รสนา-ทนายนกเขา ยื่นหนังสือ DSI ให้รับคดีแตงโม เป็นคดีพิเศษ ขออย่าตั้งธงเป็นอุบัติเหตุ

รสนา-ทนายนกเขา ยื่นหนังสือ DSI ให้รับคดีแตงโม เป็นคดีพิเศษ พร้อมขออย่าตั้งธงเป็นอุบัติเหตุ ขอให้กลับไปดูหลักฐานเดิม ว่าจะนำไปสู่การเล็งเห็นผล หรือจงใจทำให้เสียชีวิตได้หรือไม่ และตอบสังคมให้ชัด ด้านรองอธิบดีDSI เตรียมนำเข้าที่ประชุมรับเป็นคดีพิเศษหรือไม่

ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษหรือ ดีเอสไอ นางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา และนายนิติธร ล้ำเหลือ แกนนำกลุ่มประชาชนคนไทย (ปท.) เดินทางมายื่นหนังสือถึงกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI ขอให้รับคดีการเสียชีวิตของ แตงโม นิดา เป็นคดีพิเศษ โดยมี พ.ต.ท. สุภัทธ์ ธรรมธนารักษ์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นผู้รับเรื่อง ซึ่งรายละเอียดในหนังสือ ระบุว่า มีความสงสัยในการทำงานของตำรวจ กรณีการเสียชีวิตของ “แตงโม-นิดา” ที่มีทิศทางในการดำเนินคดีว่าประมาทหรืออุบัติเหตุ แต่พยานหลักฐานบ่งชี้ว่าอาจจะเป็นคดีฆาตกรรมอำพราง โดยมีผู้มีอิทธิพลเกี่ยวข้อง และมีขบวนการทำลายพยานหลักฐาน โดยอาจมีการเบี่ยงเบนผลการตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์ ให้เสมือนว่าเป็นการจมน้ำตายธรรมดา คดีนี้จึงไม่อาจให้พนักงานสอบสวนในคดีปกติทำหน้าที่ได้ ต้องใช้หน่วยงานที่มีวิธีการสอบสวนคดีพิเศษ โดยบุคลากรที่มีความหลากหลายทางอาชีพ

โดยนางสาวรสนา บอกว่า จากการได้พูดคุยกับรองอธิบดีดีเอสไอ เบื้องต้น ในกรณีที่เป็นความผิดต่อร่างกาย อาจไม่เข้าข่ายคดีพิเศษ แต่ตนเองมองว่า กรณีนี้เป็นการะทำผิดต่อชีวิตและยังไม่ทราบว่า การเสียชีวิตเป็นอุบัติเหตุหรือฆาตกรรมอำพราง เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สังคมยังสงสัย และแตงโมเป็นผู้หญิงคนหนึ่งไม่มีความปลอดภัยกับชีวิตของผู้หญิงจึงต้องทำให้ระบบความยุติธรรมกลับมา และเห็นว่าคดียังไม่มีความคืบหน้า จึงมายื่นเรื่อง เพื่อให้ดีเอสไอได้นำเข้าสู่คณะกรรมการเพื่อพิจารณารับเป็นคดีพิเศษ ก่อนที่พยานหลักฐานพยานวัตถุจะสูญหาย และหวังว่า อธิบดีดีเอสไอ และคณะกรรมการคดีพิเศษ จะรับเป็นคดีแตงโมเป็นคดีพิเศษ

ส่วนประเด็นที่ยังสงสัยคือ บาดแผลในร่างกายผู้ตาย หลักฐานพยานวัตถุอื่นๆ เช่น เรือ รวมถึงพฤติกรรมกลุ่มเพื่อน ที่คนตกน้ำไปทั้งคนแต่ไม่ช่วยกันเหลือ

