“บิ๊กช้าง” ย้ำ เสริมกำลังพลเข้าช่วย กทม.คุมเข้มแคมป์คนงาน-เตรียมวัคซีนรับทหารใหม่เข้าหน่วย

พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม พล.อ.ชัยชาญ  ช้างมงคล รมช.กลาโหม และ พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกระทรวงกลาโหม ประชุมร่วมกับ กอ.รมน. หน่วยขึ้นตรงกระทรวงกลาโหม เหล่าทัพ และ ตร. เพื่อติดตามการสนับสนุนรัฐบาลในการขับเคลื่อนแก้ปัญหาโควิด 19 และการช่วยเหลือประชาชน

ทั้งนี้ภาพรวม ตั้งแต่การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ผ่านมา  กระทรวงกลาโหม โดยทุกเหล่าทัพ ยังคงทำงานร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานต่างๆอย่างใกล้ชิด สนับสนุนการแก้ปัญหาเร่งด่วนและขับเคลื่อนบริหารจัดการรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคอย่างต่อเนื่อง 

พล.ท.คงชีพ กล่าวอีกว่า การจัดกำลังพล บุคลากรทางการแพทย์ ยานพาหนะและสิ่งอุปกรณ์ เสริมเพิ่มเข้าไปช่วยจัดตั้งและบริหารจัดการโรงพยาบาลสนามทั่วประเทศ การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยกว่า 6,500 รายเข้ารับการรักษา การตรวจคัดกรองเชิงรุกและเก็บเชื้อในพื้นที่กลุ่มเสี่ยง การสนับสนุนจัดตั้ง บก.ควบคุมพื้นที่แพร่ระบาด เช่น แคมป์คนงาน โรงงานและตลาดชุมชน  การสนับสนุนจัดกำลังพลคัดกรองโรค ณ สนามบิน รวมทั้งกรมราชทัณฑ์แก้ปัญหาเรือนจำที่พบการติดเชื้อ การบริหารจัดการสถานกักควบคุมโรคแห่งรัฐ (15 SQ และ 142 ASQ )  การจัดรถครัวสนามประกอบอาหารช่วยเหลือประชาชนกว่า 300 ชุมชนในพื้นที่ที่พบติดเชื้อจำนวนมาก  รวมทั้งการเข้าไปช่วยสนับสนุนพ่นยาฆ่าเชื้อในโรงเรียนก่อนเปิดเทอมกว่า 350 แห่งและสนับสนุนฉีดวัคซีนให้กับประชาชนไปพร้อมๆกันทั่วประเทศแล้วกว่า  24,000 คน 

ทั้งนี้ รมช.กลาโหม ได้ย้ำว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้ขอบคุณกำลังพลทุกเหล่าทัพที่สนับสนุนส่วนราชการต่างๆรับมือกับวิกฤตโควิด-19 และเข้าไปดูแลช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยขอให้ดำรงความต่อเนื่องไปจนกว่าสถานการณ์จะปกติ พร้อมแสดงความห่วงใยทหารที่จะเข้าประจำการพร้อมกันทุกเหล่าทัพใน 1 ก.ค.64 โดยขอให้มีมาตรการควบคุมโรคในการฝึกและประสาน สธ.จัดหาวัคซีนรองรับทหารที่เข้าใหม่และครูฝึก ให้เพียงพอสำหรับเกิดภูมิคุ้มกันเป็นส่วนรวมในการปฏิบัติงานร่วมกัน

นอกจากนี้ พล.อ.ชัยชาญ ยังได้กำชับ ขอให้ทุกเหล่าทัพและตำรวจ เสริมกำลังเข้าไปสนับสนุน กรุงเทพมหานคร ตามที่ร้องขอ ในการควบคุมการแพร่ระบาดเป็นพื้นที่ทั้งใน กทม.และปริมณฑล ที่ยังพบกระจายในหลายคลัสเตอร์ โดยเฉพาะแคมป์คนงานที่มีกว่า 400 แห่ง ที่จำเป็นต้องจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน ( EOC ) ควบคุมการปฏิบัติเข้มในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาด เพื่อจำกัดการเคลื่อนย้ายแรงงานเข้า-ออก และนำเข้าสู่การรักษาในระบบ  พร้อมทั้งขอให้ดำรงความต่อเนื่องสนับสนุนการบริจาคโลหิตให้กับโรงพยาบาลต่างๆที่ยังพบการขาดแคลน เพื่อช่วยเหลือชีวิตผู้ป่วยรอการรักษาอีกจำนวนมาก

แสดงความเห็น