4 ปมร้อน หลังเปิดสภาฯ “บิ๊กตู่” พิงเชือกสู้-ประคองตัว

หลังเปิดประชุมรัฐภา ไปตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. ที่ผ่านมา โดยกว่าจะปิดสมัยประชุมฯ ก็ประมาณช่วงวันที่ 18 ก.ย.2564 

โดยประชุมสภาฯรอบนี้ สี่เดือน ไล่ปฏิทินการเมืองกันดูแล้ว ในช่วงโควิดรอบสาม ระบาดหนัก จน ศบค.ขอให้รัฐสภางดการประชุมกรรมาธิการทุกคณะ ทั้งสามัญและวิสามัญ และอนุกรรมาธิการ ในช่วงนี้ออกไปก่อน ซึ่งในกลุ่มพวกกรรมาธิการสามัญ-วิสามัญฯ ทั่วไป ที่ไม่ได้สำคัญอะไรมาก ก็ย่อมทำได้ แต่ที่จะมีปัญหาก็คือ คณะกรรมาธิการบางคณะที่มีความจำเป็นต้องมีการประชุมเพราะติดล็อกเงื่อนไขข้อกฎหมาย  ก็อาจต้องหาวิธีการ แก้ปัญหาเฉพาะหน้ากันไป 

อย่างไรก็ตาม ในสมัยประชุมสภาฯรอบนี้ เมื่อดูจากจังหวะทางการเมืองในรัฐสภา ในช่วงสี่เดือน ต่อจากนี้ พบว่า มี 4 ปมร้อนทางการเมืองที่ต้องจับตา อันได้แก่ 

1.การพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2565 

ที่มีกรอบวงเงิน 3,100,000 ล้านบาท โดยจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ วาระแรกขั้นรับหลักการ ในช่วงวันที่ 31 พ.ค.- 2 มิ.ย. ท่ามกลางเสียงเรียกร้องจากส.ส.บางพรรคขอให้เลื่อนการพิจารณาออกไปก่อน เพื่อหนีปัญหาโควิด แต่ดูแล้วเนื่องจากเป็นกฎหมายสำคัญของรัฐบาล ที่สำคัญติดล็อกด้านข้อกฎหมายที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้ เมื่อร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายฯ ได้ส่งถึงรัฐสภาแล้ว สภาผู้แทนราษฎรจะต้องพิจารณาให้เสร็จสิ้นภายใน 105 วัน ดังนั้นการเลี่ยงหรือเลื่อนการพิจารณาออกไปก่อน อาจทำให้รัฐบาลและฝ่ายสภาฯ คงลำบากใจพอสมควร เพราะต้องการเข็นร่างพ.ร.บ.งบฯ65  ออกมาให้ทันก่อนวันที่ 30 ก.ย. ที่เป็นวันสุดท้ายของปีปฏิทินงบฯ ปี 2564 การเลื่อนการพิจารณาออกไป จึงอาจทำให้มีปัญหาได้ 

ขณะที่เรื่องการให้ความเห็นชอบร่างพ.ร.บ.งบฯ 65 ยังไงดูแล้ว ก็ผ่านฉลุย เพราะแม้ต่อให้ พรรคฝ่ายค้านจะชิงประกาศออกมาว่า จะไม่ให้ความเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ฯดังกล่าวในวาระแรก แต่ด้วยจำนวนเสียงส.ส.ฝ่ายค้านที่มีอยู่ตอนนี้ มีน้อยกว่าส.ส.ฝ่ายรัฐบาล จำนวนหลายสิบเสียง ผนวกกับ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ทั้งหมด แม้อาจจะมีปัญหาขุ่นข้องหมองใจกันบ้าง ในกลุ่ม พรรคพลังประชารัฐ-ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย แต่ทั้งหมด ก็พร้อมจะลงมติสนับสนุนร่างพ.ร.บ.งบฯ 65 แน่นอน ทำให้ยังไง ดูไปแล้ว ร่างพ.ร.บ.งบฯ ก็ผ่านสภาฯวาระแรกไม่มีปัญหา รวมถึงจะผ่านฉลุยในวาระสอง-วาระสาม ในช่วงเดือนกันยายนด้วย  

ที่น่าจับตามากกว่า ก็คือช่วงการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบฯ วาระแรก ฝ่ายค้าน วางคิวแล้วว่า จะมีการอภิปรายอัดรัฐบาลอย่างหนัก ในเรื่องปัญหาโควิดฯ โดยนำเรื่องงบประมาณของกระทรวงต่างๆ มาอภิปรายโยงถึงรัฐมนตรีบางคน โดยเฉพาะเป้าหลักก็คงมี เช่น งบกลาง-งบกระทรวงสาธารณสุข-งบกระทรวงแรงงาน เพื่ออภิปรายกระทบชิ่งไปถึง รัฐมนตรีบางคนอย่างเช่น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ-อนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข-สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เป็นต้น 

