รมว.ยุติธรรม สั่งกรมคุ้มครองสิทธิ-กรมบังคับคดี บูรณาการร่วมกันช่วยเหลือปชช. ให้กทม.นำร่องสร้างอาสาสมัคร พร้อมถามความคืบหน้าสิทธิพิเศษจูงใจเอกชนลงทุนร่วมเรือนจำ สร้างอาชีพให้นักโทษ เร่งกรมราชทัณฑ์-กรมคุมประพฤติ จัดชั้นนักโทษ ควบคุมชั้นเดรัจฉานหลังปล่อยตัว
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานการประชุมผู้บริหารกระทรวงยุติธรรม โดยมี นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ว่าที่ร.ต.ธนกฤต จิตอารีย์รัตน์ เลขานุการรมว.ยุติธรรม นายวิวัฒน์ นิติกาญจนา ที่ปรึกษารมว.ยุติธรรม นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช ผู้ช่วยรมว.ยุติธรรม รองอธิบดีกรมต่างๆในกระทรวงยุติธรรม และข้าราชการส่วนต่างๆ ร่วมประชุม
โดยนายสมศักดิ์ ได้กำชับในส่วนงานหลักของกระทรวง ทางกรมคุ้มครองสิทธิ และ กรมบังคับคดี ต้องลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนทั่วประเทศ เพื่อการไกล่เกลี่ย รับเรื่องราวร้องทุกข์ เวลานี้เรามีกองทุนยุติธรรม เป็นเครื่องมือสำคัญในการเครือข่ายเข้าถึงประชาชนได้ อย่างไรก็ตามในระยะแรก พื้นที่ กทม.ต้องทำได้ ตนเชื่อว่ากรมคุ้มครองสิทธิ และกรมบังคับคดี ตั้งใจทำงานอยู่แล้ว แต่เราต้องบูรณาการร่วมกัน ให้พื้นที่กทม.เป็นพื้นที่นำร่อง เช่น การสร้างอาสาสมัครภาคประชาชน จากนั้นจะได้ขยายไปต่างจังหวัด ทั้งนี้เรื่องการช่วยเหลือสังคม อยากให้ทุกหน่วยงานไปคิดรูปแบบมาว่าจะทำอะไรบ้างเพื่อเป็นทำงานเชิงรุก
นายสมศักดิ์ ยังได้สอบถามถึง ความคืบหน้าการศึกษาสิทธิพิเศษเพื่อจูงใจเอกชนมาร่วมลงทุนในเรือนจำ เช่น การลดหย่อนภาษีสำหรับเอกชนที่มาร่วมลงทุน จะมีแนวทางพิจารณาถึงผลิตภัณฑ์ที่จะจูงใจให้เอกชนมาลงทุนอย่างไร และเพื่อเป็นการให้ผู้ต้องขังฝึกอาชีพ มีทักษะต่างๆที่จะสามารถนำไปประกอบอาชีพได้หลังพ้นโทษ ทั้งนี้ในปีงบประมาณ 2564 ผู้ต้องขังในเรือนจำจะต้องมีไม่เกิน 300,000 คน
นอกจากนี้บรรยากาศในที่ประชุม นายสมศักดิ์ ได้ถามถึงการจัดชั้นนักโทษ การติดตามนักโทษเดรัจฉาน โดยกำชับว่า การแก้ไข พ.ร.บ.คุมประพฤติ และพ.ร.บ.กักกัน ก็ทำไปตามขั้นตอน แต่ระยะเร่งด่วนต้องทำให้เห็นผล เช่น การแก้ระเบียบต่างๆ เพราะในเรื่องของผู้ต้องขังกลุ่มเดรัจฉานนั้น เมื่อพ้นโทษออกมา ส่วนใหญ่สังคมจะหวาดกลัว เพราะต้องโทษในคดีที่รุนแรง หลายครั้งเมื่ออกมามีการทำความผิดซ้ำ ดังนั้นจึงอยากให้มีการควบคุมอย่างไรได้บ้างหรือไม่ เช่นการ ติดกำไล EM เพื่อติดตามพฤติกรรม เพราะเราอยากให้สังคมปลอดภัยและเกิดความสบายใจ