนหน้านี้ที่นางสาวรสนา โตสิตระกูล และนายนิติธร ล้ำเหลือ ได้ยื่นให้ดีเอสไอรับคดีนี้เป็นคดีพิเศษ ตรวจสอบแล้วยังไม่เข้าองค์ประกอบ เนื่องจากอำนาจการสอบสวนของตำรวจเสร็จสิ้นแล้ว แต่กรณีที่นายอัจฉริยะมายื่นอีกครั้ง เป็นประเด็นใหม่ทางคดีที่ระบุว่าเป็นการฆาตกรรม ซึ่งขัดแย้งกับตำรวจ ก็จะสามารถสอบสวนได้หากคณะกรรมการคดีพิเศษรับ หรือหากอัยการตีกลับสำนวนให้สอบสวนใหม่ ซึ่งดีเอสไอก็มีอำนาจในการเข้าไปร่วมสอบสวน ซึ่งหากพยานหลักฐานที่นายอัจฉริยะยื่นเข้ามาเกี่ยวข้องกับการฆาตกรรมชัดเจน ก็จะเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องมาสอบปากคำเพิ่มเติม 

แสดงความเห็น