กองหนุน “ลุงตู่” หายไปไหน จบซักฟอก ปรับครม.-ลาออก-ยุบสภา?

ขู่ฟอดแต่หัววัน ตั้งแต่ยังไม่ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจเสียด้วยซ้ำ แต่ล่าสุดปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา แกนนำฝ่ายค้าน “ประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา-เลขาธิการพรรคเพื่อไทย” ออกมาสำทับว่า  ศึกซักฟอกที่จะเกิดขึ้นรอบนี้ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองให้ได้  

โดยศึกซักฟอกรอบนี้ ดูจะเป็นที่แน่ชัดว่า ฝ่ายค้าน ล็อกเป้าหลักไว้สองแกนนำรัฐบาลคือ 

1.บิ๊กตู่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี 

2. อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.สาธารณสุข 

โดยเฉพาะกับ พลเอกประยุทธ์  ทางฝ่ายค้าน เคยขู่ไว้ก่อนหน้านี้ว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจรอบนี้ พลเอกประยุทธ์ จะบอบช้ำหนักที่สุด จากคำอภิปรายของฝ่ายค้านในเรื่องการแก้ปัญหาโควิด-การบริหารจัดการเรื่องวัคซีนที่ล้มเหลว 

ที่ก็เป็นเรื่องที่แวดวงการเมือง เห็นตรงกันหมดในยามนี้ว่า จาก “สงครามโรค-โควิด” ระลอกนี้ เอาแค่เรื่อง “โควิด-วัคซีน-คนตาย” อย่างเดียว ไม่ต้องไปอภิปรายเรื่องอื่นให้เสียเวลา โดยที่ส.ส.ฝ่ายค้าน ทุบ บิ๊กตู่-เสี่ยหนู หนักๆ สามวันสามคืน โดยฝ่ายค้าน เรียงข้อมูลประเด็นแน่นๆ ชนิด ศบค.-กระทรวงสาธารณสุข เตรียมข้อมูลให้ บิ๊กตู่-เสี่ยหนู ชี้แจง แทบไม่ทัน ผสมกับอภิปรายแบบลาก “ดราม่าคนเจ็บ-คนตาย-คนไม่มีจะกิน” ด้วยลีลาการอภิปรายแบบจัดจ้าน-สะเทือนใจ กระชากอารมณ์ประชาชน ตลอดสามวันสามคืน คนการเมือง ก็มองกันว่าถ้าฝ่ายค้าน ทำได้แบบนี้ ก็เป็นไปได้ที่ 

“บิ๊กตู่-เสี่ยหนู”

เจอสถานการณ์ลำบากแน่ โดยเฉพาะพลเอกประยุทธ์ ในฐานะประธานศบค. ที่ต้องรับผิดชอบไปเต็มๆ เพราะแม้พลเอกประยุทธ์ อาจชนะด้วยเสียงลงมติไว้วางใจในสภาฯ แต่ในทางการเมือง หากโดนอภิปรายหนักๆ แล้วแจงไม่ได้ พลเอกประยุทธ์ บอบช้ำหนักทางการเมืองแน่นอน 

เพราะอย่างที่เห็น รอบนี้ ฝ่ายค้านคาดหวังไว้สูง ว่าจะทำให้ พลเอกประยุทธ์ อยู่ไม่ได้ทางการเมือง หลังที่ผ่านมา แม้จะพยายามหาทางโค่น พลเอกประยุทธ์ ให้ได้ โดยใช้วิธีทางการเมืองทั้งในสภาฯ-นอกสภา เช่น หนุนม็อบสามนิ้วทั้งแบบเปิดเผยและไม่เปิดเผย เพื่อล้มรัฐบาล  หรือใช้กระบวนการทางกฎหมาย เช่น การยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยบางคดี เช่น บ้านพักทหาร แต่ก็ไม่สามารถน็อกพลเอกประยุทธ์ได้ 

ดังนั้นเมื่อตอนนี้ รัฐบาล ดูจะเพลี่ยงพล้ำทางการเมืองจากเรื่องโควิด ฝ่ายค้าน จึงไม่มีวันพลาดโอกาสทองครั้งนี้แน่นอน เรียกได้ว่า มีเท่าไหร่ ใส่หมด หวังน็อกให้ได้ 

