สภาฯ เสียงเอกฉันท์ รับหลักการ ร่างกม.ติดดาบ ป.ป.ท. ปราบทุจริต 

สภาฯ เสียงเอกฉันท์ รับหลักการ ร่างกม.ติดดาบ ป.ป.ท. ปราบทุจริต “สมศักดิ์” แจงสภาฯ ต้องปรับแก้ให้สอดคล้องรธน. ยกระดับการตรวจสอบทุจริต ให้อำนาจ ป.ป.ท.ไต่สวน-ชี้มูล คนทำผิดทุกเรื่อง ไม่จำกัดเฉพาะทุจริตคอร์รัปชั่น

ในการประชุมสภาฯ ที่มีนายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาฯ คนที่หนึ่ง เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.มาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่…) พ.ศ… ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอ และฉบับที่นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เสนอต่อสภาฯ 

โดยนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกฯ ชี้แจงรายละเอียด ว่า ร่างกฎหมายดังกล่าว ผ่านการแก้ไข 3 ครั้ง เพื่อได้ปรับปรุงกระบวนการไต่สวนข้อเท็จจริงการทำงานที่ล่าช้า และมีปัญหาในทางปฏิบัติในรูปแบบทุจริตที่ซับซ้อน  รวมถึงให้กรรมการป้องกันและปรามบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) มีอำนาจรองรับภารกิจของรัฐ ส่งเสริมสนับสนุนและให้ความรู้กับประชาชนอันตรายในการทุจริตในภาครัฐและเอกชน เพื่อให้ประชาชนรวมตัวรณรงค์ ต่อต้าน ชี้เบาะแสโดยได้รับความคุ้มครองจากรัฐ ส่วนการแก้ไขล่าสุด เป็นครั้งที่ 4 เพื่อให้ ปรับปรุงหน้าที่ อำนาจ ของ ป.ป.ท. ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ รวมถึง พ.ร.ป. ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561 ส่วนที่เกี่ยวกับการประพฤติมิชอบให้ครอบคลุมการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่รัฐทุกมิติ ของ ป.ป.ท. รวมถึงสร้างความน่าเชื่อถือของการทำงานในองค์กร เพราะมีหน่วยงานภาครัฐเข้าไปกำกับ โดยแก้ไขเพิ่มเติมประเด็นสำคัญ อาทิ นิยาม ประพฤติมิชอบ ให้ ป.ป.ท. มีอำนาจ รับเรื่อง ไต่สวน ชี้มูลความผิด และให้ครอบคลุมความผิดวินัยเจ้าหน้าที่รัฐทุกเรื่อง ไม่เฉพาะเรื่องประพฤติมิชอบเท่านั้น 

นายสมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า เพิ่มอำนาจขอศาลออกหมายจับผู้ถูกกล่าวหาหลังจาก ป.ป.ท.ชี้มูลความผิด , เพิ่มสิทธิชี้แจงข้อกล่าวหาจนกว่ามีมติชี้มูลความผิด, ให้สิทธิทบทวนมติชี้มูลความผิดของ ป.ป.ท. กรณีมีพยานหลักฐานใหม่ที่เป็นสาระสำคัญ, เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เพื่อสกัดปัญหาการทุจริต ประพฤมิชอบ และตรวจสอบการทุจริตได้ทันสถานการณ์ ที่สอดคล้องกับการประเมินการจัดอันดับของไทย

“ป.ป.ท.ตรวจสอบได้ โดยไม่ต้องรอ ป.ป.ช.มอบหมายและเริ่มไต่สวนได้ตามกฎหมาย ไม่ต้องตั้งอนุกรรมการไต่สวน สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ที่ให้ลดมีกรรมการ โดยทำให้เสร็จ 2 ปี ขยายไม่เกิน 3 ปี เพื่อให้การทำงานสำเร็จเร็วในกรอบเวลาและนำมาซึ่งการลงโทษผู้กระทำผิดรวดเร็ว รวมถึงเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนเข้าถึงได้” นายสมศักดิ์  กล่าว

ขณะที่นายวิโรจน์ นำเสนอรายละเอียดเช่นกันว่า ต้องการปรับปรุงเพื่อให้การตรวจสอบการทุจริต ของเจ้าหน้าที่รัฐให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะประเด็นปัญหาส่วยที่เกิดขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการอภิปรายของสภาฯ พบว่าไม่มี สส. คนใดคัดค้านในรายละเอียด ก่อนจะลงมติรับหลักการด้วยเสียงเอกฉันท์ 414 เสียงจากนั้นได้ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) จำนวน 25 คนเพื่อพิจารณา

แสดงความเห็น