The Agenda : วันนี้ ที่ประชุมร่วมรัฐสภา ได้พิจารณาร่างกฎหมายว่าด้วยปฏิรูปฉบับแรก ของรัฐสภา คือ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ..และร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด และร่างพ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่…) พ.ศ…. ซึ่งคณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอในวาระแรก
โดยในวาระแรกนั้น รมว.ยุติธรรม “สมศักดิ์ เทพสุทิน” ได้นำเสนอหลักการและเหตุผล ซึ่งเน้นย้ำถึงการปฏิรูปกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดที่มีอยู่หลายฉบับ ครอบคลุมกับหลายหน่วยงาน ทำให้การทำงาน กระจัดกระจาย ดังนั้นเพื่อให้มีกฎหมายที่สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน รัฐบาลจึงเสนอร่างกฎหมายที่ว่าเข้าสู่รัฐสภาให้พิจารณา
“ร่างกฎหมายว่าด้วยยาเสพติด ได้รวมและยกเลิกกฎหมายยาเสพติด รวม24 ฉบับ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และการรวบรวมกฎหมายยาเสพติดเป็นฉบับเดียวกันเพื่อให้เป็นระบบ ทั้งนี้จำเป็นต้องกำหนดให้มีระบบอนุญาตเพื่อให้การควบคุมและการใช้ประโยชน์ยาเสพติดในทางการแพทย์ ทางวิทยาศาสตร์ และทางอุตสาหกรรมมีประสิทธิภาพและมุ่งเน้นการป้องกันการแพร่กระจายยาเสพติดไปยังกลุ่มเยาวชนในทางที่ไม่ถูกต้อง ขณะที่ประมวลกฎหมายยาเสพติดเป็นการปรับปรุงบทบัญญัติให้เหมาะสมกับสภาพปัจจุบัน เพื่อให้การปฏิบัติงานที่มีหลายหน่วยงานเกี่ยวข้องสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
ขณะที่การอภิปรายของสมาชิกรัฐสภา ไม่มีใครขัดข้องในหลักการที่เสนอ พร้อมกับเสนอความเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการเขียนกฎหมายให้รอบคอบและตรงเป้าหมายว่าด้วยการปราบปรามยาเสพติดให้สำเร็จ
อาทิ พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล อภิปรายและตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับเนื้อหาของกฎหมาย ในส่วน ร่างพ.ร.บ. ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.. ว่าด้วยกองทุนป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ที่กำหนดให้ทรัพย์สินของกองทุนมาจากทรัพย์สินที่ศาลสั่งให้ริบทรัยพ์ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด รวมถึงทรัพย์สินที่ไม่มีผู้ขอคืนหลังจากที่ถูกอายัดไว้ภายใน 1 ปี เป็นต้น ทั้งนี้ทรัพย์สินในกองทุนไม่ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน แต่เนื้อหายังขาดการตรวจสอบ ดังนั้นเสนอให้มีการรายงานการดำเนินงานหรือกองทุนดังกล่าวต่อรัฐสภา พร้อมตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับทรัพย์สินในกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตามพ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 ที่พบรายงานว่า มีสินทรัพย์สุทธิ 1,700 ล้านบาท มีสินทรัพย์สภาพคล่อง 886 ล้านบาท มีรายได้ 172 ล้านบาท และค่าใช้จ่าย 200 ล้านบาท ซึ่งตนเชื่อว่ารายได้ของกองทุนดังกล่าวจะมีมากกว่าจำนวนดังกล่าว
