ล็อกดาวน์-เคอร์ฟิว เดินพันสุดท้ายบิ๊กตู่ ก่อนเส้นตาย 120 วันเปิดประเทศ

ขณะที่เส้นตาย 120 วันเปิดประเทศ ที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานศบค.เคยแถลงไว้ผ่านทีวีพูลเมื่อ 16 มิถุนายน โดยต่อมา “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯเศรษฐกิจ/รัฐมนตรีพลังงาน” ระบุว่า การนับวันเปิดประเทศใน 120 วัน จะเริ่มวันที่ 1 ก.ค. ที่ก็เท่ากับ 120 วันดังกล่าว จะครบประมาณช่วงต้นเดือนตุลาคมนี้  ภายใต้คำมั่นที่นายกฯ บอกว่า คนไทย 50 ล้านคน จะต้องได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรกภายในต้นเดือน ตุลาคม 

การประกาศพร้อมเปิดประเทศดังกล่าว ที่ตอนนี้ เข็มนาฬิกา  ขยับไปเรื่อยๆ ตามปฏิทิน แต่ตัวเลขต่างๆ สำหรับสถานการณ์โควิดในประเทศไทย ยังมีแต่ข่าวร้าย 

ตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศ ทะยานแตะที่ระดับเฉียดหมื่นมา 2-3 วันแล้ว จำนวนผู้ติดเชื้อ ตั้งแต่เด็กจนถึงคนชรา ที่พบว่าติดโควิด แต่ไม่สามารถไปนอนโรงพยาบาลได้ เพราะเตียงเต็ม จนต้องนอนรักษาอาการที่บ้านพัก ขณะที่ภาพคนไทยต้องไปรอเข้าคิวตรวจโควิดตั้งแต่ตี 4 ตี 5 กางเต้นท์นอนกันหน้าโรงพยาบาลหรือจุดตรวจ ก็สร้างความหดหู่ใจให้กับคนไทยทั้งประเทศ ส่วนผู้เสียชีวิตก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ 

ขณะเดียวกัน กระแสคนไทย ที่ถูกเลื่อนการฉีดวัคซีนจำนวนมากหลายจังหวัดทั่วประเทศ ก็มากขึ้นเรื่อยๆ และมีคนไทยอีกหลายสิบล้านคนแม้แต่ในพื้นที่สีแดงเข้ม อย่างกรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑล ก็ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรก 

ทั้งหมดคือตัวเร่งที่ทำให้ สุดท้ายแล้ว บิ๊กตู่-พลเอกประยุทธ์ ร้อนรุ่มใจยิ่งนัก เพราะสถานการณ์เลวร้ายลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะหากปริมาณคนติดเชื้อทะยานไปแตะระดับหลักหมื่นคนต่อวัน ตามที่ทีมงานหมอในศบค.ประเมินไว้ จนระบบสาธารณสุขของประเทศอาจรับมือไม่ไหว จนทำให้คนป่วย กลายเป็นคนป่วยหนัก แล้วคนเสียชีวิตจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 

จึงทำให้ พลเอกประยุทธ์และศบค. สุดท้าย จำเป็นต้องออก “ยาแรง-ไม้แข็ง”ในการรับมือ ก่อนที่สถานการณ์เลวร้ายกว่านี้ กับมติศบค. ที่ออกมาเมื่อวันศุกร์ที่ 9 ก.ค. และต่อมาวันรุ่งขึ้น 10 ก.ค. เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ฯ อย่างเป็นทางการออกมา 

อันเป็นมาตรการที่ออกมาโดยเน้นใช้บังคับกับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 10 จังหวัด ที่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อสูง คือกรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรปราการ และอีกสี่จังหวัดภาคใต้คือ สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส   

โดยแม้คนในศบค. จะไม่มีการใช้คำว่า “ล็อกดาวน์-เคอร์ฟิว” สำหรับมาตรการที่ออกมา แต่ในข้อเท็จจริง มันก็เป็นอย่างที่ผู้คนกล่าวขาน คือ มันก็กึ่งๆ ล็อกดาวน์ดี ๆนี่เอง ปฏิเสธกันไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการให้ ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตีมอลล์ เปิดได้เฉพาะซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านขายอาหารและเครื่องดื่ม ธนาคาร สถาบันการเงิน ร้านขายยา ร้านขายอุปกรณ์สื่อสาร รวมถึงสถานที่ฉีดวัคซีน เปิดบริการได้ถึงเวลา 20.00 น. การจำกัดให้ระบบขนส่งสาธารณะที่รวมถึง รถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน ปิดให้บริการ 21.00-03.00 น.-การให้ ร้านสะดวกซื้อ ตลาดโต้รุ่ง ปิดเวลา 20.00-04.00 น. รวมถึงการเคอร์ฟิว ห้ามออกนอกเคหสถานตั้งแต่ 21.00 น. – 04.00 น.  ยกเว้นกรณีจำเป็น เช่น เจ็บป่วย การทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ และผู้ปฏิบัติงานด้านสาธารณูปโภค 

ทั้งหมดล้วนเป็นมาตรการที่กระทบกับธุรกิจตั้งแต่ธุรกิจขนาดใหญ่ -กลาง-เอสเอ็มอี โดยเฉพาะ ร้านค้า ตั้งแต่ในห้างจนถึงร้านข้างถนน  จำนวนหลายแสนร้านในพื้นที่ 10 จังหวัดดังกล่าว ที่ก็คือกระทบกับประชาชนเกินสิบล้านคนแน่นอน และเมื่อมาตรการที่ออกมามีผลกระทบกับคนจำนวนมาก โดยเฉพาะภาคธุรกิจ มันจึงเป็น

