รมว.ยธ. ยันยังไม่ยกเลิก โคเคน-ฝิ่น-มอร์ฟีน ออกจากยาเสพติด มีแค่แผนปลดล็อกกระท่อม


รมว.ยุติธรรม ยันยังไม่มีนโยบายยกเลิก โคเคน-ฝิ่น-มอร์ฟีน ออกจากยาเสพติด มีแค่แผนปลดล็อกกระท่อมให้ใช้ได้ตามวิถีชาวบ้านเท่านั้น ชี้ พืชกัญชากับสารสกัดควรแยกส่วนกันเพื่อเพิ่มโอกาสทางการแพทย์ ให้ปชช.มีหวังสู้โรคร้าย

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงกรณี เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่กฎกระทรวงอนุญาตจำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองยาเสพติดให้โทษประเภท 2 (เช่น โคเคน-มอร์ฟีน-ฝิ่น) เพื่อใช้ในการรักษา การศึกษา และประโยชน์ของทางราชการ ว่าขณะนี้ยังไม่มีนโยบายในการประกาศยกเลิกโคเคน หรือฝิ่นจากยาเสพติดให้โทษ มีเพียงนโยบายยกเลิกพืชกระท่อม ออกจากยาเสพติดเท่านั้น เนื่องจากพืชกระท่อมมีฤทธิ์ในการเสพติดน้อยมาก หากบริโภคในปริมาณที่เหมาะสมเช่น ไม่เกิน 20 ใบต่อวัน จะไม่ส่งผลกระทบต่อร่างกายและสุขภาพ ใช้ในวิถีชีวิตชาวบ้านทำให้มีแรงทำงานหนักได้ ส่วนการปลดยาเสพติดเพื่อประโยชน์ของทางราชการ มีเพียงกระท่อมที่ต้องการให้ประชาชนสามารถใช้ในวิถีชีวิตพื้นบ้านได้  และจะให้เป็นพืชเศรษฐกิจในอนาคต

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า การปลดพืชกระท่อม ไม่มีการเอื้อประโยชน์ใคร แต่ต้องการให้สามารถใช้ในวิถีชาวบ้านได้ และส่งเสริมการใช้ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ พึ่งพาตนเองในการใช้เป็นยาสมุนไพร ซึ่งพืชกระท่อมมีสรรพคุณทางยาสมุนไพรของหมอพื้นบ้านและแพทย์แผนไทย โดยเมื่อมีการถอดพืชกระท่อมจากยาเสพติดแล้ว จะมี กฎหมายดูแลการขออนุญาตปลูก การป้องกันการขายแก่เด็กนักเรียนเยาวชน ไม่มีวัตถุประสงค์มอมเมาแต่อย่างใด ส่วนกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เห็นชอบให้พื้นที่นำร่อง 135 หมู่บ้าน/ชุมชน เป็นท้องที่ที่ให้เสพพืชกระท่อมได้โดยไม่เป็นความผิดนั้น ประกาศ 135 พื้นที่เสพและครอบครองพืชกระท่อม เป็นการผ่อนปรนให้ใช้ด้วยวิธีเคี้ยวใบสด ชงชาตามวิถีชาวบ้านเท่านั้น

“การออกกฎหมายต่างๆจะต้องมีกฎเกณฑ์ที่เหมาะสม อย่างพืชกระท่อมนี้ เราไม่ได้เปิดให้มีการใช้อย่างเสรี แต่จะเป็นการผ่อนปรนให้ใช้ตามวิถีชาวบ้านเท่าไร ส่วนการนำมาต้มแล้วผสมเป็น 4×100 เราไม่มีการปล่อยให้ทำเช่นนั้นเด็ดขาด รวมทั้งต้องมีการควบคุมและไม่ขายให้แก่เด็กและเยาวชนโดยเด็ดขาด หากใครฝ่าฝืนเราจะลงโทษหนักตามกฎหมาย” นายสมศักดิ์ กล่าว

เมื่อถามถึงข้อเสนอเปลี่ยนแปลงการควบคุมกัญชาและสารที่เกี่ยวข้องกับกัญชา ของ WHO ให้ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และทางการวิจัย นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ประเทศไทยตระหนักถึงความพยายามของ WHO ในการให้ข้อเสนอแนะที่จะปรับเปลี่ยนขอบเขตการควบคุมกัญชาและสารที่เกี่ยวข้องกับกัญชา เป็นการสร้างสมดุลในการบริหารจัดการพืชกัญชาแทนการควบคุมอย่างเข้มงวดเพียงอย่างเดียวทำให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นในการดำเนินการตามอนุสัญญาฯ เพื่อตอบสนองต่อองค์ความรู้ใหม่ที่พัฒนาขึ้นในห้วงที่ผ่านมา รวมถึงแนวโน้มใหม่ของโลกที่เปิดกว้างมากขึ้นในเรื่องการใช้ประโยชน์จากกัญชา แม้ว่าเรื่องประโยชน์ทางการแพทย์ของกัญชายังเป็นประเด็นอ่อนไหวที่มีความคิดเห็นขัดแย้งกันอยู่มากและน่าจะยังหาข้อยุติไม่ได้โดยง่าย 

“เราควรมองพืชกัญชาและสารสกัดจากกัญชาอย่างแยกส่วนโดยไม่เหมารวม ในส่วนที่เป็นโทษ ออกฤทธิ์ทำลายจิตและประสาทยังจำเป็นต้องดำรงนโยบายควบคุมอย่างเข้มงวดภายใต้กรอบแนวคิดตามที่ไทยและประเทศสมาชิกอาเซียนยึดมั่นมาโดยตลอด ส่วนสารที่นำมาใช้ประโยชน์ได้ควรเปิดกว้างในการเข้าถึงและทำให้ง่ายต่อการนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และการวิจัย เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกและมีความหวังในการต่อสู้กับโรคร้าย” นายสมศักดิ์ กล่าว

แสดงความเห็น