“สมศักดิ์” แจงสภาฯ แก้กฎหมายเยียวยาผู้เสียหาย จะทำให้ทุกคนได้รับสิทธิ 

“สมศักดิ์” ตอบกระทู้ในสภาฯ แจงแก้กฎหมายเยียวยาผู้เสียหาย จะทำให้ทุกคนได้รับสิทธิ ชวน ส.ส.ช่วยแจ้งประชาชน รับสิทธิเยียวยา หลังยังมีคนขอน้อย มั่นใจ หากร่างกฎหมายถึงสภา จะร่วมแรงร่วมใจกันผ่าน เพื่อประโยชน์ของประชาชน

ที่รัฐสภา นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ตอบกระทู้ถามทั่วไป ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่นายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ส.ส.จังหวัดยะลา พรรคพลังประชารัฐ ได้ถามถึงเรื่องการแก้ไขพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2544

โดยนายสมศักดิ์ กล่าวว่า ขอขอบคุณสภาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่ให้ความสนใจในประเด็นกระบวนการยุติธรรม ซึ่งตนเห็นว่า นายอาดิลัน ได้มีการอภิปรายถึงประเด็นนี้ในสภาฯด้วยความห่วงใย ในพี่น้องประชาชน เพราะพื้นที่ของนายอาดิลัน อยู่ใน 4 จังหวัดภาคใต้ ที่มีความสำคัญ และเกี่ยวข้องกับคดีความ รวมถึงค่าเสียหายของจำเลย ดังนั้น จากการที่รัฐบาล แก้กฎหมายนี้ ก็จะทำให้ประชาชนทุกคนได้รับสิทธิเต็มที่ 

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า หากดูชื่อของร่างกฎหมาย อาจทำให้ประชาชนสับสน และเข้าใจได้ยาก ตนจึงขอแนะนำให้จำแค่ 2 ประเด็น คือ ผู้เสียหาย กับ จำเลยในคดีอาญา โดยผู้เสียหาย คือ กรณีที่เราถูกกระทำ ซึ่งจะได้รับค่าชดเชย ส่วนจำเลยในคดีอาญา ที่ศาลพิจารณาแล้วพ้นผิด ก็จะได้รับค่าตอบแทน และค่าใช้จ่ายต่างๆที่ถูกจองจำ ซึ่งจะเห็นว่า กฎหมายฉบับนี้  มีประโยชน์ต่อประชาชน เป็นอย่างมาก โดยที่ผ่านมา ตนก็พยายามสื่อสารบอกกับประชาชน ให้เข้ารับการเยียวยา ตามกฎหมายฉบับนี้ 

“ส.ส.ไม่ว่าพื้นที่ใด หากพบเหตุการณ์ที่ต้องได้รับการเยียวยา ก็สามารถแนะนำให้ผู้เสียหายเข้ารับการช่วยเหลือได้ ส่วนประชาชน ก็สามารถติดต่อกระทรวงยุติธรรม หรือ ยุติธรรมจังหวัดทั่วประเทศ เพราะแต่ละปี มีผู้เสียหายจำนวนมาก แต่ขอชดเชยจำนวนน้อย อย่าง ปี 2563 การขอเยียวยา 10,767 ราย ได้รับการเยียวยา 8,830 ราย ซึ่งจะเห็นว่า มีส่วนหนึ่งไม่ได้รับการเยียวยา โดยจะตรงกับคำถามที่ถูกตั้งกระทู้ ที่ต้องการให้ทุกคนได้รับสิทธิเยียวยา ซึ่งการแก้ไข ยืนยันว่า จะทำให้ทุกคนได้รับสิทธิเยียวยา” รมว.ยุติธรรม กล่าว  

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า แนวทางการแก้ไขกฎหมายนี้ ขณะนี้ กระทรวงยุติธรรม ได้ร่างกฎหมายตามแนวทางที่คณะกรรมาธิการฯ ได้เสนอความเห็นเป็นส่วนใหญ่ โดยร่างกฎหมาย ได้ผ่าน คณะรัฐมนตรีแล้ว และอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งสาระสำคัญมี 16 มาตรา จากเดิมมี 31 มาตรา โดยการแก้ไข เราพยายามให้ทุกคนได้รับสิทธิ ส่วนการขยายเวลายื่นคำขอรับการเยียวยานั้น ก็ได้มีการขยายจาก 1 ปี เป็น 2 ปีแล้ว ตามที่เสนอแนะมา โดยตนคิดว่า ถ้าคณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณาออกมาเร็ว ก็จะมาถึงสภาฯได้เร็ว และเชื่อมั่นว่า วิสัยทัศน์สภาผู้แทนราษฎร เรื่องที่เป็นประโยชน์กับประชาชน ก็จะร่วมแรงร่วมใจในการแก้ปัญหา ซึ่งตนขอชื่นชมการทำงานของสภาฯ

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า การปรับปรุงกฎหมาย พระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526 รัฐบาล ได้ส่งความต้องการปรับปรุงกฎหมาย เข้าสู่การพิจารณาของอัยการสูงสุด ซึ่งขั้นตอนอยู่ที่อัยการ แต่เราต้องยอมรับว่า การพิจารณาคดีขึ้นมาใหม่ เป็นเรื่องที่ยาก โดยตนสอบถามข้าราชการกระทรวงยุติธรรม ก็บอกเป็นเรื่องยาก เพราะต้องหาหลักฐานใหม่ ทำให้ที่ผ่านมา จึงยังไม่สามารถดำเนินการได้ ดังนั้น หากมีความคืบหน้า ตนจะนำมาแจ้งให้สภาผู้แทนราษฎร ทราบอีกครั้ง

แสดงความเห็น