รมว.ยธ. รับฟังปัญหาเยาวชน ชิงทองห้างดัง รับห่วงเรื่องการศึกษา ขอสังคมให้โอกาส

รมว.ยุติธรรม เข้าฟังปัญหาเยาวชน กรณีกระทำผิดชิงทองที่ห้างดัง ยอมรับห่วงเรื่องการศึกษา ยัน ให้โอกาสเยาวชนทุกคนกลับตัวหวังให้มีอนาคตที่ดี เชื่อ เด็กไม่ได้ตั้งใจทำผิด แต่เพียงรู้เท่าไม่ถึงการ 

ที่กระทรวงยุติธรรม นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ได้พบและพูดคุย กับ นางสาวเอ (นามสมมติ) อายุ 17 ปี และมารดา ได้สอบถามถึงปัจจัยและสาเหตุในการตัดสินใจในการกระทำผิด หลังก่อเหตุชิงทรัพย์ทองคำรูปพรรณ ในห้างสรรพสินค้า ย่านนนทบุรี 

นายสมศักดิ์ เปิดเผยว่า จากการรับฟังข้อเท็จจริง จากนางสาวเอ และทราบการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนที่ถูกต้องเหมาะสม ตามที่ต้องปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม เพราะเยาวชนรายนี้ก่อนที่จะตัดสินใจลงมือก็ได้ตกเป็นเหยื่อแชร์ออนไลน์ ซึ่งโดนโกงเงินไปหลายหมื่นบาท แต่ด้วยความที่อายุยังน้อยเลยเลือกแก้ปัญหาในทางที่ผิด ตนขอยืนยันว่าตนให้ความสำคัญกับเยาวชนทุกคนที่ประสบปัญหา แต่สิ่งที่ย้ำกับกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนมาตลอดคือ การใช้วิธีการให้โอกาส และแก้ไขปัญหาโดยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม ควบคู่ไปกับการศึกษา ฝึกอาชีพ ซึ่งต้องดำเนินการให้แก่เด็กทุกคน

“จุดแข็งของเด็กคนนี้คือเรียนดี มีเกรดเฉลี่ยอยู่ในเกณฑ์สูง ก็อยากขอให้ตั้งใจเรียนแบบนี้ต่อไป เยาวชนทุกคนสามารถผิดพลั้งได้ แต่ต้องรู้จักกลับตัว เวลานี้สิ่งที่ทำต้องยอมรับว่านางสาวเอทำลงไปนั้นผิดกฎหมาย แต่ไม่ว่าอย่างไรก็อยากให้มีกำลังใจสู้ต่อไปในเรื่องคดีความและเป็นคนดีของสังคมในวันข้างหน้า และผมก็อยากขอสังคมให้โอกาสกับเยาวชนที่กระทำผิดเพราะเด็กเหล่านี้เป็นเพียงคนที่ทำผิดพลาดที่รอการปรับพฤตินิสัย หากเราเปิดใจเยาวชนเหล่านี้ก็จะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในอนาคต” นายสมศักดิ์ ระบุ

ด้านพ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เปิดเผยว่า เวลานี้กรมพินิจฯ ได้ดำเนินการเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนรายนี้ตามขั้นตอน โดยมีนักวิชาชีพต่างๆ ทั้งพนักงานคุมประพฤติ นักจิตวิทยาคลินิก นักสังคมสงเคราะห์ พยาบาลวิชาชีพและนักวิชาการอบรมและฝึกวิชาชีพ  ร่วมกันสืบเสาะข้อเท็จจริง ประเมินความเสี่ยงในการกระทำผิดซ้ำและความจำเป็นที่ต้องได้รับการบำบัดแก้ไขฟื้นฟู สงเคราะห์ ช่วยเหลือ เพื่อประมวลข้อเท็จจริง ข้อมูลและปัจจัยที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เสนอต่อศาล เพื่อให้ศาลใช้ดุลพินิจในการพิจารณาต่อไป ซึ่งในกระบวนการยุติธรรมของเด็กและเยาวชนนั้น มุ่งเน้นให้เด็กและเยาวชนสำนึกผิด ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและกลับตนเป็นคนดี มากกว่าการลงโทษ ซึ่งมีเครื่องมือต่างๆ เช่น มาตรา 90 ของพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัว วิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 ซึ่งเป็นมาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญาหลังฟ้องคดี ซึ่งมีหลักเกณฑ์และแนวทางที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกำหนด ซึ่งมาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญาหลังฟ้องคดี เป็นกระบวนการที่ใช้กับเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมตามหลักสากล ที่มุ่งเน้นในการให้โอกาสเด็กและเยาวชนที่กระทำผิดทุกคนที่อยู่ในหลักเกณฑ์ มีความสำนึกผิดและพร้อมเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมให้เป็นคนดีต่อไป

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้เข้าเยี่ยมร้านกาแฟ  เบลลินี แกร็บ แอนด์ โก แอด ดีเจโอพี พร้อมพูดคุยและให้กำลังใจเยาวชนในความดูแลของกรมพินิจฯ ซึ่งอยู่ในระหว่างฝึกอาชีพในโครงการพัฒนาทักษะอาชีพฯ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย ให้เยาวชนมีทักษะทางอาชีพ มีความพร้อมในการกลับคืนสู่สังคมและมีอนาคตที่ดีต่อไป

แสดงความเห็น