ผู้สื่อข่าวรายงานถึงการประชุมสภาฯ ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณา ร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่…) พ.ศ…. ซึ่งมีส.ส. เสนอให้ที่ประชุมสภาฯ พิจารณา รวม 7 ฉบับ โดยก่อนการพิจารณา นายชวน ระบุว่าทั้ง 7 ฉบับจะพิจารณารวมกันในคราวเดียว แต่จะแยกลงมติทีละฉบับเนื่องจากมีหลักการที่แตกต่างกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับสาระสำคัญของเนื้อหาที่ขอให้แก้ไขข้อบังคับการประชุมสภาฯ อาทิ ขอให้แก้ไขให้สภาฯ จัดการประชุมสภาฯ ผ่านทางออนไลน์, การแก้ไขข้อบังคับให้สอดคล้องกับ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564 ที่ให้สิทธิสภาฯ สามารถเสนอได้, การขอให้จัดส่งเอกสารประชุมผ่านช่องทางออนไลน์, การแก้ไขขั้นตอนการออกเสียงลงคะแนนโดยเปิดเผยและการนับคะแนนใหม่
ทั้งนี้ ในตอนหนึ่งในการนำเสนอหลักการและเหตุผล ร่างข้อบังคับการประชุมสภาฯ (ฉบับที่..) พ.ศ…. ที่เสนอโดยนายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลและคณะ ที่เสนอให้แก้ไขขั้นตอนการออกเสียงลงคะแนนโดยเปิดเผยตามข้อ 83 และ แก้ไขขั้นตอนการนับคะแนนใหม่ ตามข้อ 85 เพื่อกำหนดรายละเอียดให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองที่ฝ่ายรัฐบาลใช้เสียงข้างมากกลับมติที่ฝ่ายค้านชนะโหวต พร้อมยกตัวอย่างการประชุมสภาฯ เมื่อ 27 พฤศจิกายน 2562 และ เมื่อ 28 พฤศจิกายน 2562 ระหว่างวาระพิจารณาญัตติ ขอให้สภา ตั้ง กรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ เพื่อศึกษาผลกระทบจากการกระทำ ประกาศ และคำสั่ง คสช. ซึ่งผลการลงมติพบว่า ฝ่ายค้านชนะโหวต 4 คะแนน แต่ฝ่ายรัฐบาลขอให้นับคะแนนใหม่ โดยความเห็นคือ การนับคะแนนใหม่ คือ การใช้องค์ประชุมชุดเดิม ไม่ใช่เปิดโอกาสให้ฝ่ายรัฐบาลเติมส.ส.เข้ามาเป็นองค์ประชุม เพราะจะเท่ากับการลงคะแนนใหม่ ไม่ใช่นับคะแนนใหม่
“ผมทราบว่ามติวิปรัฐบาล จะไม่ให้รับร่างแก้ไขข้อบังคับการประชุมสภาฯ ของผมเพียงฉบับเดียว ผมไม่ทราบว่าจะเป็นอย่างไร แต่จะคงความได้เปรียบไว้หรืออย่างไร ทั้งที่ร่างของผมแก้ไขไม่ให้มีการได้เปรียบ เสียเปรียบ ให้ฝ่ายชนะพลิกกลับ และให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย ต่อไปท่านอาจเป็นฝ่ายค้าน ไม่เป็นรัฐบาลเสมอไป มติวิปรัฐบาลที่บอกว่าไม่รับฉบับของผมขอให้ทบทวน ด้วยเหตุผล เพราะความรวนเร จะสร้างความเสื่อมเสียต่อสภาฯ โดยผมยอมรับว่าคนที่ทำหน้าที่ประธานสภาฯ ไม่มีความเป็นกลางโดยธรรมชาติ เพราะอิงพรรครัฐบาล” นายธีรัจชัย อภิปราย
ทางด้านนายชวน ชี้แจงเนื่องจากถูกพาดพิงว่า การตัดสินใจของประธาน ทำเหมือนประธานทุกคนที่เคยทำ หากเกิดเรื่องขึ้นอีก ต้องตัดสินใจแบบนั้น ไม่ใช่ไม่เป็นกลาง ทั้งนี้ตนได้ย้อนไปศึกษาแนวปฏิบัติของประธานคนก่อนๆ พบว่าได้ยึดแนวที่ตนปฏิบัติ สิ่งที่นายธีรัจชัยติดใจ และยื่นเรื่องให้คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ตนทราบว่ากมธ. มีความเห็นว่าการปฏิบัติหน้าที่ของตนถูกต้องแล้ว
“ความเห็นที่มี ผมเคารพความเห็น แต่แนวปฏิบัติไม่ใช่อยู่ข้างรัฐบาล เข้าข้างไม่เป็นกลาง แต่การตัดสินใจนั้นยึดตามกฎหมายที่เคารพมา ส่วนเรื่องนี้เป็นความเห็นที่แตกต่างกัน” นายชวน ชี้แจง