รมว.ยธ. เปิดเวทีฟังความเห็นโครงการนิคมอุตฯราชทัณฑ์ “สุพจน์” ร่อนจม.ลาออก ทปษ.


ที่กระทรวงยุติธรรม นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานการเสวนาเพื่อแสดงความคิดเห็น จากผลกระทบการแต่งตั้ง คณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาแนวทาง การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ การคืนบุคคล ให้เป็นคนคนดีสู่สังคม โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนา คือ นายวิศิษฎ์ วิศิษฎ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม นายสิทธิ สุธีวงศ์ รองผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ นายนัทธี จิตสว่าง ที่ปรึกษาพิเศษสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไย นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานมูลนิติองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น นายพนิต บุญชะม้อย ประธานกรรมการมรรยาททนายความ สภาทนายความฯ นายฐนันดร์ศักดิ์ บวรนันทกุล นักวิชาการสิทธิมนุษยชนด้านกระบวนการยุติธรรม นายเกษมศานต์ โชติชาครพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) นายสุนทร สุทรธาราวงศ์ ประธานมูลนิธิพันธกิจเรือนจำคริสเตียน (บ้านพระพร) นายจิรพงษ์ ทรงวัชราภรณ์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและยาเสพติด และนายวินรวีร์ ใหญ่เสมอ (ต๊ะ บอยสเก๊าท์) 

โดยนายสมศักดิ์ กล่าวว่า ขอขอบคุณทุกคนที่มาแสดงความคิดเห็น ซึ่งการพูดคุยไม่ว่าผลจะออกมาทางไหน ตนยินดีน้อมรับฟัง และให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ เพราะสิ่งที่ตนตั้งใจทำงานในกระทรวงยุติธรรม เพื่อเติมเต็มสิ่งที่ยังขาด โดยยอมรับว่า ตนไม่ใช่นักกฎหมาย แต่ก็มีแนวทางการทำงาน ซึ่งมีบางคนบอกว่าตนทำการเมืองไม่มีอุดมการณ์ อยากขอย้ำว่า ตนมีแนวทางคือ แก้ปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชน เพราะมองเห็นความลำบากในพื้นที่ชนบท 

นายสมศักดิ์ ยังกล่าวว่า ตนเป็นรัฐมนตรีมา 14 ครั้ง ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ทำงานด้านสังคม โดยคนก็ตราหน้าว่า จะทำความเข้าใจได้หรือไม่ ตนจึงเป็นนักฟังที่ดี เพื่อต้องการความจริงและแก้ปัญหาให้ถูกจุด ขอย้ำว่า ยินดีรับฟังทุกข้อเสนอแนะ ส่วนการตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ ยังเป็นเพียงขั้นตอนศึกษา ซึ่งยังไม่สร้าง โดยปัจจุบันมีผู้ต้องขังในเรือนจำ 3.8 แสนคน พบว่า มีผู้ต้องขังที่พ้นโทษ กลับเข้าเรือนจำ เพราะไม่มีอาชีพ และเป็นผู้มีรายได้น้อย ตนจึงตั้งคณะอนุกรรมการฯชุดนี้ เพื่อมาศึกษาแก้ปัญหา 

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ที่เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์การตั้งที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการฯ ขอย้ำว่า ที่ตั้งที่ปรึกษาส่วนใหญ่เป็นอดีตข้าราชการ อย่าง นางอัญชลี ชวนิชย์ อดีตผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรม นายศิวะ แสงมณี อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ นายชวนพิศ ฉายเหมือนวงศ์ อดีตผู้ว่าการเคหะแห่งชาติ นายเทิดศักดิ์ เศรษฐมานพ อดีตอธิบดีกรมทางหลวง และนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม แต่กรณีนายสุพจน์ ถูกตั้งข้อสังเกต ก็ขอเน้นย้ำว่า การตั้งเป็นที่ปรึกษา เพราะจะรู้ใจผู้ต้องขัง ซึ่งถ้าสร้างสวนสาธารณะ และเชิญนายสุพจน์ มา คงแย่ที่สุด แต่ทั้งหมด ตนขอรับฟัง เพราะไม่อยากเกิดข้อขัดแย้ง 

นายสมศักดิ์ ยังอ่านจดหมายลาออกจากตำแหน่งที่ปรึกษาอนุกรรมการฯของนายสุพจน์ ว่า เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.63 นายสุพจน์ เขียนจดหมายถึง รมว.ยุติธรรม ขอลาออกจากคณะที่ปรึกษาอนุกรรมการฯ โดยระบุว่า “ตามที่คณะกรรมการราชทัณฑ์ได้มีคำสั่ง 1/2563 เรื่องแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเรื่องศึกษาแนวทางการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ ลงวันที่ 18 มิ.ย.2563 แต่งตั้งผมเป็นคณะที่ปรึกษาของคณะอนุกรรมการชุดดังกล่าว ตามรายละเอียดที่แจ้งแล้วนั้น เมื่อได้รับการทาบทามจากกระทรวงยุติธรรม ผมเห็นว่าจะสามารถใช้ความรู้ ประสบการณ์ และความเข้าใจที่มีต่อผู้ต้องขังในเรือนจำ มาถ่ายทอดให้โครงการนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคม และประเทศชาติ ผมจึงได้ตอบรับที่จะเข้าร่วม

