รพ.สนามธรรมศาสตร์ รับผู้ป่วยโควิด-19 รอบ3 วันแรกกว่า 60 ราย ปรับหลักเกณฑ์ย้ายผู้ป่วย เน้นย้ำลดการสัมผัส รับมือสายพันธุ์ใหม่ ขณะ รองอธิการบดีฯ ระบุ หากมีความจำเป็นต้องขยายพื้นที่โรงพยาบาลสนาม พร้อมเปิดโรงยิมรองรับ
ที่โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต วันนี้เปิดให้บริการโรงพยาบาลสนามฯ เป็นรอบที่ 3 เพื่อรองรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ในระลอกที่3 เข้ามารับการดูแลรักษา โดยในวันนี้ เริ่มมีผู้ป่วยที่ถูกย้ายมาจากโรงพยาบาลหลัก เพื่อเข้ามารับการดูแลรักษาแล้ว จากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ 21 ราย โรงพยาบาลพระมงกุฎฯ 16 ราย โรงพยาบาลสินแพทย์ 12 ราย โรงพยาบาลศิริราช 8ราย แพทย์ปัญญา 1 ราย และ โรงพยาบาลตำรวจ
โดย ผศ.พญ.กริชา ไม้เรียง รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า ในรอบที่ 3 ของการเปิดโรงพยาบาลสนามฯ มีแนวโน้มว่าจะรับคนไข้ไปเรื่อยๆ โดยมีศักยภาพที่จะรับผู้ป่วยได้ 470 เตียง เพราะมีคนไข้ที่จะรับจากหลากส่วน และในการให้บริการรอบที่สอง เดิมจะรับดูแลคนไข้ในเขตปทุมธานี และใกล้เคียง แต่รอบนี้ จะรองรับ โรงพยาบาลในพื้นที่กทม. รวมถึง โรงพยาบาลเอกชนด้วย เพราะโรงพยาบาลเอกชน เตียงที่ไว้สำหรับรองรับคนไข้ที่ติดเชื้อโควิด-19 เริ่มเต็ม ทำให้ต้องหงุดชะงักในการรับตรวจหาเชื้อ เพราะหากพบว่าติดเชื้อจะต้องรับมาดูแลรักษา ดังนั้นโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ ก็จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องนี้ด้วย
ทั้งนี้ได้ปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ เพื่อทำให้สามารถย้ายคนไข้มาอยู่ที่โรงพยาบาลสนามได้เร็วขึ้น โดยเมื่ออยู่ รพ.สนามครบ 48 ชั่วโมงแล้ว ก็จะประเมินภาวะแทรกซ้อน และการให้ยาต้านไวรัส หากพบว่า ไม่มีภาวะแทรกซ้อน มีอาการน้อย หรือไม่มีอาการเลย ก็จะส่งมาดูแลต่อที่ รพ.สนามได้ ซึ่งกลุ่มคนที่ไม่มีอาการ จะอยู่จนครบ 10 วัน ส่วนคนที่มีอาการน้อยจะต้องอยู่จนครบ 14 วัน นับจากวันที่เริ่มวินิจฉัยว่าเป็นโควิด หลังจากนั้นจะกลับไปดูแลตัวเองตามมาตรการป้องกันโควิดจนครบ 28 วัน
สำหรับขั้นตอนการอยู่ภายในโรงพยาบาลสนาม ผู้ป่วยจะต้องตรวจวัดสัญญาณชีพ ตรวจความเข้มข้นในเลือด จากอุปกรณ์ที่เตรียมไว้ให้ภายในห้องและเมื่อตรวจตัวเองเสร็จแล้ว จะส่งผลการตรวจให้กับทีมแพทย์ทางไลน์ วันละ 2 ครั้ง ไม่ต่างกับขั้นตอนในโรงพยาบาลหลัก และเจ้าหน้าที่จะซักถาม อาการผ่านแอปพลิเคชัน โดยจะถามอาการทั่วไป สัญญาณชีพ มีไข้ ไอ เหนื่อยหรือไม่ รวมถึงสอบอาการแทรกซ้อนอื่นๆ เพราะโควิดสายพันธุ์ใหม่ จะมีอาการทางผิวหนัง เป็นผื่นเพิ่มขึ้น เพราะหากต้องการการดูแลรักษาเพิ่มในด้านนี้ เจ้าหน้าที่ก็จะจัดยาให้
ส่วนการให้ยา กลุ่มที่ย้ายมาโรงพยาบาลสนามส่วนใหญ่ จะไม่ต้องรับยาต้านไวรัส เพราะไม่ใช่ผู้ป่วยหนัก หรือความเสี่ยงสูง และบางคนก็จะเป็นคนที่มียาประจำตัว อาจจะต้องดูแลให้ทานยาประจำตัวให้ครบ
ทั้งนี้ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ บอกด้วยว่า การระบาดในรอบใหม่ และเป็นสายพันธุ์ใหม่ ติดเชื้อกันง่าย จึงต้องลดขึ้นตอนการสัมผัสให้ลดน้อยลง และใช้เทคโนโลยีให้เพิ่มขึ้น รวมถึงต้องระมัดระวัง คนที่จะเข้ามาจากภายนอกเพิ่มขึ้นด้วย
ขณะที่ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกด้วยว่า ในการเปิดโรงพยาบาลสนามครั้งที่สาม เพราะเกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่อย่างรวดเร็ว ขณะนี้ชั้นที่พร้อมรองรับผู้ป่วยแล้วคือ ชั้น 8-14 เพราะเป็นโรงแรมอยู่แล้ว แค่เตรียมอุปกรณ์ ของใช้ส่วนตัว เข้าไปก็ใช้งานได้ทันที ส่วนชั้น 2-7 ก็จะต้องเพิ่มเตียงใหม่เข้าไปเพราะเดิมเป็นห้องพักของเจ้าหน้าที่ และเสริมเตียงเข้าไปให้เป็น 2 เตียง ทำให้สามารถขยายการรองรับจาก 308 เตียง เป็น 470 เตียง
ซึ่งในรอบนี้ผู้ป่วยจะต้องนอนคู่กัน เพราะมีความจำเป็นที่จะต้องรองรับคนไข้ให้ได้มากที่สุด และเตียงโรงพยาบาลต่างๆเริ่มเต็ม มีคนไข้ใหม่เข้ามาต่อเนื่อง ดังนั้นจึงโรงพยาบาลจึงควรมีไว้สำหรับรองรับคนไข้อาการหนักเท่านั้น จึงต้องเปิด โรงพยาบาลสนามนำคนไข้อาการเบามาอยู่ที่นี่
ส่วนในอนาคตหากมีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอีก ก็เป็นไปได้ว่า จะต้องขยายพื้นที่ของโรงพยาบาลสนาม แต่ลักษณะของโรงแรมจะรับพร้อมสุด ทั้งนี้ก็จะต้องดูสถานการณ์ก่อนว่าจะเป็นอย่างไร และหากมีความจำเป็นจริงๆก็คงต้องเปิดโรงยิมเป็นพื้นที่ของโรงพยาบาลสนาม ทั้งนี้ก็หวังว่า อยากจะให้คุมสถานการณ์ให้ได้ก่อนไม่ต้องไปถึงขั้นเปิดโรงยิม