ส.ส.ภูมิใจไทย เชื่อ ประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ สามารถขยายวงกว้างช่วยอำนวยความสะดวกปชช.ร้องเรียน-ส่งข้อมูล แนะ เลขาฯสภาฯต้องจัดโครงสร้างพื้นฐานรองรับให้มีประสิทธิภาพ
การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภา เป็นประธานในการประชุม เพื่อพิจารณา ข้อเสนอ ร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ฉบับที่ พ.ศ….. โดยเป็นการเสนอของนายอนันต์ ผลอำนวย ส.ส.กำแพงเพชร พรรคพลังประชารัฐ นายศุภชัย ใจสมุทร และ พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย
โดย พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ อภิปรายว่า ตนเป็นหนึ่งในผู้เสนอร่างดังกล่าว โดยหลักการคือเพิ่มข้อ 92/1 ข้อ 96 วรรคสี่ แห่งข้อบังคับการประชุมสภา โดยกำหนดให้การประชุมคณะกรรมาธิการและคณะอนุกรรมาธิการ สามารถใช้การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ โดยที่ข้อบังคับการประชุมสภา 2562 ยังไม่เปิดช่องการประชุมคณะกรรมาธิการ ให้สามารถดำเนินการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ ประกอบปัจจุบันมีสถานการณ์ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 การเว้นระยะห่างทางสังคมเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้การระบาดของโรคลดลงได้ ส่งผลให้การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมาธิการและอนุฯในการประชุมไม่สามารถทำได้ด้วยข้อจำกัดทางกฎหมาย ดังนั้นจึงสมควรแก้ไขข้อบังคับการประชุมสภาฯ เพื่อกำหนดให้ กมธ.และอนุกมธ.สามารถประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้
พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าวว่า วัตถุประสงค์ที่สำคัญคือ ไม่มีความจำเป็นต้องยึดโยงกับสถานที่ในสภา เพราะเทคโนโลยีสมัยใหม่ปัจจุบันสามารถสนับสนุนการประชุม โดยที่สมาชิกไม่ต้องอยู่ที่เดียวกัน และยังขยายครอบคลุมทำให้ประชาชนทั่วประเทศ โดยเฉพาะเรื่องอินเทอร์เน็ต ที่รัฐบาลและ กสทช.เตรียมเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นอินเทอร์เน็ตหมู่บ้าน ตำบลต่างๆ สามารถสนับสนุน ทำให้พี่น้องประชาชนในภูมิภาคต่างๆสามารถ ที่จะให้ข้อมูลกับ ส.ส. และกมธ.ชุดต่างๆได้รับทราบปัญหาประชาชนทั่วประเทศ ทำให้ประชาชนไม่ต้องเดินทางเข้ามา ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางและเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการเรียกร้องหรือร้องเรียน ปัญหาต่างๆได้
นอกจากนี้ในสำนักงานต่างๆ เจ้าหน้าที่ ข้าราชการ มีเครื่องมือต่างๆในการสื่อสารที่สนับสนุนโดยรัฐบาล ในสถานที่ต่างๆก็สามารถให้ข้อมูล กมธ.และอนุกมธ. ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้การแก้ไขระเบียบการประชุมในครั้งนี้สามารถขยายผล ทำให้การทำงานของกมธ.มีประสิทธิภาพ ช่วยเหลือประชาชนได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งตนมีข้อแนะนำในการสนับสนุนเทคโนโลยีการสื่อสาร สำนักงานเลขาธิการฯควรนำไปพิจารณาปรับปรุงระบบการสื่อสารโทรคมนาคม ไม่ว่าจะเป็นการปกป้องความลับหรือการเก็บข้อมูลที่สำคัญให้ปลอดภัย สำนักงานสภาฯมีความจำเป็นต้องปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพในการปกป้องข้อมูล และป้องกันความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และเก็บข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพโดยการแบ๊กอัพข้อมูล ที่เรียกว่า data recovery โดยมีหลักการคือ มีสถานที่และอุปกรณ์ในการเก็บข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพมากพอในการเก็บข้อมูลการประชุม ตนขอร้องไปยังเลขาธิการสภาให้เตรียมการสร้างพื้นฐานสำคัญเหล่านี้เอาไว้ หากข้อบังคับการประชุมแก้ไขได้แต่ไม่มีพื้นฐานดังกล่าว ก็จะส่งผลให้การทำงานไม่มีประสิทธิภาพไปด้วย
ทั้งนี้ที่ประชุมสภาฯ มีมติรับหลักการด้วยคะแนนเห็นด้วย 300 ไม่เห็นด้วย 5