ซึ่งเรื่องเสียง ส.ส.ในสภาฯ ฝ่ายค้านไม่หวังอยู่แล้ว เพราะรู้อยู่แล้วว่า มันยากที่ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะ พรรคภูมิใจไทย-ประชาธิปัตย์ จะงดออกเสียงหรือจะไม่ลงมติไว้วางใจ พลเอกประยุทธ์ เพราะยังไง สองพรรคนี้ ต้องดันพลเอกประยุทธ์ต่อไป 

ยิ่งเมื่อ ฝ่ายค้าน ยื่นญัตติไม่ไว้วางใจ อนุทิน-รมว.สาธารณสุข  ด้วยแล้ว มันก็จะเกิดการต่อรองทางการเมืองเกิดขึ้น คือหาก ภูมิใจไทย ไม่ยอมลงมติไว้วางใจ พลเอกประยุทธ์ ทาง ส.ส.พลังประชารัฐ ก็จะเอาคืนด้วยการไม่ลงมติไว้วางใจ อนุทิน เช่นกัน 

ดังนั้น ฝ่ายค้าน จึงไม่หวังอยู่แล้วว่า จะมีส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล จำนวนหลายสิบคน จะงดออกเสียง ตอนโหวตไว้วาางใจ พลเอกประยุทธ์ จนทำให้ พลเอกประยุทธ์ ได้คะแนนเสียงไว้วางใจไม่ถึงกึ่งหนึ่งหรือได้คะแนนไว้วางใจผ่านแบบเฉียดฉิว     เพราะสิ่งที่ฝ่ายค้าน หวังจริงๆ คือ กระแสสังคม ที่จะก่อหวอด ไม่พอใจ รัฐบาล-พลเอกประยุทธ์ จะพุ่งถึงขีดสุด หลังจบศึกซักฟอก จนทำให้ แม้พลเอกประยุทธ์ ชนะเสียงโหวตในสภาฯ แต่จะแพ้กระแสสังคม จนอยู่ไม่ได้ และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองตามมา ที่ก็มีอยู่แค่สามช่องทางคือ 

“ปรับคณะรัฐมนตรี-นายกฯลาออก-นายกฯยุบสภา” 

โดยเมื่อดูจากแต่ละเงื่อนไขการเมือง ภายใต้การวิเคราะห์จากบุคลิกนิสัยของพลเอกประยุทธ์ ไล่ไปทีละความเป็นไปได้

เริ่มจาก “นายกฯลาออก” หลายคนมองว่า น่าจะเกิดขึ้นได้ยาก เว้นแต่พลเอกประยุทธ์ จะถอดใจเองหรือไม่ก็รอให้สถานการณ์ดีขึ้นกว่าปัจจุบัน หากพลเอกประยุทธ์เห็นว่า สมควรแก่เวลาแล้ว ก็อาจตัดสินใจอะไรเอง  แต่ที่จะไปหวังให้พลเอกประยุทธ์ ลาออกหลังศึกซักฟอกจบลง ถ้าดูจากบุคลิกนิสัยของพลเอกประยุทธ์ ที่มีบุคลิก ยิ่งไล่ยิ่งสู้  คนจึงเชื่อว่า พลเอกประยุทธ์ ไม่น่าจะเลือกทางนี้ แต่ถ้าจะปรับหรือขยับอะไร คนการเมือง มองกันว่า พลเอกประยุทธ์ น่าจะเลือกใช้วิธี “ปรับครม.” แทนจะดีกว่า เพราะการปรับครม. หลังจบศึกซักฟอก เป็นเรื่องที่การเมืองไทย ใช้เป็นประจำ เพราะอย่างน้อยก็เพื่อช่วยลดกระแสบางอย่างลงไปได้บ้าง 

โดยหากมีการปรับครม.เกิดขึ้น เก้าอี้ที่หลายคน จับตามองมากสุดคงไม่พ้น “รมว.สาธารณสุข” ซึ่ง อนุทิน -ภูมิใจไทย ก็คงไม่ยอม เพราะหากยอมให้ปรับเปลี่ยนก็เท่ากับยอมรับว่า ตัวเองบริหารงานล้มเหลว 

