รมว.ยธ. สัมมนา ทิศทางโทษประหารชีวิต ชี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องถามความเห็นรอบด้าน

รมว.ยุติธรรมเปิดสัมมนา “ทิศทางโทษประหารชีวิตกับบริบทของสังคมไทย” นักวิชาการ-องค์กรร่วมงานเพียบ เผย ทิศทางทั่วโลกลดลง 144 ประเทศยกเลิกแล้ว ชี้ เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องถามความเห็นให้รอบคอบเพื่อนำไปประมวลผล

กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ จัดการการสัมมนา “ทิศทางโทษประหารชีวิตกับบริบทของสังคมไทย” ผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยมีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในงานสัมมนา พร้อมด้วย นายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆในกระทรวงยุติธรรม ศาล อัยการ ภาคเอกชนและภาคประชานร่วมกว่า 200 คน

นายเรืองศักดิ์ กล่าวรายงานว่า การสัมมนาครั้งนี้เพื่อเป็นการหารือถึงแนวทางโทษการประหารชีวิต โดยกรมคุ้มครองสิทธิมีหน้าที่หลักในการผลักดันสิทธิมนุษยชนต่างๆ ซึ่งการรณรงค์เปลี่ยนแปลงโทษประหารชีวิต เราต้องรับฟังเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนเป็นหลัก ที่ผ่านมาเราได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆ ศึกษาวิจัยโทษประหารชีวิต และการจัดกิจกรรมต่างๆเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจต่างๆ รวมทั้งจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ มุ่งสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงโทษประหารชีวิต บริบทของกระแสโลกและความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงโทษประหารชีวิตให้สอดคล้องกับริบาทของสังคมไทยต่อไป

นายสมศักดิ์ กล่าวเปิดการสัมมนาว่า ปัจจุบันแนวโน้มการใช้โทษประหารชีวิตของทั่วโลกลดลง 144 ประเทศได้ยุติโทษประหารชีวิตแล้ว สำหรับประเทศไทยยังเป็น 1 ใน 55 ประเทศที่ยังมีการใช้โทษประหารชีวิต ซึ่งเราถูกตั้งคำถามตลอดในเวทีนานาชาติถึงการยกเลิกโทษประหารชีวิต ปัจจุบันเราได้ดำเนินการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโทษประหารชีวิต และจัดเวทีต่างๆและเสนอความคืบหน้าแก่ คณะรัฐมนตรี(ครม.)เป็นระยะ ในการรับทราบรายงานสถานการณ์เกี่ยวกับการลงโทษและการประหารชีวิตในประเทศไทย รวมทั้งการปรับปรุงกฎหมายโทษประหาร ซึ่งการเปลี่ยนแปลงโทษประหารนั้นเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อน กระทบความรู้สึกประชาชนโดยรวม การสร้างความรู้ความเข้าใจจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ตนหวังว่าการสัมมนาจะเป็นประโยชน์ต่อทุกคน ข้อเสนอแนะต่างๆจะนำไปประมวลเพื่อกำหนดการเปลี่ยนแปลงโทษประหารของเราต่อไป

นายวิทิต มันตาภรณ์  อดีตผู้แทนพิเศษและผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ อภิปรายในหัวข้อ สิทธิมนุษยชนกับการใช้โทษประหารชีวิต ตอนหนึ่งว่า กระแสสากล 144 ประเทศยกเลิกโทษประหารชีวิตแล้ว ยังมีอีก 55 ประเทศที่ยังใช้โทษประหาร ซึ่งมีประเทศใหญ่อย่าง สหรัฐอเมริกา แต่เขาก็มีการปรับให้เข้ากับกระแสของโลกเช่นเดียวกัน ที่น่าจับตามองคือการแสดงออกของประเทศไทยในเวทีสากลจะเป็นอย่างไร กระทรวงที่เกี่ยวข้องจะกล้าพอหรือไม่ที่จะยกเลิก ซึ่งเรามีการแก้กฎหมายยกเลิกประหารชีวิตผู้อายุต่ำกว่า 18 ปีตามหลักสากล การลงโทษประหารอาจจะมีปัญหาเกี่ยวกับการส่งผู้ร้ายข้ามแดน บางประเทศอาจจะไม่ให้ความร่วมมือ และหากเราจะแก้ไขกฎหมายก็อย่าทำเงื่อนไขที่ไม่สวยงามเข้ามา ซึ่งต้องมีการศึกษาและรับฟังความเห็นอย่างละเอียด

นางปิยนุช โคตรสาร ผอ.แอมเนสตี อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ภาพรวมและแนวโน้มโทษประหารชีวิตในบริบทสากล กล่าวว่า ระบบยุติธรรมสมัยใหม่ต้องมีความแม่นยำเป็นธรรม ซึ่งกระทรวงยุติธรรม ซึ่งตนได้เห็นกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพมีการพูดคุยหารือถึงเรื่องนี้มาตลอด สำหรับการประหารชีวิตทั่วโลกในปี 2563 มีการประหารอย่างน้อย 483 คน ซึ่งเป็นตัวเลขต่ำที่สุด ที่แอมเนสตี้บันทึกได้อย่างน้อยในรอบทศวรรษ ลดลง 26% เมื่อเทียบกับปี 2562 ซึ่งมีจำนวน 657 ครั้ง และลดลงถึง 70 % จากจำนวนการประหารชีวิตสูงสุด 1,634 ครั้งในปี 2558 สำหรับแนวโน้มของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค ความลับในจีน เกาหลีเหนือและเวียดนาม ยังคงเป็นอุปสรรคต่อการประเมินข้อมูล อินเดียและไต้หวัน เริ่มประหารชีวิตบุคคลหลังงดเว้นไป 4 ปีและ 1 ปีตามลำดับ ญี่ปุ่น ปากีสถานและสิงคโปร์ ไม่มีรายงานการประหารชีวิตเลยเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี

นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีการเปิดวีดีโอการสอบถามถึง ทิศทางโทษประหารชีวิตกับบริบทของสังคมไทย จากประชาชน ซึ่งมีทั้งส่วนที่เห็นด้วยกับการยกเลิกโทษประหาร เพราะเห็นว่าควรพัฒนาทางด้านกฎหมาย การศึกษา เศรษฐกิจและสังคมเพื่อให้คนกระทำความผิดลดน้อยลง และอีกส่วนเห็นว่าควรคงโทษประหารไว้เพื่อให้คนกลัวการทำผิดและเป็นการลงโทษที่เหมาะสมกับความผิดที่ร้ายแรง

แสดงความเห็น