คาดว่า เนื้อหาการอภิปรายของส.ส.ฝ่ายค้าน ช่วงพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบ 65 น่าจะดุดันพอสมควร เพราะฝ่ายค้าน ต้องการใช้เวทีอภิปรายงบฯ ถล่มนายกฯและรัฐบาล เพื่อสนองตอบต่ออารมณ์ของประชาชนที่ไม่พอใจการแก้ปัญหาโควิดของรัฐบาล โดยเฉพาะเรื่องวัคซีน ฝ่ายค้าน จึงไม่พลาดโอกาสทอง ที่จะใช้เวทีงบฯ ปล่อยของไล่อัดรัฐบาล สามวันสามคืน นำร่อง เปิดประชุมสภาฯ อันร้อนแรง 

2.การพิจารณา พระราชกำหนดเงินกู้สู้โควิด 7 แสนล้านบาท 

อันเป็นพระราชกำหนด ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2564 ที่ผ่านมา ที่เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอ คือ การออกพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อโคโรนา 2019 พ.ศ. … (พ.ร.ก.กู้เงิน) วงเงินไม่เกิน  700,000 ล้านบาท 

เพราะตามรัฐธรรมนูญ แม้จะมีการออกพระราชกำหนดไปแล้ว แต่รัฐบาลต้องมีการนำพระราชกำหนดส่งกลับมาให้รัฐสภา พิจารณาอภิปรายและลงมติอีกครั้ง 

แน่นอนว่าถึงจังหวะนั้นในสภาฯ  ฝ่ายค้านไม่พลาดที่จะทั้งโขกทั้งสับ พลเอกประยุทธ์และรัฐบาล กรณีการออกพ.ร.ก.ดังกล่าว ฯ เพื่อดิสเครดิตรัฐบาล ทำนองว่า ที่ผ่านมา มีการออกพ.ร.ก.เงินกู้โควิดไปแล้ว 1 ล้านล้านบาท แต่ไม่ได้ผล แก้ปัญหาไม่ตรงจุด เลยมากู้เพิ่มอีก 7 แสนล้าน จนเกือบจะชนเพดาน หนี้สาธารณะ      โดยฝ่ายค้าน ก็จะต้องอภิปราย แต่ในแง่ไม่ดีของรัฐบาลในการแก้ปัญหาโควิดในช่วงที่ผ่านมาแล้วก็ท้วงติงว่า ไม่มั่นใจว่าการกู้รอบใหม่ครั้งนี้ จะแก้ปัญหาได้ตรงจุดหรือไม่  

รวมถึงคงอภิปรายในเชิงว่า การใช้เงินกู้ของรัฐบาลรอบที่แล้วเพื่อนำมาเยียวยาช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจ ยังมีประชาชนอีกหลายกลุ่มไม่ได้รับการช่วยเหลือ และเงินที่ใช้ไป ก็ล้มเหลว ไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง  รวมถึงก็คงพยายามชี้ว่า มาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลทำออกมา ยังเปิดช่องให้เกิดการทุจริตได้ 

โดยเมื่อรัฐบาลส่งพ.ร.ก.เงินกู้ 7 แสนล้านบาทมาให้รัฐสภาพิจารณา คาดว่านอกจากพลเอกประยุทธ์ ต้องรับบทหนักในการชี้แจงต่อที่ประชุมถึงเหตุผล ความจำเป็นในการออกพ.ร.ก.เงินกู้ดังกล่าว ที่จะมีส.ส.ฝ่ายค้านหลายสิบคน ไม่พลาดโอกาสทองที่จะลุกขึ้น อภิปรายอัด พลเอกประยุทธ์แล้ว และก็คงจะมีรัฐมนตรีอีกบางคนที่จะโดนฝ่ายค้าน ไล่ถล่มเช่นกัน อาทิ อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เป็นต้น 

การพิจารณาพ.ร.ก.เงินกู้ 7 แสนล้านบาทที่จะเกิดขึ้น จึงเป็นอีกหนึ่งปมร้อนทางการเมืองในรัฐสภา ที่คาดว่า น่าจะมีความร้อนแรงเข้มข้นแน่นอน 

3.ศึกซักฟอก เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ 

จนถึงขณะนี้พบว่า แกนนำฝ่ายค้านบางพรรคแสดงท่าทีชัดเจนแล้วว่า เปิดสภาฯรอบนี้ จะยื่นญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล แน่นอน ที่ประเด็นหลัก คงไม่พ้นเรื่อง ปัญหาโควิดฯ โดยมีข่าวว่า การยื่นญัตติดังกล่าว น่าจะให้มีผลในช่วงก่อนปิดสมัยประชุมคือประมาณต้นเดือนกันยายน เพราะฝ่ายค้านมองว่าถึงตอนนั้น สถานการณ์น่าจะสุกงอมพอ ที่จะยื่นซักฟอก นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอีกบางคน ในเรื่องการแก้ปัญหาโควิด จนสร้างกระแสทางการเมืองได้ระดับหนึ่ง 

