รมว.ยธ. ขอบคุณกรรมการสงเคราะห์ทุ่มเทเสียสละ ช่วยเยาวชนเป็นคนดีกลับสู่สังคม 

รมว.ยุติธรรม ขอบคุณกรรมการสงเคราะห์ทุ่มเทเสียสละ ช่วยเด็กและเยาวชนเป็นคนดีกลับสู่สังคม เป็นกำลังสำคัญขับเคลื่อนภารกิจกระทรวง เตรียมนำเทคโนโลยีมาช่วยงาน หวังจับมือร่วมเดินกันต่อไป

ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น มีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินงานของกรรมการสงเคราะห์เด็กและเยาวชนสำหรับสถานพินิจประจำปี 2565 โดยมีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในการประชุม พร้อมด้วย ว่าที่ร.ต.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขานุการ รมว.ยุติธรรม น.ส.ณัฐธ์ภัสส์ ยงใจยุทธ ผู้ช่วย รมว.ยุติธรรม นายธนวัชร นิติกาญจนา ที่ปรึกษา รมว.ยุติธรรม นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ นางทัศนีย์ เปาอินทร์ อธิบดีกรมบังคับคดี นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการ ป.ป.ส.

โดยนายสมศักดิ์ ได้มอบโล่และประกาศเกียรติคุณกรรมการสงเคราะห์ดีเด่น 25 คน และปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ การบูรณาการเครือข่ายภาคประชาชน กับความสำเร็จในการขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงยุติธรรม ตอนหนึ่งว่า ตนขอชื่นชมในความมุ่งมั่นและความทุ่มเทเสียสละในการดูแลเด็กและเยาวชนที่กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ทั้งยังช่วยเหลือภารกิจของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการคืนคนดีสู่สังคม กรรมการสงเคราะห์เด็กและเยาวชน นับเป็นเครือข่ายความร่วมมือที่มีประวัติความเป็นมายาวนานกว่า 70 ปี โดยปรากฏครั้งแรกใน พ.ร.บ.พิจารณาคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ. 2494 และยังคงอยู่คู่กับสถานพินิจฯมาจนถึงปัจจุบัน โดยในเวลานี้กรรมการสงเคราะห์ทั่วประเทศมี 2,961 คน ซึ่งกรมพินิจฯได้สรรหาจากผู้ที่มีความหลากหลายทางวิชาชีพ เช่น ข้าราชการบำนาญ เจ้าของกิจการ นักธุรกิจ นักวิชาการ ปราชญ์ชุมชน ทุกคนมีความเข้มแข็ง ทุ่มเท เสียสละ ช่วยเหลือภารกิจของกรมพินิจฯโดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชนที่มีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เมื่อกระทำผิดก็ได้ช่วยเหลือในการประสานไกล่เกลี่ยทำความเข้าใจกับผู้เสียหาย จนเด็กและเยาวชนได้รับโอกาสในการแก้ไขตนเองโดยไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม  

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า เด็กและเยาวชนที่ถูกควบคุมตัวในสถานพินิจฯและศูนย์ฝึกและอบรมฯ ก็ได้กรรมการสงเคราะห์เข้ามาเยี่ยมเยียนให้กำลังใจ ให้คำแนะนำจัดอบรมหลักสูตรการฝึกอาชีพ การเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย ทั้งยังประสานส่งต่อและรับเข้าทำงาน และติดตามดูแลให้การช่วยเหลือต่อเนื่องหลังปล่อยตัว เพื่อให้เด็กและเยาวชนเหล่านี้มีอาชีพที่มั่นคง มีชีวิตที่ดี และไม่หวนกลับไปกระทำผิดซ้ำ หากเราดูสถิติการกระทำผิดซ้ำของเด็กและเยาวชนตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน พบว่าร้อยละ 80 ของการกระทำความผิดซ้ำเกิดขึ้นในคดียาเสพติด ตนให้ความสำคัญกับการปราบปรามยาเสพติด ทั้งการจับกุม ตัดวงจรผู้ค้ายาเสพติด โดยใช้มาตรการยึดทรัพย์เป็นเครื่องมือหลักและการพัฒนา บำบัด แก้ไขผู้เสพยาอย่างมีประสิทธิภาพ การลดปัญหาการกระทำผิดซ้ำในเด็กและเยาวชน เราต้องร่วมมือร่วมใจและภาคประชาสังคมต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการแจ้งเบาะแส เพื่อให้การปราบปรามมีความเข้มข้น ทำให้ในชุมชนของพวกท่านมียาเสพติดให้น้อยที่สุด 

“นอกจากนี้กระทรวงยุติธรรมยังให้ความสำคัญในการทำหน้าที่ของกรรมการสงเคราะห์ จึงมีการพัฒนานำเทคโนโลยีมาช่วยรวบรวมข้อมูลผลงานการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ เพื่อให้กรรมการทุกท่านสามารถบันทึกข้อมูลและตรวจสอบผลการดำเนินงานผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ โดยการบันทึกข้อมูลในระบบดังกล่าว จะนำไปสู่การพิจารณาคัดเลือกผลงานกรรมการสงเคราะห์ดีเด่น เพื่อตอบแทนท่านที่มีความตั้งใจและเสียสละในการทำงานเพื่อเด็กและเยาวชน ผมขอขอบคุณกรรมการสงเคราะห์เด็กและเยาวชนทุกท่าน ที่ได้ดูแล ช่วยเหลือเสียสละเวลาและทุ่มเทแรงกายแรงใจเพื่อเด็กและเยาวชน ผมเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่ากรรมการสงเคราะห์เด็กและเยาวชนทั่วประเทศทั้ง 2,961 คนนี้ จะเป็นกำลังในการขับเคลื่อนภารกิจของกระทรวงยุติธรรมในการคืนคนดีสู่สังคม และทำให้เป็นสังคมแห่งการให้โอกาส เป็นสังคมแห่งความเอื้อเฟื้อและสามัคคี และผมหวังว่าเราจะจับมือเดินไปด้วยกันแบบนี้ตลอดไป” นายสมศักดิ์ กล่าว

แสดงความเห็น