ทั้งนี้การเดินทางมายื่นหนังสือ ยังไม่ได้มีการพูดคุยกับนางภนิดา ศิระยุทธโยธิน หรือคุณแม่ของแตงโม แต่ก่อนหน้านี้ได้เรียกร้องไปทางนายกรัฐมนตรีแล้วว่าให้รับเป็นคดีพิเศษแต่ก็ยังไม่ได้รับการตอบรับ ซึ่งมองว่าหากเป็นครอบครัวดำเนินการยื่นเรื่องต่อดีเอสไอก็จะเป็นเรื่องง่าย แต่ตนเองมายื่นในฐานะประชาชนที่เป็นผู้หญิงเท่านั้น และต้องการให้มีการสืบสวนสอบสวนได้อย่างชัดเจนเพื่อให้ระบบได้รับความยุติธรรม เพราะมองว่า พยานต่างๆในปัจจุบันก็ยังไม่ได้ตอบโจทย์ให้ชัดเจนว่าจะคลี่คลาย จึงไม่อยากให้เกิดการรวบรัดจบคดี แต่อยากให้มีการสืบสวนเพื่อความเป็นธรรม

ขณะที่ นายนิติธร บอกว่า ประเด็นที่ยื่นเรื่องสำคัญคือ ลักษณะบาดแผลที่มีการพูดถึงการตรวจครั้งที่2 ที่เป็นบาดแผลใหญ่ แต่บาดแผลเกิดก่อนหรือเกิดในขณะอยู่ในน้ำหรือไม่ หากเกิดบาดแผลแล้วอยู่ในน้ำจะทำให้ดำรงชีวิตอยู่ในน้ำหรืออยู่ในสภาวะหมดสติหรือไม่ และถ้าพฤติกรรมของคนบนเรือ มีเพื่อนตกน้ำแล้วไม่ช่วย เป็นการทำให้เล็งเห็นได้ว่า จงใจให้เสียชีวิตหรือ เล็งเห็นผลถึงการเสียชีวิตหรือไม่ ซึ่งการสืบสวนสอบสวน ถ้ากรณีของคนตกน้ำ อย่าเชื่อว่าเสียชีวิตจากการจมน้ำเพียงอย่างเดียว และอย่าเชื่อว่าจุดที่พบศพ อาจไม่ใช่จุดที่เกิดเหตุ แม้กระทั่งการตรวจสอบพื้นน้ำในจุดตก และจุดพบศพ ก็ควรตรวจสอบว่าเป็นอย่างไร พบเหมือนสิ่งที่เจอในร่างกายผู้เสียชีวิตหรือไม่

ส่วนกรณีที่ว่ามีพยานหลักฐานใหม่หรือไม่นั้น มองว่า อยากให้กลับไปดูพยานหลักฐานเก่าก่อนว่า พนักงานสอบสวนอธิบายชัดหรือยังว่าการประมาทที่ว่า ที่ทำให้เกิดบาดแผล อะไรที่ทำให้เกิดบาดแผล และพยานหลักฐานที่มีอยู่เชื่อมโยงกับอะไรได้บ้าง เพราะตั้งแต่เริ่มต้น มีการตั้งประเด็นประมาท กับอุบัติเหตุ ทำให้เกิดความคับแคบในการหาพยานหลักฐาน ซึ่งมองว่า ผ้าขาวที่อยู่ในชุด หรืออื่นๆ พยานหลักฐานทุกอย่างที่จะต้องหา เพราะจะทำให้มีผลของคดี ที่นำไปสู่การเข้าข่ายว่าจะเป็นเล็งเห็นผล หรือมีเจตนาได้หรือไม่ด้วย

ทั้งนี้ยืนยันว่า การมายื่นหนังสือในครั้งนี้ ตนเองถูกทำให้สงสัยจากการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวน และคำให้การของคนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งข้อสงสัยเหล่านี้ไม่มีคำตอบ ส่วนที่เจ้าหน้าที่อาจจะบอกว่า เป็นข้อเท็จจริงในสำนวนที่ไม่เปิดเผย แต่ตนเองมองว่า สิ่งที่เปิดเผย ก็มีข้อสงสัยทั้งนั้น จึงควรทำให้กระจ่าง และควรทำเรื่องนี้อย่างเปิดเผย