โดยตอนนี้ ยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่า ทิศทางการยื่นซักฟอกของฝ่ายค้าน จะออกมาแบบไหน มีรัฐมนตรีคนไหน อาจถูกยื่นซักฟอกบ้าง แต่ดูแล้ว รอบนี้ หากฝ่ายค้าน จะไม่ยื่นซักฟอกรัฐมนตรี บางคน อย่างเช่น อนุทิน รมว.สาธารณสุข ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ก็คงเป็นเรื่องที่ฝ่ายค้าน คงตอบข้อสงสัยของสังคมได้ยากว่า ทำไมถึงไม่ยื่น

ส่วนเรื่องจำนวนเสียงส.ส.โหวตไว้วางใจในสภาฯ ฝ่ายค้านไม่หวังอะไรอยู่แล้ว แต่หวังผลทางการเมืองในเรื่องการดิสเครดิตพลเอกประยุทธ์และรัฐบาลมากกว่า โดยเฉพาะหากสามารถอภิปรายเรื่องโควิดฯได้แบบจังๆ ฝ่ายค้าน ก็คงหวังเหมือนกันว่า หากชกได้เข้าเป้า ก็อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเกิดขึ้นในช่วงปลายปีนี้ก็ได้ 

4.การแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา 

จากสถานการณ์โควิดรอบสาม ที่รุกหนัก จนคนเครียดทั้งประเทศ เลยทำให้เรื่องทางการเมืองที่เคยร้อนแรงอย่างเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เลยดูซาลงไป แต่จับจังหวะได้ว่า หากสุดท้าย พลังประชารัฐ ไม่มีถอย สั่งเดินหน้าผลักดันร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ที่เสนอญัตติเข้าไปแล้วเพื่อให้รีบแก้ไขรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จโดยเร็ว 

ขณะที่ฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาล “ภูมิใจไทย-ประชาธิปัตย์-ชาติไทยพัฒนา” ก็จะเสนอร่างแก้ไขรธน.รายมาตราประกบเช่นกัน โดยบางประเด็น ก็ไม่ตรงกับของพรรคพลังประชารัฐ  เช่นเดียวกับพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่ก็รอเสนออยู่ ผสมกับกระแสการเคลื่อนไหวทางการเมืองนอกรัฐสภา ที่มีการเคลื่อนไหวให้แก้ไขรธน.รายมาตรา ในประเด็นที่ไม่ตรงกับของพลังประชารัฐ เช่น การโละส.ว.ชุดปัจจุบัน เพื่อปิดสวิทช์อำนาจ ส.ว.โหวตนายกฯ 

จึงทำให้ เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะเป็นอีกหนึ่งเรื่องร้อนทางการเมืองในสมัยประชุมสภาฯรอบนี้ ที่หากทั้งพลังประชารัฐ-พรรคร่วมรัฐบาล-พรรคฝ่ายค้าน-กลุ่มการเมืองภาคประชาชน ต่างฝายต่างมีธงในการแก้ไขรธน.ของตัวเอง ผนวกกับมีการเคลื่อนไหวทั้งในและนอกรัฐสภาในเรื่องการแก้ไขรธน.ออกมาหลังจากนี้  สุดท้าย เชื่อได้เลยว่า จะทำให้ เรื่องการแก้ไขรธน.กลับมาร้อนแรงอีกครั้งในสมัยประชุมสภาฯรอบนี้ 

4 ปมร้อนการเมืองในรัฐสภาข้างต้น คือสิ่งที่จะเกิดขึ้น ในการประชุมสภาฯรอบสมัยประชุมนี้ ที่จะทำให้ อุณหภูมิการเมือง กลับมาร้อนแรงอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งคนที่ต้องรับบทหนักมากที่สุด ก็คงไม่พ้น บิ๊กตู่-พลเอกประยุทธ์ ในการรับมือกับฝ่ายค้าน เพราะดูแล้ว แต่ละศึก คงหนักหนาไม่ใช่เล่น 

ดังนั้น หากพลเอกประยุทธ์ พิงเชือกบนเวทีสู้แต่ละศึกไปแบบ ค่อยๆ ประคองตัว หากมีจังหวะ ก็สวนกลับฝ่ายค้านไปบ้าง ก็น่าจะทำให้ อย่างน้อย สี่เดือนของสมัยประชุมสภาฯรอบนี้ บิ๊กตู่ ก็น่าจะพอประคองตัวรอดไปได้อีกครั้ง 

แสดงความเห็น