“เศรษฐพงค์” แจงประโยชน์ 5G ต่อระบบสาธารณสุขไทย ยัน “Telemedicine” ช่วยแก้ปัญหารพ.แออัด ลดเหลื่อมล้ำ แนะ ลงทุนด้านความปลอดภัยไซเบอร์ เพื่อรักษาข้อมูลทางการแพทย์

พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสารโทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสัง หรือ กมธ.ดีอีเอส ให้สัมภาษณ์ว่าเมื่อวาน(12พ.ย.) ตนได้รับเชิญไปกล่าวในงาน Diner Dialogue เกี่ยวกับนวัตกรรมทางการแพทย์ จัดโดยสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ หรือ พรีม่า ซึ่งตนได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาการขาดแคลนแพทย์ของประเทศไทยที่มีมายาวนาน และขณะนี้รัฐบาลได้มีนโยบายนำ Telemedicine หรือการแพทย์ทางไกลผ่านระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเข้ามาแก้ปัญหา ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำของสังคม ผู้ป่วยสามารถเข้ารับการดูแลจากโรงพยาบาลใกล้บ้านได้ และในที่สุดจะสามารถดูแลโดยตรงถึงบ้านผู้ป่วย โดยแพทย์สามารถให้คำแนะนำผ่านวิดีโอแบบเรียลไทม์ และแม้แต่การขอใบสั่งยาจากแพทย์ได้และนำส่งยาถึงบ้านได้เลย ซึ่งปัญหาการขาดแคลนแพทย์ จะส่งผลให้มีจำนวนผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษาต้องใช้เวลารอนานหลายชั่วโมง และแพทย์เองก็อาจมีความเสี่ยงที่จะตัดสินใจผิดพลาด เนื่องจากความเหนื่อยล้า

พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าวต่อว่า ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุข ภายใต้การบริหารของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข จึงมีนโยบายเร่งด่วนในการดูแลสุขภาพของประชาชน โดยร่วมมือกับสํานักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ได้นำร่องในการใช้ Telemedicine เพื่อดูแลสุขภาพให้กับประชาชนในพื้นที่ชนบทและพื้นที่ชายขอบ ให้มีโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขได้อย่างเท่าเทียม โดยใช้ชื่อว่าโครงการเทเลเฮลธ์ (Telehealth) ซึ่งเป็นการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ห่างไกลและพื้นที่ชายขอบในระยะเวลา 3 ปี เริ่มต้นใน 9 จังหวัด ถือเป็นการเปิดมิติใหม่ของวงการแพทย์แห่งอนาคต และเป็นปัจจัยสําคัญที่จะช่วยผลักดันการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยในภาพรวม ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

นอกจากนี้ การพัฒนาการแพทย์สู่อนาคต ต้องมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัล 5G มาใช้ร่วมกับเทคโนโลยีการแพทย์ใหม่ๆ จะช่วยให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งผู้ป่วยและแพทย์อย่างเห็นได้ชัด จากการศึกษาของ Market Research Future ระบุว่า แนวคิดของรัฐบาลเกือบทุกประเทศทั่วโลก มองไปทิศทางเดียวกันคือการใช้ Telemedicine ในพื้นที่ชนบทมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการดูแลสุขภาพ แน่นอนว่า 5G ต้องใช้ร่วมกับอุปกรณ์หลายประเภท แต่ที่ใช้ได้อย่างแพร่หลายและสะดวกคือ การใช้เครือข่าย IoT (Internet of things) ที่สามารถติดตามอุปกรณ์ทางการแพทย์ได้ เช่น การวัดชีพจร อุปกรณ์วัดความดัน อุปกรณ์วัดวิเคราะห์ผลเลือด เป็นต้น จึงทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาและสามารถเข้าถึงผู้เชี่ยวชาญได้รวดเร็วขึ้น นอกจากนี้ทำให้แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สามารถทำการมอนิเตอร์ เพื่อตรวจสอบติดตามอาการผู้ป่วยและรวบรวมข้อมูลที่สามารถนำมาใช้เพื่อปรับปรุงการดูแลส่วนบุคคลและการป้องกันได้

พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าวต่อว่า จะเห็นได้ว่าการนำเทคโนโลยี 5G มาใช้ ทำให้การแพทย์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่สิ่งสำคัญคือเมื่อเทคโนโลยีมีการพัฒนาให้ก้าวหน้ามากขึ้น ก็ยิ่งต้องความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยไซเบอร์ด้วย โดยเฉพาะข้อมูลของคนไข้หรือผู้ป่วยที่ถือเป็นความลับ รวมถึงข้อมูลทางการแพทย์การรักษา การวิจัยตัวยา หรือแนวทางการรักษาใหม่ๆ ถือเป็นข้อมูลที่สำคัญต้องได้รับการเก็บรักษาไว้อย่างปลอดภัย ดังนั้นเมื่อเทคโนโลยีดิจิทัล 5G สามารถพัฒนาระบบสาธารณสุขของไทยให้เข้าถึงประชาชนทุกคนได้ เป็นการลดความเหลื่อมล้ำ ทัดเทียมนานาประเทศแล้ว จำเป็นต้องดำเนินการควบคู่กับความมั่นคงปลอดภัยด้วย แม้พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์จะมีผลบังคับใช้แล้ว แต่ก็มีความจำเป็นที่จะลงทุนในเรื่องอุปกรณ์เพื่อรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ด้วยเช่นกัน เพื่อให้ Telemedicine ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพมั่นคงปลอดภัย

แสดงความเห็น