รมว.ยธ. เปิดประชุม UN Crime Congress หวังขจัดอาชญากรรมข้ามชาติ ลดปัญหายาเสพติด-ค้ามนุษย์

รมว.ยุติธรรม เปิดประชุม UN Crime Congress ถกกรอบการป้องกันอาชญากรรม-ความยุติธรรมทางอาญา “สมศักดิ์” หวังขจัดอาชญากรรมข้ามชาติ-ไซเบอร์ ลดปัญหายาเสพติด-ค้ามนุษย์ ให้ทุกคนเข้าถึงทรัพยากร-หลักนิติธรรมอย่างเท่าเทียม

ที่อาคารกระทรวงยุติธรรม  นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานพิธีเปิดการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา (UN Crime Congress) สมัยที่ 14 โดยคณะผู้แทนไทย ซึ่งการประชุมจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7 – 12 มีนาคม 2564 ที่ เกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ในรูปแบบผสม โดยมีศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ผู้แทนสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) ผู้แทนสำนักงานศาลยุติธรรม ผู้แทนสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ผู้แทนหน่วยงานต่างๆในกระทรวงยุติธรรม ผู้แทนกองพัฒนานวัตกรรมการยุติธรรม สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม ผู้แทนสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC)  และผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ร่วมประชุม

นายสมศักดิ์ กล่าวเปิดการประชุมว่า การประชุม UN Crime Congress ถือเป็นการประชุมที่สำคัญ เนื่องจากเป็นการประชุมระหว่างประเทศ ในกรอบการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญาที่ใหญ่ที่สุด และดำเนินการจัดทุก ๆ 5 ปี แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้สหประชาชาติได้มีมติให้เลื่อนกำหนดการประชุมจากปี ค.ศ. 2020 มาเป็นปีนี้ ในฐานะรมว.ยุติธรรม ตนได้เน้นย้ำถึงความท้าทายที่สำคัญ 3 ประการ คือ 1.การจัดการด้านสาธารณสุขในเรือนจำ เนื่องจากผู้ต้องขังถือเป็นกลุ่มคนที่มีขีดจำกัดในการเข้าถึงทรัพยากรที่จำเป็นในการต้านโควิด19 โดยประเทศไทยเน้นย้ำแนวทางของข้อกำหนดแมนเดลา และข้อกำหนดกรุงเทพฯ  เป็นหลักประกันที่จะสามารถทำให้ผู้ต้องขังสามารถเข้าถึงทรัพยากรและการบริการได้อย่างเท่าเทียม 

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า 2.ประเด็นอาชญากรรม ได้แก่ อาชญากรรมข้ามชาติ การก่อการร้าย อาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ ยาเสพติดและการค้ามนุษย์ ซึ่งโควิด 19 ถือเป็นปัจจัยและตัวเร่งให้เกิดรูปแบบอาชญากรรมแบบใหม่ คือการปลอมแปลงยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยแต่ละประเทศจะต้องร่วมมือกันอย่างขันแข็ง เพราะอาชญากรรมสามารถมีจุดเกาะเกี่ยวเชื่อมโยงอย่างไม่มีที่สิ้นสุด 3.การส่งเสริมและเชิดชูหลักนิติธรรม ซึ่งโครงสร้างแห่งความยุติธรรมจะต้องมีความเป็นกลาง เท่าเทียมและไม่เลือกปฏิบัติ โดยจะต้องคำนึงถึงความเสมอภาคและสิทธิมนุษยชน ซึ่งทุกคนจะต้องร่วมกันสร้างยุคสมัยแห่งความรับผิดชอบ และสังคมแห่งการเคารพกฎกติกา สุดท้ายนี้ตนมองว่าการประชุมในครั้งนี้จะช่วยส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และการบูรณาการความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมระหว่างคณะผู้แทนไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสมศักดิ์ได้ร่วมกล่าวถ้อยแถลงในช่วงการประชุมระดับสูงผ่านการบันทึกวีดิโอ เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2564 เพื่อสะท้อนหัวข้อหลักของการประชุมในสมัยนี้ คือ การส่งเสริมการป้องกันอาชญากรรม ความยุติธรรมทางอาญา และหลักนิติธรรมเพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 

แสดงความเห็น