วุฒิสภา รับหลักการร่าง กม.คุ้มครองพยาน

ที่ประชุมวุฒิสภา ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภาเป็นประธานที่ประชุม ได้พิจารณารับหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองพยานในคดีอาญา (ฉบับที่..) พ.ศ… ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบแล้ว  ด้วยเสียง 192 ต่อ 2 และงดออกเสียง 7 เสียง  ทั้งนี้ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว เป็นร่างกฎหมายเกี่ยวด้วยการเงิน วุฒิสภาต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน

โดยนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ชี้แจง ว่า ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวได้ให้ความคุ้มครองและความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ทั้งนี้ตนพร้อมรับฟังความเห็นของส.ว. และพร้อมจะชี้แจง

สำหรับการอภิปรายก่อนรับหลักการ ส.ว. ส่วนใหญ่ ได้ท้วงติงต่อเนื้อหาขอ มาตรา 10 ว่าด้วยการคุ้มครองพยานมาตรการพิเศษ กรณีประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อสกุลและหลักฐานทางทะเบียนที่สามารถระบุตัวพยาน รวมทั้งการดำเนินการเพื่อกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามคำขอของพยาน  และมีข้อกำหนดให้เจ้าหน้าที่สำนักงานคุ้มครองพยาน ที่ได้รับอนุมติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมยื่นคำขอต่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาเพื่อให้มีคำสั่งต่อกรมการปกครองดำเนินการเปลี่ยนแปลง  โดยมีข้อกังวลว่าจะเป็นประเด็นที่สร้างผลกระทบทางทะเบียนราษฎร และทางเศรษฐกิจ อีกทั้งหากรรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมที่เป็นผู้อนุมัติกระทำมิชอบ อาจทำให้เกิดความเสียหายได้ อีกทั้งข้อกำหนดให้ผู้พิพากษาเป็นผู้ออกคำสั่ง อาจทำให้ผู้พิพากษาตัดสินหรือออกคำสั่งไปในทางที่ผิดได้ เพราะต้องเปลี่ยนหมายเลขประจำตัว 13 หลัก ว่าจะทำให้มีปัญหาในทางปฏิบัติต่อกรณีให้อำนาจอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงาน และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือ กฎหมายการทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 และกฎหมายบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 

ทั้งนี้ตัวแทนกฤษฎีกาชี้แจงต่อที่ประชุมระบุว่าตั้งแต่การบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองพยานในคดีอาญา 18 ปี มีการร้องขอเพียง 2 เคสเท่านั้น ส่วนเหตุผลที่ต้องบัญญัติมาตราดังกล่าว เพราะสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะพื้นที่ชายแดนภาคใต้ หรือ ในคดียาเสพติด พบว่ามีปัญหาที่มีความจำเป็นต่อการเปลี่ยนชื่อ-สกุล และหมายเลขประจำตัวประชาชน เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของพยาน รวมถึงเครือญาติ

แสดงความเห็น