“หมอสุกิจ” ฟาด ส.ส.พปชร. ควรทำหน้าที่ผู้แทนปชช. หลังของดประชุมสภาฯ ขอตั้งสติอย่าตระหนก

นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีนายอนันต์ ผลอำนวย ประธานกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฏร ขอให้นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯสั่งงดประชุมสภาฯในสัปดาห์นี้ ว่า นายชวน ยังคงยืนยันที่จะให้มีการประชุมในวันที่ 30 มิถุนายน และ 1 กรกฎาคม เนื่องจากยังมี ส.ส.อีกจำนวนหนึ่งที่มีความประสงค์จะมาประชุม จึงไม่สามารถปิดโอกาส ส.ส.เหล่านั้นที่จะมาทำหน้าที่ได้ ถึงแม้นายอนันต์จะระบุว่า พรรคพลังประชารัฐจะปฏิเสธเข้าร่วมประชุม ก็ถือเป็นเรื่องแปลก เพราะตามระเบียบวาระที่จะประชุมในวันพรุ่งนี้ (30 มิ.ย.) นั้นเป็นการพิจารณาร่างกฎหมาย 6 ฉบับที่เสนอโดยรัฐบาลทั้งสิ้น และยังเสนอเป็นเรื่องด่วนด้วย เหตุใดพรรคพลังประชารัฐจึงไม่เข้าร่วมประชุม ส่วนข้อกังวลว่าสภาจะล่มนั้น ในวันพรุ่งนี้ (30 มิ.ย.) ก็จะทราบเองว่า องค์ประชุมจะครบหรือไม่ แต่เชื่อว่า สภาไม่ถึงกับล่มจม

ส่วนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในสภาฯ นพ.สุกิจ ระบุว่า ขอให้ใช้สติพิจารณา อย่าตื่นตระหนก ตลอด 1 ปีครึ่ง รัฐสภายังควบคุมได้ดีตลอดมา ส่วนตัวเห็นใจผู้ปฏิบัติงานที่ยังต้องมาทำหน้าที่ต่างๆและทุ่มเทเพื่อให้มาตรการป้องกันโควิด-19 ของรัฐสภาเป็นไปได้ด้วยดีตลอด ยืนยันว่า ไม่ได้ประมาท ซึ่งที่ผ่านมา ยังได้รับการจัดสรรวัคซีนฉีดให้กับ ส.ส.ที่ผ่านมา ในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ทั้งนี้ จากการที่ส.ส.หลายคนก็ฉีดวัคซีนกันไปแล้ว จึงเชื่อว่า หากมาประชุมสภาฯก็มีความเสี่ยงน้อยต่อการติดเชื้อ 

ส่วนประเด็นที่ ส.ส.มาประชุมที่ กทม.แล้วกลับไปต่างจังหวัด จะถูกกักตัวในพื้นที่ของตัวเองหรือไม่นั้น นพ.สุกิจ ระบุว่า ข้อกำหนดเกือบทุกจังหวัดมีข้อยกเว้น เช่น ผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้ว จะไม่ถูกกักตัว ดังนั้น จึงไม่ต้องกังวลเรื่องกักตัว แค่นำใบรับรองการฉีดวัคซีนไปยืนยัน

สำหรับกรณีที่ระบุว่า การประชุมสภาฯจะเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายนั้น นพ.สุกิจ กล่าวว่า สภาฯไม่ได้นิ่งนอนใจ แต่การจัดประชุมสภาฯไม่ใช่การจัดกิจกรรม แต่เป็นหน้าที่ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ และสภาฯได้มีหนังสือสอบถามไปยัง ศบค.ก่อนหน้านี้ ซึ่ง ศบค.ก็เห็นชอบกับมาตรการป้องกันโควิด-19 และอนุญาตให้จัดประชุมสภาฯได้ตลอดสมัยการประชุมนี้ ทั้งนี้ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฏร ได้ทำหนังสือสอบถามไปยัง ศบค.อีกครั้ง ซึ่ง ศบค.ตอบกลับมาว่า ไม่ต้องขออนุญาตแล้ว เพราะได้อนุญาตให้ประชุมตลอดสมัยการประชุมแล้ว เพียงแต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการที่ได้รับรองไว้ ดังนั้น การประชุมสภาฯจึงไม่ได้เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย

นพ.สุกิจ ย้ำว่า ประธานสภาฯ ยังตระหนักในอำนาจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากประชาชน ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการยังทำหน้าที่ได้ ดังนั้น ฝ่ายนิติบัญญัติไม่มีเหตุผลต้องหยุดทำงาน 

แสดงความเห็น