ด้านว่าที่ร.ต.วงศ์สยาม เพ็งพานิชภักดี ส.ว. อภิปรายและตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับนโยบายปราบปรามยาเสพติด ที่พบการจับกุมเพิ่มมากขึ้นทุกปี และคนที่ถูกจับกุมและดำเนินคดีนั้น พบว่าโดนจับ 3-4รอบ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นภาษาชาวบ้านเรียกว่า จับแบบเลี้ยงหมู เพราะต้องการเลี้ยงให้อ้วนก่อนเข้าจับกุม ทั้งนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นพบความสอดคล้องกับการตั้งรางวัลนำจับให้กับเจ้าหน้าที่ทั้งที่การปฏิบัติงานต้องถือเป็นหน้าที่โดยตรง และกินภาษีของประชาชน ขณะเดียวกันการใช้นโยบายทำงานแบบตั้งเป้าการจับกุมทำให้ผู้ค้ารายย่อย ถูกบรรจุเป็นคดีมากขึ้นโดย ปี 2562 พบผู้ต้องหา 9.4 หมื่นราย, และปี 2563 ครึ่งปีมีผู้ต้องหา 9.1 หมื่นราย โดยการบริหารนโยบายดังกล่าว ทำให้ปัญหายาเสพติดสะสมและลามไปยังกลุ่มเยาวชน เพราะเยาวชนที่ติดคุก พบผู้สอนอยู่ในคุก เมื่อพ้นโทษได้กระทำผิดซ้ำอีก ดังนั้นควรพิจารณาถึงการเยียวยาที่พบว่ายังทำบำบัดไม่ถึงครึ่งของผู้ที่ถูกจับ โดยสถิติล่าสุดปี 2564 พบว่ามีผู้ที่ถูกจับ จำนวน 1.3 แสนราย ส่วนผู้ที่ได้รับการเยียวยาหรือบำบัดมีเพียง 2,000 คนเท่านั้น ดังนั้นควรส่งเสริมด้านอาชีพ ขณะที่การทำงานแบบเป้ายึดทรัพย์ให้ได้ 6,000 ล้านบาท และล่าสุดจับและยึดทรัพย์แล้ว 1,300 ล้านบาท ซึ่งการทำงานแบบตั้งเป้าดังกล่าวตนมองว่าทำให้การปราบปรามยาเสพติดไม่มีความจริงใจ และพบนักโทษล้นคุก
“ผมลงพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ผู้นำในพื้นที่กล้าพูดว่า มีใครบ้างที่กระทำผิด แต่ผู้ปราบปรามไม่รู้ ตั้งแต่อุ้งผาง ถึงคลองลาน ทราบหมด แต่ตำรวจไม่จับกุมหรือดำเนินการ” ว่าที่ ร.ต.วงศ์สยาม อภิปราย
นายวันชัย สอนศิริ ส.ว. อภิปรายเสนอแนะให้ปฏิรูป และปรับปรุงการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ด้านยาเสพติด โดยเทียบกับการปฏิบัติหน้าที่ปราบปรามยาเสพติดช่วงรัฐประหาร พร้อมตั้งข้อสังเกตส่วนว่าด้วยกองทุนป้องกัน ปราบปรามแก้ไขปัญหายาเสพติด ใน สำนักงาน ปปส. เพื่อป้องกันปราบปรามและแก้ปัญหายาเสพติด แต่ควรกำหนดภารกิจเพิ่มเติมในส่วนการป้องกันทางด้านสังคม ครอบครัว พัฒนาชุมชน เนื่องจากมีเงินในกองทุน จำนวนกว่าแสนล้านบาท
“วงการยาเสพติด ทราบว่ามีเงินหมุนเวียนหลักแสนล้าน มีผู้ใหญ่เล่าให้ฟังว่า ร้านทองหลายแห่ง เล่นแร่แปรธาตุจากยาเสพติด ฟอกเงินเป็นระบบ มีคนกระซิบว่าเจ้าหน้าที่บ้านเมืองมีส่วนรู้ แต่ไม่ทำ ในกฎหมายที่กำหนดให้ริบทรัพย์สินของคดียาเสพติดที่ศาลตัดสินให้เป็นกองทุนได้ ตั้งข้อสังเกตว่าในภารกิจควรขยายไปในภารกิจฟื้นฟูอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย” นายวันชัย กล่าว
ทั้งนี้การอภิปรายยังดำเนินต่อไป เบื้องต้นคาดว่าจะใช้เวลาพิจารณาร่างกฎหมายยาเสพติดทั้ง 2 ฉบับ ประมาณ6 ชั่วโมงก่อนลงมติว่าจะรับหรือไม่รับหลักการ.