“เดิมพันการเมือง”

ครั้งสำคัญของ บิ๊กตู่และ ศบค.อย่างแท้จริง

เพราะแน่นอนว่า เมื่อประชาชน-ภาคธุรกิจ ได้รับผลกระทบ มันก็ทำให้ต้องเกิด “ความคาดหวัง” ว่ามาตรการกึ่งล็อกดาวน์และการเคอร์ฟิว รอบนี้ ต้อง

“เจ็บแล้วต้องจบ” ไม่ใช่ เจ็บซ้ำซาก เจ็บยืดเยื้อ

เพราะแม้รัฐบาลจะมีการออกมาตรการต่างๆ ทั้งเงินช่วยเหลือ -มาตรการทางภาษี -การให้ธนาคารของรัฐ ปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ มาเพื่อเยียวยาช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ แต่เทียบสัดส่วนแล้ว มันก็น้อยมาก กับผลกระทบที่ได้รับ 

ทำให้รอบนี้ หากผ่านพ้นไปแล้วอย่างน้อยสิบสี่วันนับแต่ 12 ก.ค. ประชาชนจึงคาดหวังว่า สถานการณ์โดยรวมจะดีขึ้น ทั้งจำนวนคนติดเชื้อลดลง -คนเสียชีวิตน้อยลง -คนป่วยรักษาหายกลับบ้านได้มากขึ้นและที่สำคัญ คนได้รับการฉีดวัคซีนมากขึ้นเรื่อยๆ จนรัฐบาลทยอยผ่อนคลาย ลดกฎเหล็กต่างๆ ลง  แล้วมีการอัดฉีดมาตรการช่วยเหลือออกมาเป็นระยะ

ก็เชื่อได้ว่า ภาพรวม แม้ประชาชน จำนวนไม่น้อยจะไม่พอใจรัฐบาล-ศบค.-พลเอกประยุทธ์ แต่ถ้ารอบนี้ เจ็บแล้วสถานการณ์ดีขึ้น คนก็ยังพอจะยอมรับกันได้ 

ทว่าหากผลออกมาตรงกันข้าม ถ้าหลังจากนี้ สถานการณ์ทุกอย่างไม่กระเตื้อง ตัวเลขผู้ติดเชื้อไม่ลดลง หรือลดลง แต่ curve ไม่ลงในระดับต่ำลงมาอย่างน้อย คนติดเชื้อต่อวันไม่ควรเกินหนึ่งพันหรือสองพันคนต่อวัน และการฉีดวัคซีนยังคงล่าช้า ประชาชนยังเดือดร้อนในการทำมาหากินและการดำเนินชีวิต ถ้าสถานการณ์ออกมาแบบนี้    

“บิ๊กตู่-รัฐบาล-ศบค.” 

เก้าอี้ร้อน นับถอยหลัง รอวันถูกประชาทัณฑ์ทางการเมืองแน่นอน

ถ้าเจ็บรอบนี้ แล้วยังไม่จบ 

เพราะยามนี้ “กองไล่-ฝ่ายตรงข้าม” บิ๊กตู่และรัฐบาล ที่มีอยู่มากมาย ก็จ้องหาจังหวะจะฟาดฟัน ขับไล่ไสสง  ทุกเมื่อเชื่อวันอยู่แล้วแถมยังจะมีแนวร่วมจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด มาร่วมสมทบเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยกลุ่มไล่ ก็จ้องหาจังหวะเหมาะ จะสหบาทา พลเอกประยุทธ์ ทุกวัน แต่ที่ผ่านมา ยังหาโอกาสไม่ได้ กลุ่มต่อต้านรัฐบาล จึงได้แต่รอว่า หากโควิดยืดเยื้อ รัฐบาลพลาดท่า แก้ไม่ได้ ถ้าสถานการณ์พอหายใจหายคอได้เมื่อไหร่ ก็จะนัดรวมพลขับไล่เมื่อนั้น 

ซึ่งดูแล้ว หากกลุ่มตรงข้ามรัฐบาล-พลเอกประยุทธ์ จะนัดก่อหวอด รวมพลเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลแบบจัดหนักจริงๆ ก็น่าจะเกิดขึ้นในช่วงต้นเดือนตุลาคมปีนี้ 

ภายใต้เงื่อนไขคือ หากถึงตอนนั้น ศบค.-กระทรวงสาธารณสุข ยังไม่สามารถระดมฉีดวัคซีนอย่างน้อยเข็มแรกให้คนไทยได้ครบ 50 ล้านคนได้ตามที่นายกฯเคยแถลงไว้ รวมถึงยังไม่สามารถเปิดประเทศได้ตามโรดแมปที่นายกฯ เคยประกาศไว้ และที่สำคัญ ถ้าไปถึงช่วงเดือนตุลาคมแล้ว สถานการณ์ต่างๆ ไม่ดีขึ้นโดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ ประชาชนเดือดร้อนมากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้เกิดแนวร่วมประชาชนที่ไม่พอใจรัฐบาลมีจำนวนมาก 

คาดการณ์ได้ว่า กลุ่มต่อต้าน รัฐบาล คงใช้จังหวะดังกล่าวช่วงเดือนตุลาคม  เคลื่อนไหวใหญ่ต่อต้านรัฐบาลแน่นอน 

การล็อกดาวน์-เคอร์ฟิว รอบนี้ จึงเป็นเดิมพันสุดท้าย-เดิมพันสำคัญของ พลเอกประยุทธ์-ศบค. ในการสู้กับสงครามโควิด ที่ทำออกมาแล้ว ต้องเจ็บแล้วจบ ไม่ใช่เจ็บแล้วไม่จบ แถมยืดเยื้อ  

แสดงความเห็น