“รองนายกฯสมศักดิ์” ลุย แก้ปัญหาน้ำท่วมตั้งแต่ต้นน้ำ ตั้ง “ปลอดประสพ”ศึกษาโครงการบริหารจัดการน้ำขนาดใหญ่ ของยุค “อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์” หวังแก้ปัญหาน้ำท่วมที่ต้นเหตุ หลังที่ผ่านมา แก้แต่ปลายน้ำ
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) โดยมี นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายปลอดประสพ สุรัสวดี ที่ปรึกษาประธาน กนช. นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ นายกิตติกร โล่ห์สุนทร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง และคณะกรรมการ กนช. เข้าร่วมประชุม ที่ทำเนียบรัฐบาล
โดยนายสมศักดิ์ กล่าวว่า ที่ประชุม กนช.ได้มีการพิจารณาแต่งตั้งนายปลอดประสพ เป็นประธานยุทธศาสตร์ด้านการบริหารจัดการน้ำ เพื่อพิจารณาศึกษาโครงการบริหารจัดการน้ำขนาดใหญ่ ในรัฐบาล อดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เนื่องจาก ที่ประชุมได้มีการสะท้อนปัญหาการบริหารจัดการน้ำ ที่แก้แต่ปลายน้ำ แต่ยังไม่มีการแก้ปัญหาที่ต้นน้ำ จึงมีการเสนอให้ศึกษาโครงการในอดีต เพื่อจะหาแนวทางการแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นน้ำ โดยเฉพาะในลุ่มน้ำต่างๆที่ยังไม่ได้รับการแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นน้ำ เพื่อเตรียมเสนอผลักดันให้รัฐบาลพิจารณาต่อไป
“โครงการขนาดใหญ่ ที่นายปลอดประสพ จะมีการศึกษา เช่น การจัดทำฟลัดเวย์คลองระบายน้ำขนาดใหญ่ ในฝั่งตะวันตก หรือ ฝั่งตะวันออก เพื่อเร่งระบายน้ำ การผันน้ำข้ามลุ่มแม่น้ำ จากอ่างเก็บน้ำทางทิศตะวันตก เข้าสู่จังหวัดตอนบน หรือ ผันน้ำระหว่างแม่น้ำมูล-แม่น้ำชี และ แม่น้ำชี-แม่น้ำโขง รวมถึงการจัดทำแก้มลิงในแม่น้ำมูล และแม่น้ำชีตอนล่าง ซึ่งโครงการต่างๆนี้ จะสามารถช่วยแก้ปัญหาเรื่องน้ำได้ โดยที่ประชุมยังได้มีการเน้นย้ำว่า น้ำท่วม 1 ปี ได้สร้างความเสียหาย มากกว่าน้ำแล้งถึง 10 ปี จึงอยากให้มุ่งเน้นการแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างเป็นรูปธรรม และตรงจุดตั้งแต่ต้นเหตุ” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ที่ประชุม กนช.ยังได้มีการพิจารณาร่างมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 ซึ่งมีทั้งหมด 10 มาตรการ คือ 1.คาดการณ์ชี้เป้า 2.ทบทวนปรับปรุง 3.เตรียมความพร้อม 4.ตรวจสอบพร้อมติดตาม 5.เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ 6.ซักซ้อมแผน 7.เร่งพัฒนาและเก็บน้ำ 8.สร้างความเข้มแข็ง 9.การสร้างการรับรู้ 10.ติดตามประเมินผล โดยมาตรการทั้งหมด จะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝน ที่ประชุมจึงมีมติเห็นชอบ นอกจากนี้ ยังมีการเห็นชอบแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้ง จำนวน 12 ลุ่มน้ำ และแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วม จำนวน 22 ลุ่มน้ำด้วย