Home News อาชญากรรม รมว.ยธ.ช่วยธุ...

รมว.ยธ.ช่วยธุรกิจประสบปัญหาช่วงโควิด ชง SMEs เข้าฟื้นฟู เพื่อให้ดำเนินธุรกิจต่อไปได้

รมว.ยุติธรรม ชูผลงานกรมบังคดี แนะ ขั้นตอนยื่นฟื้นฟูกิจการ ชี้ ความทุกข์ร้อนของประชาชน ก็คือ ความทุกข์ร้อนของรัฐบาล

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า วันนี้ตนได้นำเสนอเรื่องการฟื้นฟู SMEs ของกรมบังคับคดี ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพราะปัจจุบันโลกได้เผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง ทั้งธุรกิจขนาดเล็ก หรือ ขนาดย่อม (SMEs) โดยถือเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากความต้องการสินค้าและบริการที่ลดลง ดังนั้น การฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ประเภทวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยให้ธุรกิจที่ประสบปัญหาการขาดสภาพคล่อง ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด หรือขาดกระแสเงินสด ให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยไม่ถูกฟ้องเป็นคดีแพ่ง คดีล้มละลาย หรือ ถูกบังคับคดี 

นายสมศักดิ์ ยังกล่าวว่า หลักเกณฑ์การยื่นขอฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ของธุรกิจวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ต้องเป็นบุคคลธรรมดา จำนวนหนี้ไม่น้อยกว่า 2 ล้านบาท หรือ คณะบุคคล ห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนจำกัด จำนวนหนี้ไม่น้อยกว่า 3 ล้านบาท ส่วนถ้าเป็นบริษัทจำกัด จำนวนหนี้ไม่น้อยกว่า 3 ล้านบาท แต่ไม่ถึง 10 ล้านบาท โดยลูกหนี้จะต้องอยู่ในสถานะที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ซึ่งเป็นหนี้ที่เกิดจากการดำเนินกิจการมีเหตุอันสมควรและมีช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการได้ ดังนั้นกิจการจะต้องดำเนินการอยู่ โดยหากปิดกิจการไปแล้ว ก็ไม่สามารถยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการได้

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ขั้นตอนการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง โดยเจ้าหนี้และลูกหนี้จะต้องประชุมร่วมกัน เพื่อจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการในการชำระหนี้ของบรรดาเจ้าหนี้ โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากเจ้าหนี้ จากจำนวนหนี้ 2 ใน 3 ของหนี้ทั้งหมด ซึ่งลูกหนี้ หรือ เจ้าหนี้ ที่เป็นผู้ร้องขอฟื้นฟูกิจการจะต้องยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการพร้อมแนบแผนฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางด้วย

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า เมื่อศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการลูกหนี้แล้ว กิจการของลูกหนี้ก็จะอยู่ใน “สภาวะพักการชำระหนี้” โดยลูกหนี้จะได้รับความคุ้มครองทางกฎหมาย เช่น ไม่ถูกฟ้องคดีแพ่ง ไม่ถูกบังคับคดี ไม่ถูกฟ้องล้มละลาย รวมถึงลูกหนี้จะไม่ถูกตัดน้ำ ตัดไฟ หรืองดให้บริการสาธารณูปโภคอื่นๆ โดยสามารถดำเนินการค้าตามปกติต่อไปได้ และเมื่อศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผน ผู้บริหารแผนที่ระบุไว้ จะทำหน้าที่ดำเนินการตามแผนเพื่อชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามที่ระบุไว้ในแผน    

“แผนฟื้นฟูกิจการ จึงเป็นหัวใจสำคัญของการฟื้นฟูกิจการในการปรับโครงสร้างหนี้ ปรับโครงสร้างองค์กร เพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินการต่อไปได้ และต้องเป็นที่ยอมรับของบรรดาเจ้าหนี้ โดยแผนมีกำหนดระยะเวลา 3 ปี เมื่อดำเนินการเป็นผลสำเร็จตามแผน ศาลจะมีคำสั่งให้ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ ซึ่งผมยืนยันว่า รัฐบาลไม่เคยทอดทิ้งประชาชนในช่วงโควิด-19 โดยเราพร้อมที่จะช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ และเร่งด่วนที่สุด เพราะความทุกข์ร้อนของประชาชน ก็คือ ความทุกข์ร้อนของรัฐบาลเช่นกัน” นายสมศักดิ์ กล่าว 

Exit mobile version