รีโซลูชั่น เร่งเกมเสนอร่างแก้รัฐธรรมนูญ ตัดตอน ระบอบประยุทธ์ หยุดสืบทอดอำนาจ ปิยบุตร ชี้ พปชร. เสนอแก้ระบบเลือกตั้ง หวังชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์

กลุ่มรีโซลูชั่น ถึงเวลารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แถลงพร้อมแสดงจุดยืนต่อการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของประชาชน ที่อยู่ระหว่างเข้าชื่อให้ได้ 50,000 รายชื่อ ก่อนยื่นให้รัฐสภาพิจารณา ทั้งนี้ตามกระบวนการเข้าชื่อเสนอร่างแก้ไข กลุ่มรีโซลูชั่น ได้แต่งตั้งคณะเชิญชวน 20 คน อาทิ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า , นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าคณะก้าวหน้า, นายพริษฐ์  วัชรสินธุ, นายประจักษ์ ก้องกีรติ นักวิชาการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นายเอกพันธุ์ ปิณฑวณิช นักวิชาการมหาวิทยาลัยมหิดล, นายกษิต ภิรมย์ อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ , น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง , นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล , น.ส.เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล, นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์  ผู้จัดการไอลอว์ , น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือ มายด์ แกนนำกลุ่มราษฎร  เป็นต้น

ทั้งนี้ นายธนาธร แถลงด้วยว่าความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ว่าด้วยการแก้ไขระบบเลือกตั้ง ถือเป็นความพยายามสืบทอดอำนาจ และต่ออำนาจของระบอบที่ทำรัฐประหาร ยึดอำนาจจากประชาชน ทั้งนี้รัฐบาลชุดปัจจุบัน ทำงานมาแล้ว 2 ปี 3 เดือน และเหลือเวลาอีก 1 ปี 9 เดือน จะมีการเลือกตั้งครั้งต่อไป  จึงจำเป็นต้องหาช่องทางเพื่อสืบทอดอำนาจต่อไป  ส่วนกรณีที่รัฐสภาจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยข้ามร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ  ถือว่าไม่ได้ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ​ที่วินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ต้องทำประชามติก่อน ดังนั้นตนมองว่าการทำประชามติ เป็นวิธีที่ดีที่สุด เพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ

ด้านนายพริษฐ์ แถลงเรียกร้องให้ส.ส.ทุกพรรคการเมือง ลงมติคว่ำข้อเสนอแก้รัฐธรรมนูญ ของพรรคพลังประชารัฐ เพราะมีเนื้อหาที่สืบทอดอำนาจให้กับกลุ่มคสช. นอกจากนั้นพรรคร่วมฝ่ายค้านไม่สังฆกรรมเร่งรัดการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา หากไม่ระวัง อาจจะเข้าทางผลประโยชน์ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม แม้มีเนื้อหาแก้รัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาล เสนอตัดอำนาจของส.ว. แต่การพิจารณาในรัฐสภาต้องใช้เสียงส.ว. ลงมติ แต่เสียงของส.ว. เป็นสิ่งที่รัฐบาลควบคุมได้ ทั้งการออกเสียง และลำดับการพิจารณา ทั้งนี้ตนขอเรียกร้องให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อสร้างกติกาที่เป็นธรรม ตามสิทธิของประชาชนที่มี 1 สิทธิ์ 1 เสียงเท่ากัน

ขณะที่ น.ส.ภัสราวดี แถลงด้วยว่าฐานะประชาชน มองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภา เปรียบเหมือนมีสุนัขรับใช้นาย โดยจะทำสิ่งที่นายต้องการเท่านั้น หรือตามคำสั่งเท่านั้น  แต่กลับไม่พิจารณาสิ่งที่เป็นปัญหาให้ประชาชน เพื่อทำให้คุณภาพของประชาชนดีขึ้น ดังนั้นตนขอเรียกร้องให้ประชาชนร่วมผลักดัน เข้าชื่อ เสนอ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของประชาชน เป็นร่างหลักที่พิจารณาในรัฐสภา ทั้งนี้เพื่อต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและความเหลื่อมล้ำที่คนเพียง 1% ได้รับสะดวกสบาย

ทางด้าน นายปิยบุตร กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยกระบวนการจัดทำใหม่ทั้งฉบับ ที่ผ่านมา เป็นเพียงการเล่นละคร ปาหี่ เพราะรัฐบาล รวมถึง ส.ว. ไม่จริงใจต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ขณะนี้พบว่าพรรคร่วมรัฐบาลมีปัญหา จึงคิดแก้ไขกติกา ที่ออกแบบไม่ให้พรรคการเมืองใหญ่ ได้ส.ส. จำนวนมาก เพราะไม่ต้องการให้กลับมาเป็นรัฐบาล จึงต้องเสนอแก้ไขรายมาตรา และต้องการพิจารณาให้ได้ก่อน ร่างพ.ร.บ.ประชามติ ถือเป็นความผิดปกติ ที่สมาชิกรัฐสภาบางพวกมีพฤติกรรมหลอกประชาชน อย่างไรก็ดีตนขอเรียกร้องให้ประชาชนร่วมลงชื่อ เพื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนให้ทันการพิจารณาของรัฐสภาปลายเดือนมิถุนายนนี้

“ผมมองว่าบทบาทของประธานรัฐสภามีความสำคัญ ควรรอให้ร่างพ.ร.บ.ประชามติ พิจารณาให้แล้วเสร็จก่อน เพราะสภาฯ มีเวลาหลายเดือนที่จะพิจารณาเนื้อหาแต่ละร่างได้ ฝ่ายค้านบางพรรคและพรรครัฐบาล ต้องการแก้ไขระบบเลือกตั้ง ผมคาดว่าจะสำเร็จ หากแก้ระบบเลือกตั้งไปเป็นตามรัฐธรรมนูญ 2540 สำเร็จ ผมบอกได้ว่า การเปิดทางให้ระบอบประยุทธ์ สืบทอดอำนาจได้เป็นรอบที่3 เพราะพรรคพลังประชารัฐต้องการชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์” นายปิยบุตร กล่าว

แสดงความเห็น