ด้านรองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ระบุด้วยว่า เบื้องต้นรับเรื่องไว้พิจารณาว่าจะเข้าข่ายเป็นคดีพิเศษหรือไม่​ เพราะตามกฎหมายคดีพิเศษ​ แนบท้ายบัญชีตามพ.ร.บ.สอบสวนคดี​พิเศษ​ ไม่ได้อยู่ในเงื่อนไข เหมือนเช่น​ คดีแชร์ลูกโซ่ที่จะดำเนินการ​ได้เลย​ โดยเรื่องนี้​จะส่งเรื่องให้คณะกรรมการ​คดีพิเศษ​พิจารณา​ เพราะเป็นเรื่องที่สังคมให้ความสนใจ และเป็นคดีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมให้ความสำคัญ คาดว่าจะใช้เวลาไม่นานในการพิจารณา ส่วนจะไม่ทันการสรุปสำนวนของตำรวจภูธรภาค 1 ก็ต้องพูดคุยกับตำรวจว่าจะสรุปสำนวนไปในทิศทางไหน

สำหรับประเด็นข้อสังเกตที่นำมาสู่การยื่นหนังสือในวันนี้

1. ปมการเปลี่ยนสถานที่ชันสูตรพลิกศพแบบกระทันหัน  2. การเข้าถึงพยานหลักฐาน ตัวบุคคล รวมไปถึงการอายัดของกลางกลับไม่เป็นไปโดนฉับพลัน  3.ความล่าช้าในการตรวจร่างกาย เครื่องแต่งกาย รวมไปถึงร่องรอยต่างๆในร่างกายของผู้ต้องสงสันที่อยู่ภายในเรือ​ 4.มองการตั้งประเด็นสืบสวนสอบสวนที่มุ่งเป้าไปยังการประมาทหรืออุบัติเหตุ ค่อนข้างคับแคบไป ส่งผลต่อการสอบปากคำและค้นหาพยานหลักฐาน  พยานแวดล้อม 5. ขณะที่ข้อมูลยังไม่ปรากฏชัดเจนว่าผู้เสียชีวิตตกน้ำไปได้อย่างไร  และทำไมถึงช่วยตัวเองไม่ได้ในขณะที่พลัดตกลงไปในน้ำ ส่งผลให้ทำไมคนที่อยู่ถึงไม่สามารถช่วยไว้ทันเวลา 6.แล้วขณะที่ตกน้ำตอนนั้นผู้เสียชีวิตมีสติหรือไม่ 7.สิ่งแปลกปลอมที่พบในร่างกายทั้งในส่วนของปอด มีความสอดคล้องกับพื้นดินใต้น้ำในจุดที่ตกลงไปหรือไม่ 8. การตรวจโรงเก็บเรือมีการตรวจอย่าละเอียดหรือไม่ มีการเคลื่อนย้าย ถอดถอน กล้องวงจรปิดหรือไม่ ตลอดจนมีการทำผนัง ทาสีใหม่หรือไม่  9.การตรวจสอบเกี่ยวกับเครื่องมือสื่อสารของบุคคลที่เกี่ยวข้องมีการตรวจอย่างละเอียดและครบหรือไม่ มีการนำเครื่องมือสื่อสารเครื่องอื่นๆที่ไม่เปิดเผยอยู่ในช่วงนั้นหรือไม่  10.ประเด็นเรื่องการอายัดเรือในประเภทและลักษณะเดียวกับลำที่เกิดเหตุ ตอนนี้มีการอายัดหรือไม่และตรวจสอบรวบรวมหรือไม่ และ 11. มองว่าการสืบสวนโดยพนักงานสืบสวนสอบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่กำลังดำเนินการอยู่ตอนนี้ คล้ายว่าไม่ได้เป็นการค้นหาความจริงตามที่สังคมเครือบแคลงใจ จนยากที่สังคมจะเชื่อมั่นและยอมรับ

แสดงความเห็น