เว้นแต่ อนุทิน จะยอมลุกจากเก้าอี้เอง แต่ก็เช่นกัน หากดูจากอุปนิสัยทางการเมืองของอนุทิน  ก็คงไม่ยอมแน่  เว้นเสียแต่ ไปต่อไม่ไหวจริงๆ อนุทิน ก็อาจยอมลุกจากเก้าอี้ก็ได้ แต่หากดูจากสถานการณ์ตอนนี้ มองได้ว่า หากพลเอกประยุทธ์ จะปรับครม.ก็คงทำหลังสถานการณ์โควิดดีขึ้น คงไม่ทำหลังจบศึกซักฟอกทันที เพื่อไม่ให้คนที่ถูกปรับเปลี่ยนเกิดความรู้สึกว่าทำงานเรื่องโควิด บกพร่องจนต้องถูกปรับเปลี่ยน 

ส่วนความเป็นไปได้เรื่อง “ยุบสภาฯ” หลังจบศึกซักฟอก ก็ยังเป็นเรื่องที่คนการเมืองยังไม่ละสายตา แต่ดูจากสถานการณ์โดยรวมทั้งหมด ก็ยากเช่นกันที่จะเห็นฉากการเมืองฉากนี้ เพราะด้วยกระแสไม่พอใจรัฐบาล-พลเอกประยุทธ์ ที่ไม่ค่อยดีช่วงนี้ หากมีการยุบสภาฯ มีการเลือกตั้ง พรรคฝ่ายรัฐบาล โดยเฉพาะสามพรรคแกนนำ 

“พลังประชารัฐ-ภูมิใจไทย-ประชาาธิปัตย์” 

ลำบากแน่นอน ในการหาเสียงและนำส.ส.กลับเข้าสภาฯ ให้ได้ตามจำนวนที่คาดหวัง    แม้แต่กับประชาธิปัตย์เองก็ตาม ถึงจะไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับเรื่องโควิด-วัคซีนมาก แม้ต่อให้ สาธิต ปิตุเตชะ เป็นรมช.สาธารณสุข ก็ตาม แต่ประชาธิปัตย์ยามนี้ ก็ยังไม่พร้อมสำหรับการเลือกตั้ง แกนนำทุกคนยังอยากเป็นรัฐมนตรีต่อไป ดังนั้น ที่เริ่มมีกระแสคนในพรรคบางส่วน คุยกันว่า อยากให้ ประชาธิปัตย์ งดออกเสียงไว้วางใจ พลเอกประยุทธ์ตอนลงมติ แล้วจากนั้นก็ให้พรรคถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล 

วิเคราะห์ได้ว่า ข้อเสนอดังกล่าว เสียงส่วนใหญ่ในประชาธิปัตย์ไม่เอาด้วยแน่นอน  เพราะถ้าทำแบบนั้น ก็คือ การแตกหัก จนเสี่ยงที่ พลเอกประยุทธ์-พลังประชารัฐ อาจถึงขั้น เขี่ยประชาธิปัตย์ ออกจากพรรคร่วมรัฐบาล ยอมเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยตอนช่วงปิดสภาฯ แล้วก็ยุบสภาฯ ไปเลย ซึ่งแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ ที่คุมเสียงส.ส.ส่วนใหญ่ในพรรค ย่อมไม่มีทางเอาด้วย ยังไง ก็จะกอดคอ กับพลเอกประยุทธ์ต่อไปให้นานที่สุด 

เมื่อเป็นเช่นนี้ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ฝ่ายค้านต้องการให้เกิดขึ้นหลังจบศึกซักฟอก มองได้ว่า หากแกนนำหลักในรัฐบาล-พรรคร่วมรัฐบาล คุยกันได้ ยืนยันจะอยู่เรือลำเดียวกันให้นานที่สุด และมั่นใจว่า รัฐบาลไม่ได้เพลี่ยงพล้ำในช่วงศึกซักฟอก รวมถึงเชื่อว่า กระแสม็อบนอกสภาฯ ปลุกไม่ขึ้น 

มันก็เป็นไปได้ที่จบศึกซักฟอกแล้ว อาจไม่ได้เห็น ทั้งการปรับครม.-นายกฯลาออก-นายกฯยุบสภาฯ เลยก็ยังเป็นไปได้ อย่างมากสุดก็อาจแค่ ปรับครม. ปลายปีหรือต้นปีหน้าเท่านั้น 

