“ระวี” ห่วง งานกมธ. แก้กม.ลูกไม่ฟังเสียงพรรคเล็ก หลังเสนอเพิ่มที่ปรึกษากมธ.

นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ ฐานะกรรมาธิการ(กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่…) พ.ศ.. และ ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่…) พ.ศ… รัฐสภา กล่าวถึงการประชุมกมธ.ฯ  1 สัปดาห์ หลังจากที่พบว่ามีกมธ. ติดเชื้อโควิด-19 โดยเชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบต่อระยะเวลาพิจารณาเนื้อหามากนัก อย่างไรก็ดี ในการกลับมาประชุมสัปดาห์หน้า ตนจะเสนอให้ที่ประชุม เชิญผู้ที่เสนอคำแปรญัตติในมาตรา ซึ่งตรงกับประเด็นที่กมธ.ฯ พิจารณา มาร่วมประชุมเพื่อประหยัดเวลาพิจารณา  และสามารถทำงานให้แล้วเสร็จตามกำหนด คือ ช่วงปลายเดือนเมษายน นี้

นพ.ระวี กล่าวด้วยว่าขณะนี้ตนยังไม่เห็นรายละเอียดของคำแปรญัตติที่สมาชิกรัฐสภาเสนอมายังกมธ. ทราบเพียงจำนวนผู้เสนอและจำนวนมาตราที่เสนอแก้ไขเท่านั้น อย่างไรก็ดีในการเสนอสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ทราบเบื้องต้นว่ามี 3 สูตร คือ 1.สูตรของพรรคใหญ่ที่ใช้คะแนนพรรค หารด้วยสำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน ซึ่งจะทำให้มีผลลัพธ์คะแนนต่อส.ส.1 คนที่ 3.7 แสนคะแนน , 2. สูตรที่เสนอแปรญัตติ ให้ใช้คะแนนพรรค หารด้วยจำนวน ส.ส.ทั้งหมด คือ 500 คน เพื่อให้ได้ส.ส.พึงมี โดยมีคะแนน 7.4 หมื่นคะแนนต่อส.ส. 1 คน และ 3.  สูตรพรรคเล็ก ให้นำคะแนนของบัญชีรายชื่อ หรือคะแนนพรรครวมกับคะแนนผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.เขต  หารด้วยจำนวนส.ส.ทั้งหมด คือ 500 คน เพื่อให้ได้ส.ส.พึงมี โดยจะได้คะแนน 1.5แสนคะแนนต่อ ส.ส. 1 คน  อย่างไรก็ดีในประเด็นการคำนวณนั้น กมธ. ยังไม่ได้พิจารณาเนื้อหา แต่เบื้องต้นสูตรที่เสนอแปรญัตติและสูตรพรรคเล็กนั้น มีส.ส.ประมาณ 30เสียงสนับสนุน

นพ.ระวี กล่าวด้วยว่าสำหรับการทำงานในกมธ.มีประเด็นที่ตนกังวล คือ กมธ.ที่มาจากพรรคการเมืองใหญ่ไม่ฟังเสียงข้างน้อย โดยก่อนหน้านี้ตนเสนอให้ที่ประชุมตั้งที่ปรึกษากมธ. โดยเสนอชื่อนายปรีดา บุญเพลิง ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคครูไทยเพื่อประชาชน และ นายมนูญ สิวาภิรมย์รัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจใหม่  แต่กมธ. ไม่เห็นด้วย พร้อมให้เหตุผลว่า กมธ.ทั้ง 49 คน มีจำนวนเยอะ และแต่ละคนเป็นเซียนทางกฎหมายแล้ว

“เหตุผลที่ผมเสนอเพื่อให้มีตัวแทนส.ส.พรรคเล็กร่วมสู้ในกมธ.ฯด้วย เพราะพรรคเล็กมีผมเพียงคนเดียว และได้สิทธิพูดแค่หนึ่งครั้ง ต่างจากพรรคใหญ่ และหากลงมติผมก็เป็นฝ่ายแพ้ แต่ผมเข้าใจว่าระบบประชาธิปไตยเป็นแบบนี้ ดังนั้นหากแพ้ในชั้นกรรมาธิการ ยังมีชั้นของวาระสองในรัฐสภาไว้สู้ แต่หากชั้นรัฐสภาสู้ไม่ได้ จะยื่นศาลรัฐธรรมนูญในท้ายที่สุด ทั้งนี้ผมขอย้ำว่าการสู้ครั้งนี้ไม่ใช่สู้เพื่อตัวเองหรือพรรคเล็ก แต่คือการสู้กับวงจรอุบาทว์ทางการเมือง ระบบเผด็จการรัฐสภา” นพ.ระวี กล่าว

แสดงความเห็น