แต่ต่อมาผมได้รับทราบจากสื่อต่างๆ ว่ามีกระแสความไม่เห็นด้วยและเห็นว่า การที่ผมรับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาอนุกรรมการฯ ชุดนี้ไม่มีความเหมาะสม ผมได้พิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อเป็นการยุติความขัดแย้งในสังคมและให้อนุกรรมการฯ สามารถเริ่มปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ของประเทศได้ทันที ผมจึงขอลาออกจากตำแหน่งที่ปรึกษาของคณะอนุกรรมการฯ โดยมีผลทันทีจากวันที่ 22 มิ.ย.63″

เช่นเดียวกับ นายชวนพิศ ฉายเหมือนวงศ์ ได้ทำหนังสือขอลาออกจากตำแหน่งเช่นเดียวกัน โดยให้เหตุผลว่า มีภารกิจบางประการที่รับผิดชอบและจะต้องเดินทางไปต่างจังหวัดเป็นประจำทุกเดือน อาจจะมีผลกระทบ ทำให้การทุ่มเทเวลาที่จะช่วยงานไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ตามเจตนารมย์

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า มีบางส่วนที่ต้องเรียนว่า สื่อบางคนที่มีบุคคลที่อยู่เบื้องหลังเขา มันอาจจะเป็นการเมืองอยู่เบื้องหลังสื่อ สะท้อนภาพแตกต่างไปจากสิ่งที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น พูดไว้ โดยมีการแปลงสารไปอย่างอื่น ให้มีความเข้าใจว่า เป็นสิ่งที่ผิดแปลกไป ซึ่งขอย้ำว่า เป็นเพียงต้องการความรู้ เพราะเราไม่สามารถนอนในเรือนจำได้ 

ขณะที่ นายวิศิษฐ์  กล่าวว่า จากตัวเลขผู้ต้องขัง 3.8 แสนคน ได้เก็บข้อมูลการกระทำผิดซ้ำ 5 ปีย้อนหลัง พบว่า ผู้กระทำผิดซ้ำ 35% ไม่ลดลง โดยที่ผ่านมากรมราชทัณฑ์ ก็มีแนวคิด คืนคนดีสู่สังคม แต่การคืนบุคคลเข้าสู่สังคม ยอมรับว่า ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการเข้าเรือนจำไม่ใช่จุดจบ แต่เป็นจุดเริ่มต้น โดยปัญหาใหญ่ที่พบคือ ทัศนคติในเรื่องของโอกาส ซึ่งหลายคนจะพูดถึงโอกาส แต่เรื่องนี้ เป็นข้อด้อยที่สุด เพราะคนที่เคยติดคุก จะขาดคุณสมบัติหลายเรื่อง ทำให้ช่องทางเดินไม่กว้าง อย่าง บริษัทเอกชน ก็กังวลใจในการรับเข้าทำงาน แต่ถ้าเราไม่ดูแล ก็จะเป็นปัญหาหนึ่ง เพราะเขาจะกระทำผิดอีก ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ภาครัฐ ไม่เคยรับผู้ต้องขังเลย ตนจึงเคยถกเถียงประเด็นนี้ จนในที่สุดได้ลองเปิดโอกาส โดยตัดคุณสมบัติเคยจำคุกมาก่อนออก 

ส่วน นายนัทธี กล่าวว่า เห็นด้วยกับเรื่องนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ เพราะในปัจจุบันการฝึกอาชีพนักโทษ เป็นไปด้วยความลำบาก เพราะการขนอุปกรณ์ เข้าออก จะต้องผ่านการตรวจค้นจำนวนมาก ส่งผลให้ผู้ประกอบการถอยออก ซึ่งตนมองว่า ถ้าฝึกอาชีพนอกเรือนจำ จะทำให้ดีขึ้น รวมถึงให้ผู้ต้องขังมีรายได้สูงขึ้นด้วย โดยน่าจะเป็นประโยชน์ในการฝึกอาชีพอย่างจริงจัง แต่ตนก็มีข้อคิดเห็นฝากไว้ คือ นิคมอาจอยู่ติดเรือนจำ โดยทำเป็นเรือนจำชั่วคราว เพราะอาจติดข้อกฎหมายห้ามนำนักโทษออกนอกเรือนจำ ส่วนขั้นตอนไป ก็อาจส่งไปฝึกโรงงานจริง 