ซึ่งสิ่งที่จะทำให้ รัฐนาวา พลเอกประยุทธ์ มีเสถียรภาพทางการเมือง มั่นคงเพียงพอ นอกเหนือจากที่มีอำนาจรัฐอยู่ในมือรวมถึงมีเสียงข้างมากในสภาฯแล้ว สิ่งหนึ่งที่สำคัญก็คือ พลเอกประยุทธ์ จะต้องมี “กองหนุนทางการเมือง” ที่ไม่ใช่แค่ องครักษ์พิทักษ์นายกฯ เพราะยามนี้ หลายคนเริ่มตั้งคำถามกันแล้วว่า 

“กองหนุน ลุงตู่  หายไปไหนกันหมด?” 

เหตุใดช่วงนี้ ถึงไม่ค่อยมีใครออกมาช่วยทางการเมือง  พลเอกประยุทธ์ อย่างที่ควรจะเป็น หลังคนเริ่มมองเห็นว่า ขนาดคนที่ถูกมองว่า อยู่ฝั่งเดียวกับพลเอกประยุทธ์ แต่ระยะหลัง โดยเฉพาะเมื่อเกิดกรณีโควิดฯ หลายคนที่เคยเชียร์พลเอกประยุทธ์และรัฐบาล เริ่มออกมากระตุกนายกฯหนักขึ้น จนเสียงไถ่ถามการเมืองที่ว่า กองหนุนลุงตู่ หายไปไหน เริ่มถูกพูดถึงมากขึ้นทุกที 

อย่างเช่นเมื่อไม่กี่วันมานี้ กับกรณี “หม่อมเจ้าจุลเจิม ยุคล หรือ ท่านชายใหม่” ซึ่งบทบาทการแสดงความเห็นต่างๆ ทางโซเชียลมีเดีย ชัดเจนมาตลอดอยู่แล้ว แต่เมื่อ 24 ก.ค.ที่ผ่านมา ท่านชายใหม่ ที่โพสต์เฟซบุ๊ก ตำหนิเรื่อง การเก็บเงินค่าโทรศัพท์สายด่วนโควิด ก่อนที่ต่อมาจะมีการยกเลิกการเก็บเงิน โดย ท่านชายใหม่ ระบุไว้ตอนหนึ่งว่า  

“สมควรแล้วที่ออกมาไล่รัฐบาลกัน ว่า บริหารงานล้มเหลว ในสถานการณ์วิกฤตของชาติ แหม! ถ้าไม่แตะต้องสถาบันกัน ก็อาจจะขอเข้าร่วมลงถนนขับไล่ด้วยคน”

จนทำให้แวดวงการเมือง ฮือฮากันไม่ใช่น้อย ที่ หม่อมเจ้าจุลเจิม  ที่มีสถานะทางสังคมไม่ธรรมดา กระตุกรัฐบาลแรงๆ แบบนี้ 

อันนี้แค่ตัวอย่างเดียวเท่านั้น เพราะยังมีอีกหลายคน ที่ก่อนหน้านี้ เคยเป็นกองหนุน พลเอกประยุทธ์ แต่ระยะหลัง แม้ไม่ออกมาวิจารณ์รัฐบาล แต่ก็เริ่มไม่ออกมาเป็นกองหนุน พลเอกประยุทธ์เหมือนเดิม     ซึ่งหากปล่อยไว้แบบนี้คือกองหนุนลุงตู่  ค่อยๆ หายไป ย่อมไม่เป็นผลดีต่อพลเอกประยุทธ์แน่นอน ที่เชื่อว่า พลเอกประยุทธ์ คงเริ่มเห็นสัญญาณตรงนี้แล้ว และอาจกำลังมองหาทางแก้ปัญหาอยู่ เพื่อดึงกองหนุนกลับคืนมา 

เพราะอย่างน้อย แม้ไม่ถึงกับเป็น ผนังทองแดง กำแพงเหล็ก ให้ตัวเอง และรัฐบาล แต่การมีพวก-มีกองหนุน-กองเชียร์ อยู่ข้างกายและข้างหลัง มันก็ทำให้ พลเอกประยุทธ์ อุ่นใจไม่น้อยว่าตัวเองไม่ได้สู้แบบโดดเดี่ยว จนเกินไปในสงครามโควิด ที่ยังไม่รู้จะต้องสู้ไปอีกนานแค่ไหน 

แสดงความเห็น