อนุกมธ.กัญชง หวังผลักดันเป็นพืชเศรษฐกิจ เตรียมเสนอเข้าสภา “พรรณสิริ” ชี้ปลูกได้ดีเหมาะกับอากาศไทย เผยตลาดโลกต้องการสูง มูลค่ารวมกว่า 1.2 แสนล้าน

นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ ส.ส.สุโขทัย พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาศึกษาหาแนวทางการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการใช้กัญชงอย่างเป็นระบบ กล่าวถึงความคืบหน้าการทำงานของคณะอนุกรรมาธิการฯ ว่า เราได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมมาเพื่อหารือแล้ว 7 ครั้ง โดยมีเป้าหมายส่งเสริมให้พืชกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของไทย ทั้งนี้เป็นที่ยอมรับกันแล้วว่า พืชกัญชงที่มีคุณค่าประโยชน์อย่างมหาศาล ทั้งในด้านการแพทย์ ผลิตภัณฑ์สุขภาพ เครื่องอุปโภคบริโภค จึงควรส่งเสริมพืชกัญชงให้เป็นพืชทางเลือกของเกษตรกรไทย เนื่องจากพืชกัญชงมีความเหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย เกษตรกรไทยมีความเชี่ยวชาญในการเพาะปลูก และประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตอาหารและ ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เป็นที่ยอมรับในระดับโลก เพื่อประโยชน์ทางเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม รวมทั้งการสืบสานให้เป็นพืชทางวัฒนธรรมของชาติสืบต่อไป 

“อนุกรรมาธิการฯ ได้กำหนดเป้าหมายของการศึกษาเกี่ยวกับการใช้กัญชงอย่างเป็นระบบ โดยใช้กรอบการศึกษา 3 ด้าน คือ 1. ด้านการปลูก ด้านการผลิตและด้านการแปรรูป 2. ด้านเศรษฐกิจ การนำเข้าและการส่งออก และ 3.ด้านกระบวนการกำกับ ติดตาม ตรวจสอบและการควบคุมมาตรฐานพืชกัญชง ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีการวิจัยเพื่อส่งเสริมและรับรองสายพันธุ์กัญชง จากมูลนิธิโครงการหลวง โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) เป็นสายพันธุ์ RPF1, RPF2, RPF3 และ RPF4 โดยในอนาคตรัฐบาลมีโครงการจะรับรองสายพันธุ์พื้นบ้านเพิ่มเติมอีกประมาณ 5-10 สายพันธุ์ เพื่อผลักดันให้เกิดการปลูกกัญชงในระดับพื้นบ้านเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศอีกชนิดหนึ่งต่อไป” นางพรรณสิริ กล่าว

นางพรรณสิริ กล่าวว่า พืชกัญชงกำลังเป็นที่ต้องการในตลาดโลก จากสารประกอบที่สำคัญ คือ CBD (Cannabidiol) ที่สามารถนำมาผลิตและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพ ผลิตภัณฑ์เครื่องอุปโภค บริโภค เป็นประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรม มีเมล็ดที่แปรรูปเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงไม่ว่าจะรับประทานเป็นเมล็ดแห้งหรือผสมน้ำมัน รวมทั้งใช้ในการผลิตเครื่องสำอางที่มีมูลค่ารวมในตลาดโลกปัจจุบันถึงราว 120,000 ล้านบาท เราคาดว่าประชาชนทุกคนผู้ตั้งใจบุกเบิกพืชเศรษฐกิจใหม่นี้ จะก้าวสู่ความสำเร็จได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งนี้การดำเนินงาน ของคณะอนุกรรมาธิการฯ มุ่งเน้นกระบวนการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องและข้อเสนอแนะอื่น ๆ ที่พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน และจะจัดทำข้อมูลสรุปเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

ด้าน นพ.มารุต มัสยวาณิช ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการ กล่าวว่า กลไก ทางกฎหมายเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการใช้กัญชงอย่างเป็นระบบ โดยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือ 1.พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522  และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม 2. กฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต จําหน่ายหรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะเฮมพ์พ.ศ. 2559 3.ประกาศคณะกรรมการควบคุม ยาเสพติดให้โทษ เรื่อง กำหนดลักษณะกัญชง (Hemp) พ.ศ.2562 4. ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 5. ร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชง (Hemp) พ.ศ. …. รวมถึงยังมีกฎหมายประกอบที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ แนวปฏิบัติ กฎ และระเบียบในกระบวนการดูแล กำกับ ติดตามการใช้พืชกัญชงให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล เพื่อการแก้ปัญหาข้อจำกัดด้านการปลูก การผลิตและการแปรรูป รวมถึงการนำเข้าและการส่งออก นำไปสู่การพัฒนากัญชงให้เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย 

แสดงความเห็น