ด้าน ต๊ะ บอยสเก๊าท์ เล่าประสบการณ์ว่า เคยตกเป็นผู้ต้องหาคดีปืน และยาเสพติด โดยใช้เวลาสู้คดี 3 ปี แต่ในช่วง 2 ปีแรก ถูกแบนจากวงการบันเทิง แต่โชคดี ศาลพิพากษาว่าไม่ผิด แต่หลังไม่ผิด สิ่งที่ได้รับคือ ทุกคนยังตราหน้าว่า เป็นคนไม่ดี และผลกระทบจากข่าวยังมีอยู่ อย่างเวลาเป็นพรีเซ็นเตอร์ จะถูกตัดสิทธิ์เลือกคนอื่น ซึ่งตนพยายามสู้มาโดยตลอด แต่ยอมรับว่า ในสังคมยอมรับยาก ขนาดตนไม่เข้าคุก ก็ยังถูกตัดสินทางสังคม โดยเป็นเรื่องยากมาก ที่จะมีคนเข้าใจ และให้โอกาส อย่างเพื่อนในวงการหลายคน ก็ไม่ได้รับโอกาส ส่วนโครงการเรือนจำอุตสาหกรรม ตนมองว่า เป็นโครงการที่ดี และสร้างสรรค์ ซึ่งถ้ามีพื้นที่ได้รับการยอมรับ คุณภาพชีวิตก็จะกลับมาเป็นคนอีกครั้ง 

ขณะที่ นายประมนต์ กล่าวว่า เรื่องโครงการนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ ไม่ใช่ประเด็นที่องค์กรมีความเห็น เพราะยังไม่เข้าใจลึกซึ้ง แต่เท่าที่รับฟังการเสวนา ก็เข้าใจว่าโครงการที่ต้องการนำคนดีกลับสู่สังคม ถ้าทำได้ดี ก็ควรได้รับการสนับสนุน แต่การแต่งตั้งผู้ที่เกี่ยวข้อง อาจส่งผลกระทบต่อโครงการได้ เพราะองค์กร มีความเห็นและตั้งข้อสังเกตถึงการตั้งผู้ที่เข้ามาช่วยศึกษา

นายมานะ กล่าวเพิ่มเติมว่า เท่าที่ศึกษาโครงการฯ ยอมรับว่า การพัฒนาเตรียมความพร้อมคืนคนดีสู่สังคม เป็นเรื่องที่ดี และสังคมไทย ยอมรับว่า  เป็นสิ่งที่ดี ซึ่งในภาพรวมไม่มีอะไรคัดค้าน โดยส่วนใหญ่เห็นด้วย แต่ปัญหาใหญ่คือการต่อต้านคอร์รัปชั่น เพราะทัศนติของประชาชน เวลาพูดคอร์รัปชั่น จะกลัวเดือดร้อน โดยคนไทยเกลียดการโกงทุกคน แต่มักจะพูดว่า อยู่เฉยๆดีกว่า เพราะมีความเชื่อว่าเป็นผู้มีตำแหน่งใหญ่ เดี๋ยวก็กลับมาได้  ดังนั้น ตนมองว่า ถ้าโดนลงโทษแล้ว กลับมามีบทบาททางการเมืองได้ ก็จะซ้ำเติมความรู้สึกประชาชน ที่เชื่อว่า ไม่เห็นมีอะไรเลย จนอาจจะกลายเป็นวัฒนธรรมสังคม ที่เมินเฉยเรื่องคอร์รัปชั่น 

นายมานะ กล่าวอีกว่า เราต้องช่วยกันทำทิศทางที่ีดีให้ก้าวหน้า โดยคนที่เคยต้องขัง และกลับสู่สังคมเป็นเรื่องที่ดี แต่คดีทุจริตคอร์รัปชั่น ไม่ใช่วิ่งชิงปล้น หรือ ยาเสพติด ซึ่งเป็นคดีทำลายชาติ สร้างความเสียหาย และรัฐธรรมนูญ ก็กำหนดมาตรการไว้ห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่เชื่อว่า ยังได้รับโอกาสทางสังคม ที่สามารถไปวัด ห้างสรรพสินค้าได้ ดังนั้น การแต่งตั้งผู้ที่เกี่ยวข้อง ตนขอให้พิจารณาอย่างระวัง และต้องไม่เป็นต้นแบบ จนประชาชน และข้าราชการเกิดความเข้าใจผิด

ส่วน นายจิรพงษ์ กล่าวว่า ชื่อโครงการฯ ก็สะท้อนว่า ต้องการเปิดโอกาส ซึ่งถ้าตนเป็นนายสุพจน์ จะไม่มาให้ช้ำ ที่ให้สังคมตีหน้า ดังนั้น ขอฝากแง่คิดว่า แต่งตั้งที่ปรึกษาน้อยไป โดยถ้าเอามาเป็นกลุ่ม นายสุพจน์ จะไม่มีปัญหา เพราะเขาได้รับโทษแล้ว และออกมาคือ ผู้บริสุทธิ์  โดยจากนี้ ตนขอเสนอแต่งตั้งให้เยอะกว่านี้ เพราะเป็นการเปิดโอกาส รวมถึงเป็นตัวอย่างที่ดี ที่เขากลับตัว

แสดงความเห็น